เดินหน้าพัฒนาอาสาสมัคร
จากแนวคิดที่ว่า ความสุขจากการให้ ย่อมอิ่มเอิบใจมากกว่าการรับ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครของมูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2548 โดยร่วมกับ พระไพศาล วิสาโล ที่อยากให้คนรู้จักทำบุญโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งการทำบุญนั้นมีหลายรูปแบบ บางคนอาจจะทำบุญด้วยทรัพย์ ขณะที่บางคนอาจจะทำบุญด้วยการใช้แรงงานไปเป็นอาสาสมัคร ซึ่งก็จะได้รับผลบุญเช่นกัน นั่นคือความสุขใจความสบายใจกับการให้
ในส่วนของมูลนิธิสุขภาพไทย ได้จับมือกับสถานสงเคราะห์เด็กของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการพาอาสาสมัครไปดูแลเด็ก ไปโอบกอด ไปนวดให้น้องๆ ซึ่งสถานการณ์ของสถานสงเคราะห์ในตอนนี้ ทางด้านกายภาพไม่มีปัญหา แต่ยังขาดพี่เลี้ยง เพราะมีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด ดังนั้นอาสาสมัครจึงสามารถเข้าไปช่วยเสริมในจุดนี้ได้และเพื่อให้อาสาสมัครที่เข้ามาทำงานกับมูลนิธิสุขภาพไทยมีกำลังใจ มีทัศนคติ และมุมมองด้านการทำงานอาสาสมัครมากขึ้น มูลนิธิฯ จึงพาอาสาสมัครจำนวน 25 คน ไปดูงานที่โรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
“ที่เลือกมาศึกษาดูงานที่โรงเรียนฉือจี้ เพราะเป็นองค์กรด้านศาสนาพุทธ นิกายมหายาน จากไต้หวัน ที่มีหลักคิดด้านการทำงานอาสาสมัคร และจริยธรรม เพราะเขาไปช่วยผู้ประสบภัยหลายๆ แห่งทั่วโลก และเพื่อเป็นการให้กำลังใจอาสา ตลอดจนเปิดพื้นที่ของการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองเพิ่มขึ้น” วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าว
สำหรับอาสาสมัครที่มาร่วมงานกับมูลนิธินั้นมาจากทุกกลุ่มอายุ หลากหลายอาชีพ โดยมีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ไปจนถึงข้าราชการเกษียณอายุ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิงมากกว่าชาย โดยขณะนี้มีอาสาสมัครทั้งแบบระยะสั้น คือเข้ามาทำงาน 3-4 เดือนต่อครั้ง หรือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวนกว่า 1,000 คน และอาสาสมัครที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิ เรียกว่าอาสาสมัครแบบระยะยาว มีประมาณ 100 คน
น.ส.อารีรัตน์ นิลประเสริฐ อายุ 42 ปี พนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เธอเข้ามาเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิสุขภาพไทย เนื่องจากตอนแรกตามเพื่อนไป แล้วได้ยินคำพูดที่ว่า เราจะไปให้ความรักกับเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์ แต่สุดท้ายเรากลับได้ความรักกลับมาเต็มหัวใจ ตั้งแต่นั้นมาจึงลองเข้าไปทำงานดูแล้วก็พบว่ามันเป็นความจริง โดยเฉพาะในช่วงที่เรากำลังมีปัญหากับงาน หรือชีวิต บางทีเราเครียดจนปวดหัว แต่เมื่อเราได้ไปดูแลน้อง นวดให้น้อง เราก็หายปวดหัวไปโดยไม่รู้ตัว
“ก็จะไปเลี้ยงน้อง ล้างขวดนมให้น้อง ที่สถานสงเคราะห์บ้านปากเกร็ด ทุกวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ หรือไม่ก็ไปทั้ง 2 วันเลยค่ะ พอดีตัวเองสถานภาพโสด ยังไม่มีครอบครัว ก็เลยสามารถทำงานอาสาสมัครตรงนี้ได้อย่างเต็มที่ และรู้สึกมีความสุขมาก เวลาที่เราไปหาน้องๆ พอไปถึงเขาก็จะร้องบอกว่า พี่อารีมาแล้ว ด้วยความดีใจ จึงทำให้เรารู้สึกว่าเราจะต้องไปหาเขา ไม่ทิ้งเขา ถ้าเรารู้ว่าอาทิตย์ไหนติดงาน หรือมีภารกิจอื่น ก็จะไปชดเชย 2 วัน ทั้งเสาร์และอาทิตย์” พี่อารีของน้องๆ กล่าว
นายณัฐวัฒน์ พรหมสถิต หรือดิว ชายหนุ่มวัย 25 ปี พนักงานฝ่ายพัสดุ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เขาชอบทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ที่โรงเรียนชลประทานฯ จ.นนทบุรี ซึ่งมักจะได้มาช่วยดูแลน้องๆ ในสถานสงเคราะห์ที่อยู่ใกล้โรงเรียนมาอย่างสม่ำเสมอ โดยช่วยกันทำกิจกรรมเพื่อน้องๆ โดยการรวบรวมเงินกันไปทำบุญที่บ้านเด็กๆ หลายๆ แห่ง
พอจบชั้น ม.6 สอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ยังไม่ทิ้งกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ โดยไปทำกิจกรรมในโรงเรียนสอนคนตาบอด จนกระทั่งเรียนจบ แล้วทำงาน ก็ยังชอบทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งโครงการของมูลนิธิสุขภาพไทย ได้เน้นการดูแลเด็กๆ ซึ่งแม้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย แต่ได้ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับน้องๆ ในสถานสงเคราะห์มาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสนใจและตั้งใจที่จะทำงานด้านนี้ต่อไปอย่างมีความสุข ณัฐวัฒน์ กล่าวและว่า
ส่วนการมาดูงานที่โรงเรียนฉือจี้ครั้งนี้ พบว่า เป็นโรงเรียนที่สอนด้านคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมให้นักเรียนและครูออกไปเป็นอาสาสมัคร ควบคู่ไปกับวิชาการตามมาตรฐาน ซึ่งหาได้ยากในยุคนี้ ซึ่งตนจะนำแนวคิดดีๆ ของที่นี่ไปปรับใช้กับการทำงานอาสาสมัครต่อไป
นางนนทภัทร ประวีณชัยกุล ผอ.โรงเรียนฉือจี้ กล่าวว่า โรงเรียนก่อตั้งในปี 2548 โดยครูรุ่นแรกจะต้องไปอบรมที่ไต้หวัน เป็นเวลา 6 เดือน ในสภาพแวดล้อมของฉือจี้ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การใช้ชีวิตต่างๆ การวางตน รวมทั้งภาษาด้วย โดย ผอ.ของโรงเรียนนี้จะต้องทำทุกอย่างได้เช่นเดียวกับครูและนักเรียนทุกคน เช่น การปูพื้นอิฐ ปลูกหญ้า ทำความสะอาด
“ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กนักเรียนได้ และต้องเข้าใจให้ดีก่อนที่จะสอนนักเรียน โดยเฉพาะในแนวทางของฉือจี้ ที่มีแบบแผนเฉพาะตัว ซึ่งเราจะต้องเชื่อในสิ่งที่เราทำ และทำในสิ่งที่เราเชื่อ” ผอ.โรงเรียนฉือจี้ กล่าว
วิถีชีวิตของนักเรียน 1 วันในฉือจี้นั้นจะมีรูปแบบเฉพาะตัว ตั้งแต่การเดิน การกิน การปฏิบัติตนเอง การเรียนรู้การเป็นผู้นำและผู้ตาม ซึ่งผู้มาเยือนจะสามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปเมื่อย่างก้าวเข้าสู่โรงเรียนฉือจี้แห่งนี้ กระทั่งมีหลายคนที่มาดูงาน หรือรับรู้แนวทางของโรงเรียน ก็จะต้องพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าจะมีโรงเรียนแบบนี้ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่บ้าง หรือไม่ก็น่าจะมีโรงเรียนฉือจี้ไปทั่วประเทศไทย จังหวัดละ 1 แห่ง เพราะแนวคิดขององค์กรฉือจี้ ที่ทำงานอาสาสมัครไปทั่วโลก ทั้งด้านการแพทย์และการศึกษาที่เน้นคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่กับวิชาการ นับเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับการทำงานอาสาสมัครขององค์กรต่างๆ ด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง