เดินหน้าปฏิรูปการเรียนรู้มุ่งสู่สมัชชาการศึกษา

เดินหน้าปฏิรูปการเรียนรู้มุ่งสู่สมัชชาการศึกษา thaihealth


จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเวทีระดมความคิดเห็นกำหนด “ยุทธศาสตร์การศึกษา” มุ่งสู่การขับเคลื่อน “สมัชชาการศึกษาจังหวัด” ผสานความร่วมมือทุกองคาพยพรวมพลังปฏิรูปการศึกษาของจังหวัด พร้อมเปิดตัวหลักสูตร “พุทธทาสศึกษา” เพื่อปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชน ตั้งเป้าสร้าง “คนดี ศรีสุราษฎร์”


จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 14 จังหวัดที่ทำงานร่วมกับ สสค. ในการ “ปฏิรูปการศึกษา” ด้วยการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดเพื่อร่วมกับปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่เป็นฐานการทำงาน ภายใต้ “โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” (Area-Based Education) ทั้งนี้เนื่องจากสภาพปัญหาของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่าง การบริหารการศึกษาที่มีประสิทธิภาพจึงควร “ตอบโจทย์” ตามบริบทของพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ร่วมคิดและร่วมกำหนดทิศทางความต้องการในการจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนได้เอง


โดยคณะทำงานของจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานระยะแรกมาแล้วใน 4ด้านคือ 1) การพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการศึกษา 2) การพัฒนาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ 3) การจัดทำหลักสูตรพุทธทาสศึกษา เพื่อบรรจุในสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดสุราษฏร์ธานีระดับชั้น ป.1-ป.6 และ 4) การพัฒนากลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพครูเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยมุ่งหวังให้เกิดผลการดำเนินงานที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือปฏิรูปการศึกษาร่วมกันของคนทั้งจังหวัด ด้วยเหตุนี้ เวทีระดมความคิด “ยุทธศาสตร์การศึกษา: คนดี ศรีสุราษฏร์” สู่การขับเคลื่อน “สมัชชาการศึกษาจังหวัด” จึงเกิดขึ้นเพื่อรวมพลังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางเป้าหมาย และขยายผลไปสู่กระบวนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งจังหวัดในปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของลูกหลานคนสุราษฏร์ธานี


นายวงศศิริ พรหมชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าวันนี้เป็นเวทีที่ทุกองคาพยพของจังหวัดทั้งด้านการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะมาร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนดทิศทางของการศึกษาให้กับเดินหน้าปฏิรูปการเรียนรู้มุ่งสู่สมัชชาการศึกษา thaihealthตัวเอง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การศึกษาซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่ผลลัพธ์และเป้าหมายในการทำงานเดียวกันของทุกภาคส่วน โดยมองที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ไม่ได้มองว่าอยู่ภายใต้สังกัดหรือหน่วยงานใด แต่ยึดผลประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง 


“เวทีในวันนี้เป็นการเดินหน้าเพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมกัน เพราะจังหวัดสุราษฎร์ฯ ของเรามีของดีในเมืองอยู่แล้ว แต่เราจะใช้องคาพยพร่วมกันอย่างไรในการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุตรหลานของเรา ให้เป็นต้นแบบที่ดีที่จะได้เป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าได้อย่างภาคภูมิตามคำขวัญของเราคือคนดี ศรีสุราษฏร์ และยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยกันในการก้าวไปสู่การเป็นสมัชชาการศึกษาจังหวัดเพื่อให้เกิดการดำเนินงานต่างๆ ที่ยั่งยืน โดยสิ่งที่คณะทำงานของจังหวัดสุราษฏร์ธานีที่ได้เริ่มต้นมาทั้งหมดนั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งในกิจกรรมใหญ่ที่เราจะขยายผลต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลด้านการศึกษาหรือฐานข้อมูลเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ที่จะต้องรวบรวมเป็นฐานข้อมูลเดียวกันของจังหวัดทั้งหมด ซึ่งเราได้นำร่องดำเนินการมาแล้วบางส่วน นอกจากนี้เรายังมีต้นทุนด้านการศึกษาที่ดีที่สุด ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวสุราษฎร์ธานีที่มีบุคลากรด้านการศึกษาได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดที่มอบให้กับครู รวมไปถึงหลักสูตรพุทธทาสศึกษา ซึ่งจะเกิดผลดีอย่างยิ่งถ้าเราสามารถแทรกเรื่องเหล่านี้เข้าไปในสถานศึกษาต่างๆ ก็จะทำให้เด็กได้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำหลักคิดที่ท่านพุทธทาสสอนไว้มาปรับใช้ในการการดำรงชีวิตได้ ซึ่งหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือผู้บริหารสถานศึกษาที่จะต้องเป็นมืออาชีพ เพื่อที่จะทำให้สถานศึกษาต่างๆ มีคุณภาพตามนโยบายของส่วนกลาง ในขณะเดียวกันต้องตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของจังหวัดได้”


นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าหัวใจของการศึกษาจริงๆ แล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีเรื่องสุขภาวะในด้านอื่นๆ ประกอบไปด้วยกัน ดังนั้นการทำงานด้านการศึกษาจึงต้องมีหลายหน่วยงานมาช่วยกันทั้งภาคเอกชน หอการค้า มหาวิทยาลัย สาธารณสุข ฯลฯ 


“วันนี้เราจะปล่อยให้กระทรวงศึกษาทำงานด้านการศึกษาโดดเดี่ยวเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้อีกต่อไป ทุกภาคส่วนจะต้องมีการคุยกัน ทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยสมัชชาการศึกษาจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อชวนคิดชวนคุยกันเพื่อแก้ปัญหาลูกหลานของเรา โดยทาง อบจ.สุราษฎร์ธานียินดีเป็นฝ่ายประสานงาน โดยทุกภาคส่วนที่มาในวันนี้ต่างก็มีความเข้าใจที่ตรงกันคือ ทุกภาคส่วนด้านการศึกษาไม่ได้ติดยึดในเรื่องของต้นสังกัดหรือแนวนโยบายจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปิดกว้างให้พวกเราได้มีโอกาสได้ร่วมคิดร่วมทำ ตรงนี้คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้นในจังหวัด เกิดประโยชน์และผลดีต่อลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต”


ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในเรื่องของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มานานแล้ว แต่เนื่องจากโครงสร้างการบริหารราชการ ที่แต่ละหน่วยงานก็มีต้นสังกัดเป็นของตัวเอง ต่างคนก็ต่างทำจึงไม่ประสบผลสำเร็จ


“แต่พอมาเห็นโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ หรือ ABE ของ สสค. ก็มีความหวังขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง จากการติดตามและร่วมประชุมในหลายๆ ครั้งพบว่าปัจจัยสำคัญก็คือ การดำเนินงานต่างๆ จะต้องเกิดจากความตระหนักของเขาที่มารวมตัวกันแล้วหยิบยกเอาปัญหาในพื้นที่ของเขาเป็นตัวตั้ง ทีนี้เมื่อเอาตัวเด็กเป็นตัวตั้งแล้วกำแพงอย่างอื่นมันก็จะถูกทลายไปหมด ทุกคนมุ่งที่จะพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก หลังจากนั้นก็จะต้องแสวงหาแนวร่วมเป็นเครือข่ายซึ่งก็คือคนทุกคน ก็ไปสอดคล้องกับ All for Education ก็คือทุกคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และสิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือรูปแบบที่แต่ละพื้นที่คิดขึ้นมา ที่จะมีหลากหลาย ยืดหยุ่น สอดคล้องไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ ที่ส่วนกลางหรือต้นสังกัดต้องยอมรับในความแตกต่าง โดยส่วนกลางอย่าไปยุ่งกับเขามาก ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ จะต้องเป็นเรื่องของพื้นที่ ต้องปล่อยให้เขาคิดเองทำเอง โดยส่วนเดินหน้าปฏิรูปการเรียนรู้มุ่งสู่สมัชชาการศึกษา thaihealthกลางต้องมีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริม”


ดร.สุมาลัย กาลวิบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี ตัวแทนคณะผู้พัฒนา “หลักสูตรพุทธทาสศึกษา” กล่าวว่า ถ้าพูดถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีคนจะต้องนึกถึงท่านพุทธทาส และถ้าเราต้องการสร้างคนดีอย่างคำขวัญของจังหวัด เราก็ต้องสร้างคนดีตามแบบของท่านพุทธทาส จึงเป็นที่มาของหลักสูตรพุทธทาสศึกษา โดยโจทย์ที่เราได้มาคือคำว่าการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเด็กในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทีนี้คุณธรรมจริยธรรมก็เป็นคำๆ เดียวกับคำว่าศีลธรรม ก็คือหลักของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และสิ่งที่เราสอนในหลักสูตรไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็นคำสอนในลักษณะของความเป็นสากล เป็นลักษณะร่วมกันของในแต่ละศาสนา ดังนั้นไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรเมื่อเรียนพุทธทาสศึกษาเขาก็สามารถทำความเข้าใจในศาสนาของตนเองได้ชัดเจนขึ้น


“ท่านพุทธทาสอธิบายว่า ศีลธรรมเป็นวิถีชีวิตไม่ใช่เรื่องของศีลหรือข้อห้ามแต่เพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องของการกินข้าว การกวาดบ้าน การเดิน การทำหน้าที่ทุกๆ นาที ถ้าทำให้ชีวิตเป็นปกติไม่มีปัญหา ท่านเรียกว่านั่นคือการทำหน้าที่ทางศีลธรรมซึ่งดูแล้วใกล้ตัว และเรื่องศีลธรรมกับการศึกษาซึ่งท่านพุทธทาสพูดไว้มากว่า การศึกษามีปัญหาเพราะแยกออกจากศีลธรรม ทำให้มีแต่ความรู้ในการเอาเปรียบคนอื่น และความรู้ที่มีอยู่ถ้ามันแยกออกจากศีลธรรมและศาสนามันก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้ ปฏิรูปอะไรไม่ได้ โดยเนื้อหาของหลักสูตรพุทธทาสศึกษาจะเอาไปปรับและบูรณาการให้เข้ากับ 8 กลุ่มสาระที่มีอยู่ และนำร่องทดลองใช้ใน 10 โรงเรียนในช่วงที่มีการลดเวลาสอน เพราะศีลธรรมเป็นเรื่องของสภาพจริง ไม่ใช่เรื่องสมมุติ หมายความว่าเราจะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากสภาพจริงๆ เพราะศีลธรรมต้องทำจริง ท่องอย่างเดียวทำไม่ได้ ดังนั้นวิชานี้จึงไม่ใช่การสอน ไม่ใช่การท่องจำ แต่อยากให้เด็กได้เอาไปใช้ เอาไปคิด โดยเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เรียนรู้จากสภาพสังคม”  


ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจและบทบาทการจัดการศึกษาลงไปให้กับท้องถิ่น รวมไปถึงมีแนวคิดในการปรับงบประมาณเชิงพื้นที่ลงมาให้เกิดการบริหารจัดการการศึกษาในระดับจังหวัด แต่การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะสำเร็จได้ก็ด้วยการบูรณาการทั้งคนและงบประมาณ และต้องมีโจทย์ของจังหวัดร่วมกันเพื่อปรับจูนการทำงานให้เป็นแนวเดียวกัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องชวนให้หลายฝ่ายได้มาพูดคุยกัน เพื่อให้มีข้อมูล มีแผนปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นธงและเป็นโจทย์การทำงานร่วมกันต่อไป


“สิ่งที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องเกิดขึ้นมาจากด้านล่าง คือเกิดขึ้นจากสิ่งที่ทุกคนจากทุกจังหวัดกำลังดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ โดยต้องทำในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อที่เราจะได้ของใหม่ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดก็เริ่มมีงานที่เห็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาไทยก็คือเด็กไทยและสังคมไทยถูกมายาคติครอบงำในเรื่องการการเรียนรู้ ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่การศึกษาที่ดีจะต้องนำไปสู่การความหลากหลายในการเรียนรู้ และเกิดเด็กที่เก่งหลายๆ แบบ ซึ่งนับจากนี้พลังในทุกๆ การทำงาน ในทุกๆ เรื่องไม่เฉพาะเรื่องของการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะต้องเกิดขึ้นมาจากท้องถิ่น โดยรัฐส่วนกลางเพียงแค่อำนวยความสะดวกด้วยการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำงานของท้องถิ่นเท่านั้น” 


การรวมพลังเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาที่จะก้าวไปพร้อมกับการพัฒนาพลังจากทุกองคาพยพในจังหวัดให้กลายเป็น “สมัชการการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี” อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการสร้างและพัฒนาคนดีศรีสุราษฎร์ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน


 


 


ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

Shares:
QR Code :
QR Code