เชียงรายโมเดล ชวนปั่นเลิกบุหรี่
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เสียงตอบรับควบคู่การขับเคลื่อนเริ่มกระจายไปทั่วประเทศ ภายใต้โครงการนักปั่นจักรยาน 4 ภาคเลิกบุหรี่ ในโครงการการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 ระหว่างปี 2559-2562
ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมา คมหมออนามัย สมาคมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขและชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ล่าสุดประชาคมเชียงรายได้สานต่อแนวทางนี้ ด้วยการจัดกิจกรรม "เชียงรายโมเดล ปั่นต่อยอดลด ละ เลิก บุหรี่" ภายใต้งาน "ปั่นปลุก ลุก สร้าง กระแสรณรงค์เลิกบุหรี่" เมื่อเร็วๆ นี้
นายบุญมี แก้วจันทร์ สาธารณสุขอำ เภอเทิง (สสอ.เทิง) จังหวัดเชียงราย ระบุว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน คือหลักใหญ่ของกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมาน่ายินดีว่าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันงานร่วมกัน นอกเหนือจากแวดวงสาธารณสุขในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะหน่วยงานปกครองซึ่งให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างกรณีของนายอำเภอเวียงป่าเป้าที่ประกาศเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด ซึ่งเรียกว่าได้เป็นขวัญกำลังใจที่ดีในการเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านได้เห็น
"ขณะนี้แต่ละพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย กำลังทบทวนเป้าหมายของโครงการที่ได้ดำเนินการกันมา เพื่อสรุปและเดินหน้าไปต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การทำงานประเด็นป้องกันนักสูบหน้าใหม่ รวมทั้งตรวจสอบว่าตอนนี้มียอดคนสูบบุหรี่จำนวนเท่าไหร่ และเข้าร่วมโครงการกิจกรรมจำนวนกี่คน เพื่อวางแผนขับเคลื่อนงานต่อในพื้นที่ 18 อำเภอ โดยก่อนเดือนกันยายนจะมีการอบรมแกนนำเครือข่าย เพื่อขยายผลต่อ และชักชวน รณรงค์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น"
สาธารณสุขอำเภอเทิง กล่าวต่อว่า จากโครงการที่ทำพวกเขาได้วิเคราะห์ทบทวน และพบจุดอ่อนที่สำคัญ นั่นคือ กระบวนการติดตามประเมินผล และขั้นตอนของการสำรวจข้อมูลของผู้สูบบุหรี่ ที่เริ่มต้นคัดกรองข้อมูลตั้งแต่เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปของในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อนำไปสู่การวางแผนทำงานประกาศเลิกบุหรี่ และอีกประเด็นที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดการต่อยอดอย่างเห็นผลรูปธรรมนั้น ก็คือบุคลากรสาธารณสุขในจังหวัด ที่เราต้องตรวจสอบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และต้องรณรงค์ให้พวกเขาเลิกสูบให้หมดเสียก่อน
นายบุญมี กล่าวว่า การใช้กิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อให้คนเลิกบุหรี่ ถือเป็นการสร้างกระแสให้คนรับรู้โครงการเพื่อที่จะทำงานต่อในการขยายผลประชาสัมพันธ์ พร้อมสร้างรับรู้ถึงโทษของบุหรี่ นอกจากนี้ยังนำกีฬาอื่นๆ มารณรงค์ควบคู่ไปด้วยต่อเนื่อง อาทิ การเดิน การวิ่ง เพราะแต่ละคนมีความชอบ และศักยภาพในการเล่นกีฬาไม่เหมือนกัน
นายกิตติคุณ สุขเกษม อายุ 65 ปี ผู้ร่วมขบวนปั่นจักรยานจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตนเป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี เคยสูบบุหรี่มาก่อน แต่ปัจจุบันเลิกสูบมานานแล้ว มองว่าการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเป็นประจำ ทำให้สุขภาพแข็งแรง ได้ความเพลิดเพลินทำให้ลืมเรื่องสูบบุหรี่ แม้ขณะนี้จะป่วยเป็นผู้พิการทางด้านการเคลื่อนไหวหรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก ก็ยังใช้วิธีปั่นจักรยานเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ทำให้ปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นายกิตติคุณ เล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยร่วมกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิกสูบบุหรี่สายเหนือ โดยเริ่มปั่นจากจุดเริ่มต้นที่อำเภอแม่สาย ไปสิ้นสุดที่กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพฯ ถือเป็นการรณรงค์ทำประโยชน์เพื่อสังคม และตัวเองยังได้ออกกำลังกาย ขณะเดียวกัน การปั่นของตนยังเป็นการบอกต่อจากนักปั่นไปสู่นักสูบด้วย แม้จะพิการก็ไม่ใช่อุปสรรคของการปั่นจักรยานระยะทางไกล เพราะใจชื่นชอบการปั่นจักรยานและมีประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี
"ผมรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ การรณรงค์นี้จะช่วยให้คนที่อยู่ตลอดเส้นทางปั่นเห็นโทษของการสูบบุหรี่ ที่สำคัญจะทำให้ทราบถึงข้อดีของการปั่นจักรยาน อาทิ สุขภาพแข็งแรง ทำให้เพลิดเพลิน ไปพบปะเพื่อนฝูง ได้มิตรภาพใหม่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ลืมเรื่องสูบบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่อยากเลิกสูบบุหรี่ ขอให้นึกถึงโทษของการสูบบุหรี่เป็นหลัก และหันมาปั่นจักรยานแทน จะทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้แน่นอน" ผู้ร่วมขบวนปั่นจักรยานจากอำเภอแม่สายกล่าวปิดท้าย
การออกกำลังกายจึงเป็นวิธีการที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้สูบเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวเรามีความแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และยังเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย