“เชียร์บอล”อย่าพนัน
พ่อแม่คือกุญแจสำคัญป้องกันได้
เวลานี้คงไม่มีอะไรฮอตฮิตไปกว่า “มหกรรมฟุตบอลโลก 2010” ที่กำลังจะมาถึง หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอ เพราะ 4 ปีจะมีสักครั้ง นอกจากความสนุกสนานที่จะได้ลุ้นทีมในดวงใจแล้ว สิ่งที่มักจะมาคู่กันคือการ “เล่นพนันฟุตบอล”
นิสัยของคนไทยเกือบครึ่งที่ชอบเสี่ยงโชค บางคนถึงขั้นเล่นติดกันงอมแงม จนเป็นที่มาของการเป็น “หนี้พนัน” และสิ่งตามมาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงคืออาการเครียด ซึมเศร้า จนเป็นที่มาของคดีอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้นที่จะอุบัติขึ้นเป็นดอกเห็ด บางรายอาจคิดสั้นตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีปัญหาไปในที่สุด…
เกี่ยวกับเรื่องนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้คาดการณ์ไว้ว่า บอลโลกปีนี้ “คนไทย” จะควักกระเป๋าเล่นพนันบอล เป็นเงินสูงถึงกว่า 3.7 หมื่นล้าน!!…ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ…
อีกทั้งจากการสำรวจของศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา ในประชาชนอายุ 12-60 ปี เขตกรุงเทพฯ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา จำนวน 2,541 ราย ที่ผ่านมา ยังพบอีกว่า ในจำนวนผู้สำรวจถึง 16.6% ยอมรับว่าเคยเล่นพนันทายผลฟุตบอล และที่น่าเป็นห่วง คือในจำนวนผู้ที่ยอมรับว่าเคยเล่นนั้นเกินกว่าครึ่งคือ 53.8 ยังคงเล่นอยู่ในปัจจุบัน…
หากถามถึงปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจที่จะเล่นพนันบอลคงหนีไม่พ้น เพราะทำให้เชียร์สนุก เล่นตามเพื่อน หรือแม้กระทั่งการหวังรวยทางลัด โดยไม่คำนึงถึงเงินในกระเป๋าตนเองว่ามีมากน้อยเพียงใด บางรายถึงกับโกหก ล่อลวงคนใกล้ชิดให้ต้องขายรถ ขายบ้าน ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือแม้แต่ทุจริตเงินของหน่วยงาน เพื่อนำเงินไปใช้หนี้หรือเล่นพนันฟุตบอล
หากเป็นเช่นนี้คงเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า คนเหล่านั้นติดพนันบอล นอกจากนี้ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท และการหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยกในที่สุด…
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุทำให้เกิดเครือข่ายรณรงค์หยุดการพนัน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพ(สสส.) ขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและรณรงค์ให้ประชาชนไม่ตกเป็นทาสของการพนัน โดยเฉพาะ “เยาวชน” ที่อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่ายที่สุด…
นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวไว้ว่า เยาวชนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในการเสี่ยงที่จะติดพนันบอล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรต้องดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษในช่วงนี้ คอยเฝ้าระวัง สังเกตพฤติกรรมของลูก เพื่อจะได้หาทางป้องกันได้ทันท่วงที
“การทำงานของเครือข่ายฯ จะทำงานร่วมกับ เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายงดเหล้า และเครือข่ายขบวนการตาสับปะรด ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังหากพบว่าสถานที่ใดมีการพนันบอลเกิดขึ้น ก็จะประสานงานให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการต่อไป รวมทั้งยังมีการแจกชุดความรู้เพื่อเด็กและเยาวชนเข้าใจถึงโทษของการติดพนันบอลอีกด้วย” นายธนากร กล่าว
อีกทั้งในเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับโต๊ะพนันได้ที่ www.หยุดพนัน.com นอกจากนี้ ยังสามารถสมัครเป็นสายลับไซเบอร์เฝ้าระวังปัญหาพนันบอลอีกด้วย
ปัญหาเหล่านี้ คงจะไม่สามารถแก้ไขได้หากทุกคนไม่ร่วมมือกัน โดยเฉพาะ กุญแจสำคัญอย่างพ่อแม่ผู้ปกครอง จำเป็นต้อง แนะนำให้ความรู้ และเตือนให้เด็กรู้จักป้องกันตนเองว่า 1. ตัววัยรุ่นเองจะต้องพยายามควบคุมตัวเองและครองตนให้ดี ซึ่งหากชอบกีฬาก็ควรศึกษาเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอล ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจริงๆ เกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้จากการชมกีฬาที่แท้จริง
2. ต้องศึกษาเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้หลงกลของเกมการตลาดและคำโฆษณาชวนเชื่อ 3. ต้องรู้จักพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องของการพนันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลร้ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 4. หากมีใครชักชวนหรือท้าทาย เราต้องกล้าที่จะปฏิเสธ ไม่หลงไปเป็นเหยื่อของผู้ที่มาชักชวน 5. ต้องเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด ไม่เห็นแก่เงิน
6. อย่าใช้ข้ออ้างกับตัวเองว่าแค่พนันเล่นๆ เท่านั้น เพราะมันจะเกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการทำซ้ำ 7.หากเจอผู้ที่ตกอยู่ในภาวะติดการพนันไปแล้ว ให้บอกพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดของเพื่อน และพยายามดึงเขาออกมาจากพฤติกรรมนั้น และ 8. หากพบว่าตนเองเข้าข่ายติดพนันบอล ก็ต้องกล้าหาญยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และบอกคนใกล้ชิดให้ช่วยเหลือ
หากทุกครัวเรือนทำได้เช่นนี้ ปัญหาการพนันทุกประเภท ไม่ใช่แต่พนันบอลก็จะหมดไปจากสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง….
ที่มา : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Teamcontent www.thaihealth.or.th
Update:10-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่