เดินลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงไข้ฉี่หนู
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมควบคุมโรค” เตือนประชาชนในทุกพื้นที่ ในช่วงหน้าฝนนี้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนในที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาด ป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง เพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู หลังปีนี้พบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย เสียชีวิต 26 ราย
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ อาจเกิดน้ำท่วมขังและมีพื้นที่ชื้นแฉะในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคที่มากับฤดูฝน โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนู สำหรับสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 กรกฎาคม 2560 มีรายงาน ผู้ป่วย 1,083 ราย เสียชีวิต 26 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง และพังงา
เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 ของผู้เสียชีวิตทั้งประเทศ นอกจากนี้จากข้อมูล 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าในช่วงหน้าฝนจนถึงปลายปี จะมีผู้ป่วยสูงขึ้นประมาณ 2-3 เท่า (เดือนละ 200-300 ราย) จากช่วงต้นปีถึงก่อนเข้าฤดูฝนที่จะพบผู้ป่วยเพียงเดือนละประมาณ 100 กว่าราย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า เชื้อโรคของโรคไข้ฉี่หนู อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังหรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่มีหนูอาศัยอยู่ชุกชุม เช่น ตลาด คันนา สวน อาการของโรคไข้ฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น
หากมีอาการที่กล่าวมา ร่วมกับมีประวัติหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสน้ำ เช่นน้ำขัง บ่อน้ำขัง พื้นที่ชื้นแฉะหรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนการขับถ่ายของสัตว์ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้ 1.ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้า บู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง 2.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 3.หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล
4.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน และ 5.กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด ปกปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิดโดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422