‘เชลล์’ เดินหน้าสร้างความปลอดภัยบนถนน

ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจและแฟ้มภาพ


'เชลล์' เดินหน้าสร้างความปลอดภัยบนถนน thaihealth


“เชลล์” เดินหน้าโปรเจ็กต์ “เชลล์เติมความสุข” ใช้โรงเรียนต้นแบบ 12 แห่ง เป็นฐานเสริมอาชีพ สร้างทักษะให้ชุมชน วางเป้าขยายศูนย์การเรียนรู้เป็น 50 แห่ง แพลนออกแคมเปญระดมทุน เชิญลูกค้า-คู่ค้าร่วมโครงการ ล่าสุด เดินหน้าแคมเปญ สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤต


“อัษฎา หะริณสุต” ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2562 นี้ เชลล์ ยังคงเดินหน้าโครงการเพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะโครงการ “เชลล์เติมความสุข” ที่ดำเนินการมาแล้ว 4 ปี ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้โดยใช้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย รวม 12 แห่ง เป็น “ศูนย์ต้นแบบ” ซึ่งในแต่ละโรงเรียนจะได้รับการฝึกทักษะและให้ความรู้เพื่อนำไปประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินการมาแล้ว 4 ปี และค่อนข้างประสบความสำเร็จจากจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 20,000 คน ซึ่งขณะนี้เตรียมขยายรูปแบบดังกล่าวไปสู่โรงเรียนในพื้นที่อื่นอีกกว่า 50 แห่ง พร้อมกับช่วยพัฒนาอาชีพให้ประชาชนที่อยู่รอบโรงเรียน เช่น การให้ความรู้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ และการพัฒนาสินค้าของชุมชน


นอกจากนี้ สำหรับชุมชนที่ต้องการเงินลงทุนเพื่อสร้างอาชีพเลี้ยงครอบครัวนั้น จะมีการตั้งกองทุนเพื่อกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ เหมือนกับโครงการในพื้นที่อื่น ๆ โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการกู้ยืมเงินตามที่ชุมชนเสนอว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ และต้องใช้เงินลงทุนอย่างไร ทั้งนี้ สำหรับผู้ได้รับเงินกู้นั้น ทางโครงการจะมีการตรวจสอบตลอดว่าใช้เงินตามวัตถุประสงค์หรือไม่ รวมถึงยังเปิดโอกาสให้ชุมชนนำสินค้ามาวางจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันของเชลล์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 500 แห่งอีกด้วย


“เชลล์พัฒนาโครงการเชลล์เติมความสุขให้ดีขึ้นทุก ๆ ปี โดยในปีนี้มีแผนที่จะเชิญชวนลูกค้า-คู่ค้าเข้ามามีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยเชลล์ยังมีแนวคิดที่จะขยายการช่วยเหลือไปในกลุ่มเด็กพิการ เพื่อให้มีทักษะในด้านต่าง ๆ ที่ทำให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เชลล์ต้องการให้เกิดขึ้น”


นายอัษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละพื้นที่จะมีงบประมาณจากกองทุนเข้าไปสนับสนุน ซึ่งเชลล์นำมาจากการระดมทุนไปก่อนหน้านี้ด้วยการจัดแคมเปญ 1 บาท ต่อ 1 ลิตร คือ ทุกครั้งที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการทุก 1 ลิตร เชลล์จะมอบเงิน 1 บาท เข้ากองทุน ซึ่งในขณะนี้มีเงินรวมในกองทุน 25 ล้านบาท และในปีนี้กำลังพิจารณาจัดแคมเปญเพื่อระดมทุนอีกครั้ง ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้


“จะเห็นว่าการดำเนินการทางด้านความรับผิดชอบทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมของเชลล์มีถึง 2 ระดับ คือ เชลล์สร้างให้เกิด social enterprise ตั้งแต่ในโรงเรียนจนไปถึงระดับชุมชนลงทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ให้ทุนโดยตรง แต่ไม่ได้ให้ทั้งก้อน จะใช้วิธีทยอยเพื่อให้มีวินัยทางการเงินด้วย จะใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ไม่ได้ โดยชุมชนที่ยื่นขอเงินกู้ ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะส่งให้โรงเรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป”


ทั้งนี้ เชลล์ไม่ได้มีเพียงโครงการที่เสริมทักษะและสร้างอาชีพเท่านั้น ล่าสุด ได้จัดโครงการ “We Power Road Safety Digital Creator” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้คนรุ่นใหม่นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาออกแบบและผลิตสื่อดิจิทัล พร้อมทั้งต้องนำมาใช้ได้จริง เพื่อถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกฎ กติกา การใช้รถบนท้องถนน โดยจะเปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 มี.ค. 2562 นี้


'เชลล์' เดินหน้าสร้างความปลอดภัยบนถนน thaihealth


“อัษฎา” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า สถิติของการเสียชีวิตบนท้องถนนของไทยเกิดขึ้นจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดในเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนรถจักรยานยนต์ที่มีการใช้มากกว่า 20 ล้านคัน จากปัญหาดังกล่าวทำให้เชลล์มาเน้นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และร่วมมือกับพันธมิตร อย่างเช่น สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชลล์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างมาก จึงกำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกับพันธมิตรที่ประกอบด้วย 1) สร้างความตระหนักรู้ในการใช้ถนนอย่างปลอดภัย ผ่านกิจกรรมและสื่อต่าง ๆ 2) ให้ความรู้และปลูกฝังวัฒนธรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย 3) จัดอบรมทางลึกและฝึกทักษะให้ผู้ขับขี่ปลอดภัย ระมัดระวังทั้งในและนอกองค์กร และ 4) ร่วมมือกับภาครัฐในการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเสริมความรู้


“ยกตัวอย่างคือ เชลล์ได้ฝึกทักษะการขับรถน้ำมันให้กับพนักงาน ซึ่งจะมีการสร้างสถานการณ์จำลองเสมือนจริงเพื่อฝึกพนักงานขับรถน้ำมัน โดยใช้เวลาในการฝึกประมาณ 2-3 เดือน ภายใต้สภาพถนนที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ได้รู้ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างขับได้”


โดย “พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการ สคอ. ระบุว่า การเสียชีวิตบนถนนของไทยกำลังอยู่ในขั้น “วิกฤต” ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์เป็นหลัก และไทยยังมีจำนวนรถจักรยานยนต์อยู่ในระดับท็อปไฟฟ์ของโลก โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตบนถนนราว 20,000 กว่าคน หรือจะมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 50-60 คนต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างปีใหม่และสงกรานต์ ยกตัวอย่าง ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมามียอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 500 คน


ขณะที่ “รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดโครงการปลอดภัยทุกย่างก้าวจากบ้านถึงโรงเรียนเพื่อสอนและปรับเด็กให้มีพฤติกรรมที่ปลอดภัย รวมถึงให้เด็กมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา และช่วยกันแก้ปัญหาด้านความปลอดภัย สร้างตัวอย่างที่ดีให้เด็ก และต้องอยู่ภายใต้ผู้ดูแลที่ดีด้วย


ด้าน กีรติ ธนกิจเจริญพัฒน์ เจ้าของเกม Runster แอปพลิเคชันเกมออกกำลังกาย กล่าวว่า เป็นแอปพลิเคชั่นที่เล่นเกมพร้อมกับออกกำลังกายควบคู่กัน โดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุมและซิงค์เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นจอภาพ สามารถวัดการเบิร์นแคลลอรี่ ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกและเพลิดเพลินไปกับการออกกำลังกาย สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นในอนาคต จะพัฒนาเกมรูปแบบอื่นๆ ตามออกมาแน่นอน ที่ทำให้ผู้พัฒนาคนอื่น ๆ สามารถพัฒนาเกมเพื่อการออกกำลังกายง่ายมากขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code