เชิดชู ‘ครูสอนดี’ แด่ครูผู้ทุ่มเทเพื่อศิษย์
หนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศไทย ที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกันกับภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมในการระดมเงินอุดหนุน เพื่อมุ่งปฎิรูปค่านิยมที่สังคมมีต่อครู ด้วยการเชิดชูยกย่อง และมอบรางวัลให้แก่ครูสอนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครูท้องถิ่นและครูทั้งประเทศ ภายใต้กลไกขับเคลื่อน “สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)”
ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเรื่อง “งบประมาณ” ที่จะใช้ในแผนปฏิรูปว่า มาจากส่วนที่เป็นงบประจำ ที่อาจจะปรับเปลี่ยนจากแผนงานปกติ อีกส่วนจะมาจากเงินของหน่วยงานต่างๆ อาทิ “สสค.” ที่ใช้เงินยืมจากเงินกู้ที่มีอยู่แล้วในอดีต และเมื่อมีกฎหมายมารองรับก็จะมีเงินรายได้จากภาษี เหมือนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เคยทำในปี 2543-2545 และอีกส่วนจะเป็นเงินจากภาคเอกชนเอง
ภายใต้คอนเซ็ปท์ “ครูสอนดี” นั้น ต้องเป็นครูผู้ทุ่มเทอุทิศตนเพื่อศิษย์ มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาทักษะเพื่อให้สอดคล้องกับผู้เรียนและสังคม สามารถเป็นที่พึ่งของศิษย์ทั้งด้านวิชาการและด้านพัฒนาชีวิตของศิษย์ ตลอดจนมีวัตรปฏิบัติที่ดีงามสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณครูที่แท้จริง ขณะเดียวกันก็มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ
ในปีการศึกษา 2550 ชี้ว่า ครูไทยโดยเฉพาะครูในระดับมัธยมศึกษารับภาระค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลขนาดห้องเรียนที่ค่อนข้างใหญ่ และจำนวนเฉลี่ยชั่วโมงการสอนที่มีอัตราสูง สะท้อนถึงทั้งภาระที่หนัก และประสิทธิภาพการเรียนการสอนที่ค่อนข้างต่ำด้วย
ในโอกาส “วันครูแห่งชาติ” สสค.จึงขอน้อมรับฟัง และร่วมแบ่งปัน “นานาทรรศนะ” ของครูรุ่นเก่า-ใหม่ เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการเชิดชูครูสอนดีทั่วประเทศ หลังจากที่ปล่อยปสอต “ครูสอนดี” ต้อนรับวันครูไปที่เรียบร้อยแล้ว เริ่มด้วย อ.นคร ตังคะพิภพ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี ผู้ที่ได้รับเลื่อนวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญพิเศษ ระดับ 10 คนแรกของประเทศไทย เทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีหรือที่ปรึกษา ศธ.ระดับ 10 จากผลงานการวิจัย และพัฒนายุทธศาสตร์การบริหารแบบหลอม รวมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ และผลงานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
“เมื่อพูดถึงครูดี ครูสอนดีในทัศนคติของใครนั้นก็ถูกหมด แต่จะอยู่ที่ใครตัดสินว่าเป็นครูสอนดี ด้วยมิติและแง่มุมไหน แล้วสังคมเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของครูหรือไม่ เพราะเมื่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เต็มไปด้วยการแข่งขัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครูก็อยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ทัดเทียมอาชีพอื่นในวัยเดียวกัน” อ.นครอธิบาย และเสริมว่า เมื่อสังคมมองว่า ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ของครูกลายเป็นการลดคุณค่าความเป็นครูลง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ เพียงแต่ความเป็นครูนั้นต้องไม่หวือหวา ต้องเริ่มจากการเสียสละเพื่อศิษย์เป็นที่ตั้ง ต้องเรียกว่า ครูเองก็ต้องปรับตัวให้ยืนพอดีๆ ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ครูต้องแบกรักภาระความคาดหวังที่แตกต่างทั้งจากเด็กและผู้ปกครอง
“เด็กก็ต้องอยากได้ครูที่ตามเทรน ซึ่งถ้าเป็นครูสมัยนี้ก็ต้องทำอะไรที่โดนใจเด็ก ขณะที่ผู้ใหญ่อาจจะมองการกระทำครูยุคใหม่ว่าแปลก จึงเป็นเรื่องยากที่ครูเองก็ต้องหาจุดยืนที่เหมาะสม ซึ่งถ้าสังคมมองสิ่งที่ครูทำว่าทำอะไร เพื่อใครเป็นหลัก โดยไม่สนภาพลักษณ์ แต่เอางานเป็นที่ตั้งก็คงจะดี” อ.นคร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน อ.สุรินทร์ ยิ่งนึก โรงเรียนบางซ้ายวิทยา หนึ่งในครูที่เข้าเครือข่าย “ครูมืออาชีพ” กับสสค.กล่าวว่า คำว่า “ครูเพื่อศิษย์” น่าจะเป็นจำกัดความของครูสอนดีที่ชัดเจนที่สุด คือ ต้องเห็นความสำคัญของลูกศิษย์ และมีลูกศิษย์เป็นที่ตั้งในการทำงาน พัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ที่สอคล้องกับความต้องการของนักเรียน” อ.สุรินทร์กล่าว
พร้อมกับเล่าถึงปัญหาว่า ครูในปัจจุบันต้องรับผิดชอบเรื่องอื่นๆ นอกเหนือหน้าที่ครู ทำให้เวลาครูที่ดูแลนักเรียนน้อยลง ทั้งที่ครูต้องมีเวลาในการทำหน้าที่ครูมากที่สุด ส่วนคุณลักษณะสำคัญของครู ที่เรียกว่า “เป็นหน้าที่หลัก” ต้องอยู่ใน 3 กรอบนี้คือ กรอบการพัฒนาระบบการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของศิษย์ กรอบที่สองระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อสำรวจเบื้องหลังปัญหา และความต้องการของลูกศิษย์ ที่ครูต้องมีเวลาลงไปช่วย ให้ถึงผู้ปกครอง ถึงบ้าน และกรอบสุดท้ายระบบติดตามนักเรียน เกี่ยวข้องเสริมสร้างศักยภาพศิษย์
“ส่วนงานที่นอกจากนั้นเป็นสิ่งที่สร้างภาระให้กับครูทั้งสิ้น คงต้องหาคนมาช่วยเพื่อให้ครูไปทุ่มเทการศึกษาให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าครูทำหน้าที่เพื่อศิษย์ โดยลดภาระที่ไม่ใช่หน้าที่ครูออกไป ครูก็จะเป็นอาชีพชั้นสูง ที่สามารถยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน แล้วเมื่อเป็นที่ยอมรับในสังคม เมื่อเกิดกระแส “ครูฟีเวอร์” เรื่องรายได้ก็จะตามมา” อ.สุรินทร์พูดด้วยความหวัง และว่าท้ายที่สุดแล้ว ครูก็จะกลายเป็นผู้ที่เข้ามาช่วยรับผิดชอบสังคมและประเทศ ด้วยการประยุกต์ใช้ประสบการณ์ที่เจอในการแก้ปัญหาในชุมชน สังคม แล้วความเป็นครูก็จะเกิดด้วยจิญวิญญาณการทำงานเพื่อศิษย์
ด้าน อ.จรรยา มากพงษ์ จากโรงเรียนช้างบุญวิทยา กล่าวว่า ยอมรับว่าครูสมัยนี้เป็นคนเก่ง แต่เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมาก ก็จะเห็นความห่างเหินระหว่างครูกับนักเรียน เลยอยากจะให้ครูรุ่นใหม่ใส่จิตวิญญาณในความเป็นครูที่เพิ่มขึ้นในการเรียนการสอน เมื่อบวกกับความเก่งของครูสมัยนี้แล้ว เด็กไทยน่าจะได้ “ครูสอนดี” ที่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านทักษะการเรียนการสอน และจิตวิญญาณในการทำงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อศิษย์
ปิดท้ายกันด้วยครูจบใหม่ไฟแรง อ.รุ่งอรุณ โพธิกลาง จากคณะศึกษาศาสตร์เชียงใหม่ อายุ 22 ปี ที่เสนอว่า ครูสอนดี ไม่จำเป็นต้องสอนให้ตรงตามตำราเป๊ะๆ ได้แต่หลักการ แต่ครูสอนดีต้องเข้าใจเด็กด้วยว่า มีพฤติกรรมอย่างไร และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องตามเทรนที่นักเรียนต้องการ
“เช่น เวลาเรียนวิชาเราแล้วชอบนอนหลับ ครูก็ต้องมีหน้าที่ไปสืบค้น และพยายามหาวิธีแก้ไข ให้เขาสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสภาพจิตใจ เราอาจต้องลงลึกไปถึงเรื่องครอบครัว โดยที่ไม่ต้องสนใจว่า ศิษย์จะอยู่ห้องคิง หรือห้องท้าย” อ.รุ่งอรุณ กล่าว และเสริมว่า แม้เด็กสมัยนี้จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป แต่ก่อนพอครูพูดอะไรก็จะเชื่อ แต่เด็กสมัยนี้ ให้การบ้านไปยังไม่ค่อยยอมส่ง แถมไม่ค่อยยอมอ่านหนังสือเรียน ครูก็ต้องหาวิธีการทำให้เด็กรู้ตัว เช่น เริ่มใช้นักเรียนด้วยกันเองในการกระตุ้น เช่น ห้องเด็กเรียนดี ถ้าเพื่อนๆ เริ่มส่งงานกันหมดแล้ว เด็กที่ไม่ยอมส่งก็จะเริ่มรู้สึกว่า แตกต่างจากเพื่อนนะ ก็รีบส่งงาน หรือถ้าเป็นห้องท้ายๆ เราก็จะบอกว่า จะไปพบผู้ปกครองแล้วนะ ล่าสุดก็ทำสัญญากับเด็ก เขียนเลยว่า ข้าพเจ้า…กับครูได้ทำสัญญากันขึ้น ว่าถ้าไม่ตั้งใจเรียน แล้วติดศูนย์ ก็ต้องยอมรับผลการเรียนแบบนั้นนะ เด็กก็จะกลัว
“มองว่า งานครูเป็นงานที่มีเกียรติ มีความมั่นคง เปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆ ถ้าเกษียณแล้ว อาชีพครูคนยังมีความศรัทธา เวลาไปที่ไหนแล้วมีเด็กเข้ามาหา จะรู้สึกมีความภูมิใจมาก” ครูรุ่นใหม่กล่าวปิดท้ายด้วยความภูมิใจ
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน