เช็กระยะความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ต้อนรับปีใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ห่วง "7 วันอันตราย" ถูกกำหนดเพื่อวางมาตรการคุมเข้มใน ทุก ๆ ปี เช่นเดียวกับปีใหม่นี้ที่ระบุไว้ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 62-2 ม.ค. 63 ในช่วงนี้มีความเสี่ยงต้องระวัง หรือควรเพิ่มมาตรการป้องกันอย่างไรบ้าง ไปเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางพร้อมกัน
ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ…ข้อความที่พบเห็นได้ตามถนนหนทางทั่วไทยโดยเฉพาะบริเวณรอยต่อข้ามเขตจังหวัด อำเภอ คล้ายอวยพรแด่ผู้ขับขี่ให้ปลอดภัยตลอดเส้นทาง ยิ่งใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ "ความปลอดภัยทางถนน" อันเป็นเส้นทางสัญจรหลักถูกหยิบยกขึ้นมาตักเตือนกันมากขึ้น
ข้อมูลจาก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และ กระทรวงสาธารณสุข ระบุเทศกาลปีใหม่ 62 (27 ธ.ค. 61-2 ม.ค. 62) มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลง แต่จำนวนการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิต 463 ราย เพิ่มจากปีก่อน 40 ราย ผู้บาดเจ็บมี 3,829 ราย การเสียชีวิตเกิดขึ้นมากที่สุดในวันที่ 1 ม.ค. ส่วนกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงบาดเจ็บและเสียชีวิตมากสุดคือ 15-19 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ยานพาหนะที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกือบร้อยละ 80 เป็นรถจักรยาน ยนต์ (จยย.)
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ชี้ถึงมาตรการเฝ้าระวังในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่าอาจแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญคือ ช่วงเดินทาง และช่วงฉลอง ในช่วงเดินทาง ความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ "การใช้ความเร็ว" แม้จะทำความเร็วได้เพียงบางช่วง และ "การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย" ยกตัวอย่าง ผู้เสียชีวิตจากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยปีใหม่ที่ผ่านมามี 48 ราย ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือ 23 ราย เป็นผู้โดยสารที่นั่งตอนหลัง ซึ่งยังมีความเข้าใจผิดว่านั่งเบาะหลังไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หรือผู้เสียชีวิตที่ไม่สวมหมวกกันน็อกมีมากถึง 205 ราย ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นโจทย์อุบัติเหตุปีใหม่ที่ยังเหมือนเดิม
ขณะที่ "การหลับใน" สังคมพูดถึงมากขึ้นแต่ในข้อเท็จจริงคนจำนวนมากยังคิดว่า "อีกนิดเดียว" ก็ถึง หรือ "ฝืน" ขับต่อโดยไม่จอดพัก จนสุดท้ายไปเกิดอุบัติเหตุ อาการหลับในมักเกิดขึ้นช่วงเดินทางกลับ เนื่องจากเพิ่งพ้นจากการฉลองที่มีทั้งการดื่ม และอดนอน "ช่วงเวลาการหยุด" เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อความเสี่ยง โดยเฉพาะในกรณีต้องกลับไปทำงานในวันที่ 2 ม.ค. หรือหลังการฉลองปีใหม่เสร็จสิ้นในวันที่ 1 ม.ค. ทำให้วันที่ 1 ม.ค. กลายเป็นวันที่มียอดการเสียชีวิตมากสุด
"เมื่อไหร่ที่ไทม์ไลน์ปีใหม่มีการหยุดยาวแล้วบีบให้คนต้องกลับมาทำงานในวันที่ 2 ม.ค. การเสียชีวิตในวันที่ 1 ม.ค. จะเพิ่มขึ้น ซึ่งแบบแผนการหยุดเช่นนี้เคยมีตัวอย่างทั้งปีใหม่ 62 และปีใหม่ 56 ซึ่งปี 56 มีคนแห่เดินทางกลับในวันที่ 1 ม.ค. เพื่อให้ทันไปทำงานในวันรุ่งขึ้น พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 91 ราย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้อาจมีบางกลุ่มที่หยุดต่อเนื่องยาวและทยอยกลับอีกครั้งในวันที่ 4-5 ม.ค. 63 การกระจายตัวกันกลับแม้จะไม่อยู่ในช่วง 7 วันอันตรายและจะไม่ถูกนับรวมยอดอุบัติเหตุ แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่มองว่าควรเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อนำไปวิเคราะห์ให้ครอบคลุมความเสี่ยงตลอดช่วงปีใหม่"
ผู้จัดการ ศวปถ. ย้ำถึงความสำคัญของ "ห่วงโซ่ความรับผิดชอบ" ว่าเป็นสิ่งที่ควรเริ่มต้นผลักดันอย่างจริงจัง เพื่อเสริมประสิทธิภาพของหลายมาตรการที่ดำเนินการอยู่ ยกตัวอย่าง การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์กลุ่มที่ออกจากงานรื่นเริง เฉลิมฉลอง ปีใหม่ 62 พบการตั้งด่านตรวจกลุ่มที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุได้เพิ่มร้อยละ 15 มีการดำเนินคดีทั่วประเทศ 23,039 ราย เฉลี่ย 42 รายต่อจังหวัดต่อวัน ขณะ ที่กลุ่มเมาขับแล้วไปเกิดอุบัติเหตุชนคนเสียชีวิตต้องถูกจับตรวจทุกราย ซึ่งกลุ่มดังกล่าวพบว่าร้อยละ 52 มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
หลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งการดื่มในเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ การกระทำผิดของกลุ่มข้าราชการ ยังไม่นับรวมการเลี้ยงสังสรรค์ในองค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปล่อยให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ได้มีมาตรการรับมือในช่วงเดินทางกลับ ชี้ให้เห็นสัญญาณที่ต้องยกระดับเชื่อมโยงความรับผิดชอบที่มากกว่าการกระทำผิดเฉพาะบุคคล
"ทำอย่างไรให้ความรับผิดชอบต้องโยงไปให้ถึงเจ้าของงาน ผู้จัด หรือสร้างห่วงโซ่ความรับผิดชอบ ซึ่งเรายังทำเรื่องนี้กันไม่แข็งแรง ไม่มีการโยงไปถึงต้นเหตุ เช่น ทำไมถึงขายให้เด็กที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ หรือเมื่อมีการจัดเลี้ยง กินดื่ม อย่างงานเลี้ยงตามบริษัท หรือโรงงาน ทั้งที่รู้ว่าในงานมีคนเมาแต่กลับไม่มีใครออกมาเป็นห่วงเมื่อคนเหล่านี้ต้องเดินทางกลับว่าจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ห่วงโซ่ความรับผิดชอบ จำเป็นต้องสร้างให้ได้เพราะหากไม่มี โจทย์ของปัญหาก็ยังต้องแก้กันในแบบเดิม ๆ" ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าว