‘เชื้อดื้อยา’ ปัญหาวิกฤตระดับชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ปัญหาเชื้อดื้อยา เป็นปัญหาวิกฤตร่วมของคนทั่วโลก เพราะส่งผลต่อชีวิตของคนทุกคน เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียมากจนเกินความจำเป็น ย่อมทำให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตัวเองจนสามารถสู้กับยาปฏิชีวนะได้ หรือที่เรียกว่า ดื้อต่อยา
เกิดคำถามว่าการดื้อต่อยาจะส่งผลอย่างไร ง่ายๆ ยาปฏิชีวนะทุกวันนี้ ทางบริษัทผู้ผลิตไม่มีการพัฒนายารูปแบบใหม่ๆ ดังนั้น หากเราดื้อต่อยากลุ่มเดิม โอกาสในการรักษาโรคให้หายก็จะน้อยตามไปด้วย ซึ่งในต่างประเทศมีความกังวลในเรื่องนี้ เนื่องจากพบแบคทีเรียดื้อต่อยาเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า ซุปเปอร์บั๊ก (Superbug) อย่างสหรัฐอเมริกา โดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) ได้ประกาศพบผู้ป่วยที่ดื้อต่อยาวัย 70 ปี และได้เสียชีวิตลงเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2559 จากการติดเชื้อแบคทีเรียระดับซุปเปอร์บั๊ก ซึ่งเป็นการดื้อยาระดับสูง
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษานโยบายการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ของสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและโอสถกรรมานุบาล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 700,000 คน/ปี หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คาดว่าในปี ค.ศ.2050 การเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลปี 2552 พบมีการผลิตและนำเข้ายาปฏิชีวนะสูงมากถึง 11,000 ล้านบาท และมีการนำยากลุ่มนี้กว่า 47 ชนิด มาใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ส่วนคลินิกและร้านขายยามีการจ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วย 35-36 ชนิด และพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลในสถานพยาบาลทุกระดับ โดยพบการใช้ยาดังกล่าวอย่างไม่สมเหตุผลจำนวนสูงถึงร้อยละ 25-91 และจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทยมีแนวโน้มมากขึ้น โดยในปี 2553 ได้มีการศึกษาใน รพ.ทุกระดับจำนวน 1,023 แห่งถึงผลกระทบของการติดเชื้อดื้อยา ซึ่งพบผู้ป่วยที่ดื้อต่อยาจำนวน 87,751 ครั้ง ส่งผลทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาเสียชีวิต 38,481 ราย เฉลี่ยวันละ 104 คน
ปัญหาดังกล่าวทำให้หลายองค์กรต่างหันมาให้ความสนใจและหามาตรการป้องกัน ซึ่งล่าสุดมี 25 องค์กรที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แพทยสภาเครือข่าย รพ. กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น เพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. กล่าวว่า ทาง สปสช.มีหน้าที่ในการจัดซื้อยาโดยการจัดสรรเงินให้กับทาง รพ. ซึ่งจะแบ่งส่วนหนึ่งจากงบเหมาจ่ายรายหัวออกมาเป็นตัวกำหนดการจ่ายเงินให้ รพ. ว่า หากใช้ยากลุ่มปฏิชีวนะน้อยลงจะได้เงินเพิ่มตามสัดส่วนที่กำหนด โดยมียา 2 กลุ่ม คือ โรคทางเดินหายใจหรือโรคหวัด และโรคเกี่ยวกับท้องร่วง เนื่องจากโรคเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ แต่ร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) อธิบายว่า คนไทยมักมีความเชื่อว่ายาปฏิชีวนะเป็นยาครอบจักรวาล ไม่ว่าเป็นอะไรก็กินยาแก้อักเสบ ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะแท้จริงแล้วคำว่า "ยาแก้อักเสบ" เป็นคำติดปากที่ได้ยินคนเรียกกันบ่อย และเรามักคุ้นกับความรู้ที่ว่าเจ็บคอหรือบาดเจ็บให้ทานยาแก้อักเสบกันไว้ แต่เราไม่ได้รู้ว่าบางครั้งเรากำลังเรียกยาปฏิชีวนะว่า "ยาแก้อักเสบ" ซึ่งไม่ถูกต้องและนำมาใช้เกินกว่าเหตุ เพราะเกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อเป็นหวัด คออักเสบต้องกินยาแก้อักเสบโรคนี้ถึงจะหาย ทั้งที่ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ เพราะการอักเสบแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1.ติดเชื้อแบคทีเรียรักษาได้ด้วยยาต้านแบคทีเรียที่ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ เช่น ปวดบวมตามข้อ 2.อักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย ร่างกายของมนุษย์มีภูมิที่สามารถหายเองได้ หากมีการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ แต่การกินยากันไว้โดยไม่จำเป็นอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาได้ง่ายขึ้น
การรับประทานยาปฏิชีวนะต้องเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ และโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมีสาเหตุจากเชื้อโรคที่แตกต่างกัน แพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยโรคติดเชื้อก่อนที่จะสั่งยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถทานยาปฏิชีวนะตัวใดก็ได้ เช่น ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียก็ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย ถ้าติดเชื้อไวรัสก็ต้องใช้ยาต้านไวรัส เป็นต้น
โดย ผศ.ภญ.นิยดา บอกถึง 10 พฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุเชื้อดื้อยา คือ 1.ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินตามคนอื่น 2.หยุดกินยาต้านแบคทีเรียเมื่ออาการดีขึ้น กลไกการทำงานของยามีผลต่อเชื้อโดยตรง ไม่ได้มีผลต่อคน ดังนั้นต้องกินยาจนหมดตามที่กำหนด เพราะเชื้อยังถูกกำจัดจากร่างกายไม่หมด จึงเป็นเหตุให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้ 3.ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ครั้งก่อนๆ การกินยานั้นต้องให้ตรงกับโรคที่เป็น ควรให้แพทย์วินิจฉัยไม่ควรไปซื้อยากินเอง 4.เคยอมยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะต้านเชื้อโรค ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา เพราะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสมแล้วยังเป็นการใช้ยาเกินจำเป็นด้วย 5.เปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียที่แรงกว่าเดิม เพราะเห็นว่ากินแล้วไม่หาย การรักษาต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะดีขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนยาที่แรงขึ้นอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
6.เคยเอายาต้านแบคทีเรียมาโรยแผล นอกจากจะเป็นการรักษาที่ผิดวิธีแล้วยังส่งผลให้แผลติดเชื้อและเชื้อในแผลพัฒนาตัวเองไปสู่การดื้อยา 7.ใช้ยาต้านแบคทีเรียผสมในอาหารสัตว์ เป็นการใช้ยาที่ผิดและไม่ได้ผล ทำให้เนื้อสัตว์ที่เรากินเข้าไปอาจจะเป็นเนื้อสัตว์ที่ป่วยจากเชื้อดื้อยาก็เป็นได้ 8.ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่ทราบชื่อสามัญของยา พฤติกรรมนี้เสี่ยงต่อการแพ้ยาและใช้ยาไม่ตรงกับเชื้อโรคด้วย
9.เคยไปซื้อยาแก้อักเสบมากินเอง เพราะหากเป็นการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อก็ไม่ควรกินยาแก้อักเสบเพื่อรักษาอาการ และ 10.การไม่แนะนำผู้ที่ใช้ยาต้านแบคทีเรียให้ใช้ยาอย่างเหมาะสม ทำให้ประชาชนในสังคมขาดความรู้ในการใช้ยาและพัฒนาไปสู่การป่วยเชื้อดื้อยาได้
"การรับประทานยาปฏิชีวนะต้องเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ และโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมีสาเหตุจากเชื้อโรคที่แตกต่างกัน แพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยโรคติดเชื้อก่อนที่จะสั่งยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถทานยาปฏิชีวนะตัวใดก็ได้"