“เชื้อไข้เลือดออก” อันตราย แนะใช้สมุนไพรป้องกัน

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวไม่ให้ยุงกัด  พร้อมเผยผลวิจัย น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทยใช้ทาป้องกันยุงกัดได้  

น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการความร่วมมือกันเฝ้าระวัง พร้อมทั้งเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเรื่องการดูแลป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต รวมถึงชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนและบ้านเรือนที่พักอาศัยของตนเองให้ดีจะได้ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก

ผลงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าทุกภาคของประเทศไทย ยุงที่ติดเชื้อไข้เลือดออกมีทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยเฉพาะภาคใต้ยุงติดเชื้อสูงสุดพบทุกซีโรทัยป์ อัตราการติดเชื้อในยุงลายบ้านร้อยละ 38 และยุงลายสวนร้อยละ 24 แหล่งเพาะพันธุ์สำคัญคือ วัสดุเหลือทิ้งที่ขังน้ำฝน อยู่นอกชายคาบ้านที่ยากจะควบคุม และผลงานวิจัยยังพบอีกว่า ยุงลายมีการถ่ายทอดเชื้อจากแม่ยุงไปสู่ลูกได้ในสภาพธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องไปนำเชื้อจากผู้ป่วย

ด้าน น.พ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดขณะนี้คือการป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวไม่ให้ยุงกัด โดยใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพดี ซึ่งประชาชนยังสามารถนำสมุนไพรไทยมาใช้ทาป้องกันยุงกัดได้ สำหรับสารออกฤทธิ์ที่เป็นสมุนไพร หากเป็นสารชนิดเดียว เช่น น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมต้องทาซ้ำทุกครึ่งชั่วโมง เนื่องจากป้องกันยุงลายได้น้อยกว่ายุงรำคาญ และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต้องมีสารเสริมฤทธิ์และสารที่ช่วยให้ติดทนนาน

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิจัยแล้วว่า การใช้สมุนไพรหลายชนิดรวมกันจะให้ผลในการป้องกันยุงได้ดีกว่าการใช้สมุนไพรชนิดเดียว ซึ่งสมุนไพรส่วนที่ออกฤทธิ์เป็นน้ำมันหอมระเหยจะหมดฤทธิ์เร็วกว่าสูตรที่เป็นดีทหรือไออาร์ นอกจากนี้ยังต้องให้ความรู้กับประชาชนอีกว่าตะไคร้หอมเพื่อป้องกันยุงกัดนั้นจะต้องนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยและทำเป็นสูตรตำรับเฉพาะก่อนจึงจะสามารถนำไปใช้ได้ การขยี้ ตี ตำ หรือปลูกตะไคร้หอมไว้บริเวณรอบบ้านตามที่เคยเชื่อมานั้นไม่สามารถป้องกันยุงกัดได้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code