เดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อ

ที่มา: เดลินิวส์


เดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อ thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคติดต่อนำโดยแมลง (Vector borne disease) คือ โรคที่มีแมลงเป็นพาหะ ซึ่งแมลงสามารถเป็นสาเหตุของโรคได้


          เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนา ยิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว ภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อนำโดยแมลง ประจำปี 2561" ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ (พ.ศ.2560-2579) และได้ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับโรคติดต่อนำโดยแมลงไว้ ภายในปี 2564 ต้องไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย ร้อยละ 95 ของอำเภอ/เขต และอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของค่ามาตรฐานปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เน้นใน 3 ประเด็นโรคด้วยกัน ประเด็นแรกคือ "โรคเท้าช้าง" ประเทศไทยได้ใช้มาตรการการเฝ้าระวัง การให้ยาป้องกันและรักษาโรคในวงกว้าง ในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการดูแลประชากร ในเขตชายแดนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ หรือสถานะ ทำให้ประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคเท้าช้างในที่สุด โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก จนสามารถประกาศความสำเร็จในการกำจัดโรคเท้าช้างได้แล้ว


          ประเด็นที่สองคือ "โรคไข้มาลาเรีย" ซึ่งปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการกำจัดเช่นเดียวกัน จากข้อมูลปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยมาลาเรีย 13,971 ราย ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 20 และใน ปี 2561 มีเป้าหมายให้อำเภอปลอด การแพร่เชื้อมาลาเรีย 743 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 80 ของอำเภอทั้งหมด ขณะนี้มีอำเภอที่เข้าเกณฑ์การประเมินแล้ว 713 อำเภอ เหลืออีก 30 อำเภอ ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้


          นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่าประเด็นที่สามคือ "โรคไข้เลือดออก"  จากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน(1 ม.ค.-4 ธ.ค. 60)พบผู้ป่วยกว่า 48,896 ราย เสียชีวิต 59 ราย  จึงจำเป็นต้องเร่งจัดการไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ในปี 2561 นี้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบตั้งคณะกรรมการสุขภาพใช้แนวทางประชารัฐ มุ่งเน้นการทำงานแบบเข้มข้นเชิงรุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดโรคและลดผล กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วนภายใต้ระบบคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) อาศัยทีมงานทั้งในส่วนกลาง เขต ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชน ร่วมกันเป็นเครือข่ายงานภาคีที่สามารถร่วมกันวิเคราะห์เหตุปัจจัยของปัญหาสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทาง รูปแบบ วิธีการ เครื่องมือ และพัฒนาสมรรถนะของทีมงานในพื้นที่นั้น ๆ


          นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อนำโดยแมลง ประจำปี 2561 จัดขึ้นเพื่อให้เครือข่ายฯได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ร่วมอภิปราย บรรยาย และการแสดงนิทรรศการ มีผู้เข้าร่วมประชุม 350 คน  ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อนำโดยแมลง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข และ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณความดีแก่งานโรคติดต่อนำโดยแมลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในประเทศ ไทย ดังนี้ 1.รางวัลเกียรติคุณ "สุรินทร์ พินิจพงศ์" ผู้มีคุณูปการต่อการกำจัดโรคมาลาเรีย ในประเทศไทย ได้แก่ แพทย์หญิงกรองทอง ทิมาสาร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมาลาเรีย และ 2.รางวัลเกียรติคุณ "มูลนิธิเอื้ออาทร" ผู้มีคุณูปการต่อการกำจัดโรคเท้าช้างในประเทศ ไทย ได้แก่ นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 12 สงขลา


          ด้าน นางภัทรัศมีนันท์ วิเชียรวรรณ ประธาน อสม.ชุมชนบ้านท่าแดง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หนึ่งในเครือข่ายโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกระดับให้เป็น "ชุมชนต้นแบบปลอดโรคไข้เลือดออก" เล่าว่า แต่เดิมชุมชนบ้านท่าแดง เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออก การพลิกฟื้นจากพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาดของโรค สู่ชุมชนต้นแบบปลอดโรคไข้เลือดออกของชุมชนบ้านท่าแดง เริ่มต้นจากการหาความร่วมมือและเชิญชวนภาคีเครือข่ายสุขภาพ วางแผนหาข้อมูล กำหนดเป้าหมายลดโรคในพื้นที่อย่างจริงจัง ระดมความคิด รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก สร้างและดำเนินงานเครือข่ายสุขภาพ จัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดต้นเหตุของ การเกิดโรคไข้เลือดออก ให้คำแนะนำการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค จัดกิจกรรมพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก จนถึงการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง เน้นการมีส่วนร่วมของแกนนำสุขภาพชุมชน ใช้วิธีการจำกัดยุงพาหะนำโรคแบบผสมผสาน ทำการสำรวจความชุกของลูกน้ำยุงลายในชุมชน เพื่อประเมินหาค่าดัชนีของลูกน้ำยุงลายและสร้างระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมความชุกชุมของลูกน้ำยุงลาย ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถตัดวงจรการเกิดของลูกน้ำ ยุงลายในครัวเรือนในภาชนะรอบ ๆ บริเวณบ้านและชุมชน ทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนลดลง และ จากข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกใน เขตเทศบาลฯ จำนวน 50 ราย และค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันในปี 2560 พบผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 1 ราย และยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคนี้.

Shares:
QR Code :
QR Code