เชื่อมร้อยเครือข่ายแรงงาน สานสร้างสุขภาวะ
1 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้สังคมเห็นความสำคัญของแรงงาน ตลอดจนเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ไปในทางที่ดีขึ้น
“อรพิน วิมลภูษิต” ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้สะท้อนถึงปัญหาสุขภาวะแรงงานไทยในปัจจุบันไว้ว่ามี…ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม 3 ประการที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของแรงงานไทย ทั้งด้านครอบครัว สังคม และชุมชน
1. ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือรายรับรายจ่ายของแรงงาน ที่ปัจจุบันเป็นข้อจำกัดค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแรงงานไทยที่อยู่ในระบบตลาดการแข่งขันอย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกันแรงงานเองก็มีข้อจำกัดในทักษะ ฝีมือและข้อมูลข่าวสารที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะฝีมือที่สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้างงานที่เปลี่ยนไปและเน้นการใช้เทคโลยีมาช่วยเพิ่ม Productivity ซึ่งจะพบว่าพอสถานการณ์การจ้างงานเปลี่ยนก็มีปัญหาการเลิกจ้าง เกิดความกดดันเรื่องอัตราค่าจ้าง มีเรื่องการแข่งขันโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในตลาดแรงงานของไทยเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ จึงส่งผลให้เกิดภาวะการว่างงาน แรงงานส่วนใหญ่จึงแปรผันตัวเองไปอยู่ในแรงงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบสูงมากขึ้น
2. ระบบการจ้างงาน ปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบจากการจ้างงานในโรงงานซึ่งมีระบบสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันสุขภาพ ประกันสังคม แล้วก็รายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องไปเป็นการจ้างงานแบบเหมาช่วงหรือ Outsource และนำไปสู่การเลิกจ้าง เงื่อนไขสำคัญทางเศรษฐกิจดังกล่าวก็ส่งผลกับภาวะทางจิตใจของคนในครอบครัว ทำให้เกิดความเครียด นำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และอาจเกิดความรุนแรงตามมา
นอกจากนี้ในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อระบบการจ้างงานเปลี่ยนเป็นแบบเหมาช่วงหรือ Outsource การดูแลเรื่องความปลอดภัยและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานก็จะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร แรงงานจึงต้องทำงานอยู่ใต้ภาวะความเสี่ยงทั้งอุบัติเหตุ สภาพแวดล้อม และการแข่งขันการทำงานที่จะต้องใช้เวลาโอเวอร์ไทม์ จนนำไปสู่ความไม่สมดุลระหว่างเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อน
“การจ้างงานที่เป็นระบบการตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น จึงมีผลกระทบต่อแรงงานทั้งในเรื่องของความเครียด รายได้รายจ่าย ระยะเวลาการทำงาน และปริมาณงาน ทั้งนี้ยังไม่มีระบบมาตรฐานการกำกับบริษัทในเรื่องการจ้างงานในรปแบบดังกล่าวนอกเหนือจากกฏหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งอาจเป็นการเอาเปรียบ และเกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดระบบค่าจ้าง และสวัสดิการที่ควรได้รับ” อรพินอธิบาย
3.ปัญหาแรงงานนอกระบบ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก เพราะระบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป รวมถึงผู้ว่าจ้างก็หันไปใช้แรงงานข้ามชาติมากขึ้น ตอนนี้จึงกลายเป็นประเด็นปัญหาหลัก ที่รัฐบาลค่อนข้างให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดจากช่องว่างของระบบที่ไม่เอื้อให้เขาสามารถที่จะมีรายได้รายจ่ายพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้
"ปัญหาสุขภาวะของแรงงานไม่ได้มองที่เรื่องของสุขภาพเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะส่งผลไปถึงความปลอดภัยในการทำงาน เวลาการทำงานที่มากเกินไป การทำงานที่ต้องแข่งขัน ความกดดันเรื่องรายได้ ส่งผลต่อการมีหนี้สินพะรุงพะรัง ขาดการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวและนำไปสู่สุขภาวะด้านจิตใจในที่สุด"
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อรพินมองว่าต้องมีการสร้างกลไกผู้นำแรงงานหรือเครือข่ายให้มีความเข้มแข้ง ทั้งในด้านข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในเรื่องของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติโดยมีส่วนร่วม ผู้นำแรงงานควรมีบทบาทในการเชื่อมโยงทำให้เกิดการรวมตัวทำงานร่วมกัน
การรวมกลุ่มกันและมีเอกภาพทางความคิดได้นั้นจะเป็นกลไกที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้นโยบายที่เราพยายามผลักดันได้รับการตอบรับ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เรื่องโดย ภาวิณี เทพคำราม Team Content www.thaihealth.or.th