เดินหน้ารณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ
ที่มาและภาพประกอบจาก : กรมควบคุมโรค
สสส. จับมือกรมควบคุมโรค หนุนภาคีเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ ย้ำนโยบายป้องกันนักสูบหน้าใหม่
จังหวัดอุดรธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี (สคร.8) ซึ่งให้ความสำคัญและมีการขับเคลื่อนงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ตระหนักถึงโทษภัยยาสูบ และการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เนื่องจากเป็นโจทย์ท้าทายที่ประเทศไทยต้องผลักดันให้จำนวนลดลง ตลอดจนการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ และมีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การควบคุมและแก้ปัญหาการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (กคส.) กรมควบคุมโรค มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยรับนโยบายจากคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ในการติดตาม ควบคุม ตลอดจนการสนับสนุนการทำงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบทั่วประเทศ ทั้งการจัดกิจกรรมสำคัญในการรณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ การพัฒนาเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมและป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการติดตาม และประเมินผลการดำเนินการจัดกิจกรรม ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค ทำให้ทราบถึงปัญหาข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมยาสูบที่มีความทับซ้อน จึงได้มอบภารกิจให้ กคส. กระตุ้นให้เกิดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของคนในพื้นที่ การให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่อย่างถูกต้อง ตลอดจนการกระตุ้นให้หน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำกิจกรรมรณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ด้วย
“การทำงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เนื่องจากบริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน อย่างเช่นในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สคร.8 อุดรธานี ซึ่งมีบทบาทเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมยาสูบของแต่ละพื้นที่มากระตุ้นให้เกิดการดำเนินงานในจังหวัดอื่นๆ เพื่อทำให้คนในพื้นที่มีความเข้าใจมากขึ้น” นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวย้ำ
ด้าน แพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี (สคร.8) กล่าวว่า สคร.8 มีหน้าที่ในการสนับสนุนองค์ความรู้ และมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับปัจจัยที่ทำให้การควบคุมยาสูบของพื้นที่ สคร.8 ประสบความสำเร็จนั้น ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.ความชัดเจนของนโยบาย 2.ความต่อเนื่องในการดำเนินงานควบคุม และ 3.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลความสำเร็จในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของแต่ละพื้นที่
นางนิพาภรณ์ กองทอง นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวในการประชุมนิเทศติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานควบคุมยาสูบระดับเขตและพื้นที่ ในเขตพื้นที่ สคร.8 ว่า สสจ.อุดรธานี ได้ดำเนินมาตรการควบคุมยาสูบ 5 มาตรการอย่างต่อเนื่อง คือ การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบระดับจังหวัด การบังคับใช้กฎหมายและการทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ สนับสนุนการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่ การช่วยให้ผู้สูบเลิกสูบ และการพัฒนามาตรการชุมชนเพื่อควบคุมยาสูบ
มาตรการที่ 1 การขับเคลื่อนกลไกลการดำเนินงานควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด พร้อมเตรียมประชุมในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินนการแต่งตั้ง
มาตรการที่ 2 การบังคับใช้กฎหมาย และสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ออกตรวจเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย พร้อมประชุมเชิงปฎิบัติการร้านอาหาร/สถานประกอบการ/ร้านอาหาร ในการดำเนินงานควบคุมยาสูบต้นแบบ ประชุมชี้แจงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน อปท. อบต. และ อสม. ตลอดจนประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ในระดับจังหวัด/อำเภอ
มาตรการที่ 3 การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ มีการออกให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 และอยู่ระหว่างดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ โดยมีแผนที่จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ในช่วงเดือน ตุลาคม 2565 และประเมินรับรองโรงเรียนปลอดบุหรี่ต่อไป
มาตรการที่ 4 การบำบัดรักษา/การช่วยเลิกสูบ จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานแนวทางการบำบัดผู้ติดบุหรี่ในสถานบริการ ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล /รพ.สต./ สสอ.การบำบัดบุหรี่ ประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการบันทึกข้อมูลการคัดกรองและการบำบัดผู้ติดบุหรี่ในระบบโปรแกรมHCIS/Hos-xp พร้อมติดตามการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานบริการ
มาตรการที่ 5 สร้างมาตรการทำให้ชุมชนปลอดบุหรี่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ รพ.สต. อปท. อบต. ในการพัฒนาชุมชนปลอดบุหรี่และสุรา โดยบูรณาการงานกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเริ่มดำเนินงานในพื้นที่นำร่องแล้ว
ขณะที่ ครูคมสันต์ อาศัย ครูที่ปรึกษาชมรมทูบีนัมเบอร์วัน โรงเรียนหนองวัวซอพิทยาคม ตำบลโนนหวาย อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า สถานการณ์การติดบุหรี่ของเด็กในโรงเรียน พบว่า มีเด็กนักเรียนที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา แต่สามารถเลิกได้ก่อนเข้ามาเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวนมาก แต่หลังจากเมื่อเข้ามาศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้พบเพื่อนใหม่ต่างโรงเรียน จึงทำให้เด็กกลับมาสูบอีกครั้ง ส่วนนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่ามีพฤติกรรมการติดบุหรี่คล้ายกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเมื่อพบเพื่อนใหม่ต่างโรงเรียน จึงทำให้ชักชวนกันสูบบุหรี่มากขึ้น
สำหรับการดูแล ป้องกัน และควบคุมนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ และพยายามให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมตามความถนัดของแต่ละบุคคล โดยทางโรงเรียนได้เข้าไปพูดคุยให้เห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งนักเรียนบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเลิกเกือบ 3 ปี เนื่องจากมีกำแพงของตนเองที่สูงในการเปิดรับข้อมูล จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการเลิกพอสมควร
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คือ บุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังแพร่ระบาดในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะมีช่องทางการจำหน่าย และตัวอย่างการสูบที่แพร่หลายในอินเทอร์เน็ต จึงทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
“การเริ่มสูบบุหรี่เป็นประตูด่านแรกของการติดยาเสพติดชนิดอื่น ๆ หากเราสามารถทำให้นักเรียนเลิกได้ทั้งหมด ก็จะเป็นผลดีกับตัวผู้สูบ” ครูคมสันต์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายวีรวุฒิ สว่างพบ นักเรียนต้นแบบเลิกบุหรี่ กล่าวว่า ตนเองเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 12 ปี จนปัจจุบันอายุ 17 ปี สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว 3 ปี ซึ่งเหตุผลในการตัดสินใจเลิกบุหรี่ คือ ตนเองใฝ่ฝันอยากเป็นครู จึงได้เริ่มเลิกบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยสูบวันละ 1 ซอง ลดลงเหลือเพียง 3-1 มวน ต่อวัน และด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง ทำให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จึงสามารถเลิกสูบได้อย่างถาวร
หลังจากที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ได้มีโอกาสชักชวนรุ่นน้องให้เลิกบุหรี่่ โดยพยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่า อยู่กับเราแล้วปลอดภัย กล้าพูดปัญหาที่เกิดขึ้น และพาออกมาจากบุหรี่ โดยใช้วิธีการสูบน้อยลงเรื่อย ๆ พาไปทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมพัฒนาวัดในพื้นที่ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้ไปหยิบบุหรี่มาสูบ ซึ่งเพิ่มโอกาสเลิกบุหรี่ให้สำเร็จได้มากขึ้น
“การที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับการช่วยนักเรียนค้นหาความฝัน ควบคู่กับการช่วยเลิกบุหรี่และยาเสพติด มีส่วนช่วยทำให้นักเรียนรู้สึกอยากเลิกมากขึ้น เพราะเด็กบางคนยังไม่สามารถค้นพบความฝันของตนเอง จึงต้องพึ่งพาบุหรี่และยาเสพติด ซึ่งหากยังสูบหรือเสพอยู่ ก็อาจจะไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้” นายวีรวุฒิ กล่าวทิ้งทาย