เจาะเบื้องหลัง CSR ตำบลปริก
วิถีแห่งปริก…คิดแบบบ้านบ้าน ทำแบบเอกชน
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา คือที่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าใดนัก แม้แต่คนไทยเองก็ตาม เนื่องจากเป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่ไกลปืนเที่ยง
แต่วันนี้ “ชุมชนปริก” ยกระดับการพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นศูนย์พัฒนาชุมชนตัวอย่างที่คนไทยทั้งประเทศร่วมชื่นชมด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งในด้านภูมิปัญญา ความสามัคคี และรอยยิ้มของชาวปริก
ด้วยแนวคิด “วิถีแห่งปริก…คิดแบบ บ้านบ้าน ทำแบบเอกชน เพื่อตำบลน่าอยู่” ทำให้เทศบาลตำบลปริกบริหารจัดการภายในชุมชนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจกรรมและศูนย์เรียนรู้เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หลอมรวมคนในชุมชนให้มีหัวใจจิตอาสาอย่างจริงใจ ไม่เสแสร้ง แกล้งทำ
ก่อนหน้านี้หลังจากเทศบาลตำบลปริกร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ พบว่าเทศบาลแห่งนี้เกิดแหล่งเรียนรู้เพื่อสังคมในชุมชนมากมาย อาทิ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อชุมชน, ระบบอาสาสมัครเพื่อการดูแลสุขภาพ, โครงการ อสม.น้อย, อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ดูแล ผู้ป่วยเรื้อรัง ดูแลผู้พิการ และการจัดการขยะในชุมชน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ เรื่องการจัดการขยะในชุมชน แนวคิดก็คือ จากเดิมชุมชนแห่งนี้มีปัญหาเรื่องขยะล้นชุมชน ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง กระทบสุขภาวะคนในชุมชนอย่างหนัก กระทั่งคนในชุมชนพยายามหาทางทำลายขยะด้วยวิธีการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
ทั้งนี้ โดยมีรูปแบบการดำเนินการใน 3 ระยะ ได้แก่
1.ระยะเริ่มต้น ซึ่งมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนความคิด สร้างจิตสำนึกในชุมชน เริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลในชุมชนแต่ละแห่ง ซึ่งพบว่าแต่ละแห่งมีขยะล้น 8-10 ตัน/วัน
2.ระยะการเรียนรู้ คือ เมื่อคนในชุมชนมองว่า “ขยะ” เป็นปัญหาจึงมีแนวคิด “การจัดการขยะฐานศูนย์” ทำให้ขยะหมดไป ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยเริ่มขั้นตอนง่าย ๆ ด้วยการนำขยะอินทรีย์ที่คิดว่าไม่มีประโยชน์ แยกน้ำแยกกากให้หมดเพื่อนำมาทำปุ๋ยหมัก หรือทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในครัวเรือน เช่น นำน้ำหมักขยะไปรดน้ำต้นไม้
3.ระยะการร่วมคิด ร่วมทำ ขยายผลสู่ชุมชน โดยหลังจากแยกขยะเสร็จสรรพ การต่อยอดต่อไปก็คือ จัดตั้ง “ธนาคารขยะ” โดยชักชวนให้เด็ก ๆ ในชุมชน จัดตั้ง “กลุ่มเยาวชนอาสาประชาเป็นสุข”
ตัวอย่างกิจกรรมจากการจัดการขยะก็เช่น การจัดการขยะฐานศูนย์ทั้งในครอบครัวและโรงเรียน ส่งผลให้เกิดแนวคิดต่อยอดในการผลิตพลังงานจากปุ๋ยหมักชีวภาพโดยการผลิตก๊าซมีเทนในการหุงต้มทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนและใช้สอยในครอบครัว อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือ คนในชุมชนที่นี่โดยเฉพาะผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิต เพราะบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม และไม่ค่อยออกกำลังกาย คุณครูในโรงเรียนชุมชนท่านหนึ่งจึงปิ๊งไอเดียง่าย ๆ ว่า นักเรียนในโรงเรียนน่าจะสามารถดูแล ผู้ป่วยเหล่านี้ได้ จึงจัดตั้งโครงการ “หัวใจดวงน้อยดูแลผู้ป่วยความดัน-เบาหวาน”
การดูแลก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงนั่นก็คือ หลังกลับจากโรงเรียนแล้วเด็ก ๆ ในโครงการอาสาเหล่านี้จะตระเวนเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านด้วยการปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือถ้าบ้านใกล้เรือนเคียงกันหน่อยก็เดินไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้เฒ่าผู้แก่ ให้คำแนะนำที่ได้จากการเรียนสุขศึกษาในโรงเรียน ทั้งเรื่องการบริโภคอาหาร การออกกำลังกายและใจ เป็นต้น เรียกว่าเป็นพยาบาลรุ่นจิ๋วก็ว่าได้
งานนี้เด็ก ๆ ก็แฮปปี้ที่ได้ดูแลพี่ ป้า น้า อา ขณะที่ผู้ป่วยรุ่นใหญ่ก็รู้สึกปลื้มใจที่ลูก ๆ หลาน ๆ ไม่ทิ้งชุมชน “เด็กในโครงการรายหนึ่งฝันว่า…โตขึ้นหนูอยากเป็นพยาบาล ใส่ชุดสีขาว จะได้ มารักษาคนในหมู่บ้านที่ไม่สบายให้ หายป่วยค่ะ”
“น.พ.ประเวศ วะสี” ราษฎรอาวุโส ให้เครดิตกับชุมชนบ้านปริกว่า “…นี่ถือเป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจชุมชนกับระบบเศรษฐกิจมหภาคที่เกื้อกูลกันได้อย่างน่าชื่นชม”
ขณะที่นักธุรกิจเอกชนหลายคนลงพื้นที่ศึกษาดูงานบ้านปริก ถึงกับเอ่ยปากว่า นี่คือ csr เพื่อชุมชน โดยชุมชน อย่างแท้จริง
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเล่าว่า จริง ๆ แล้วแต่ละโครงการในชุมชนไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่ต้องการให้คนในชุมชนรัก ช่วยเหลือและเอาใจใส่บ้านเกิดให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและพอเพียงก็เท่านั้นเอง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ในการตอบแทนสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน ของวิถีชุมชนเล็กๆ วิถีชุมชนแห่งปริก…คิดแบบบ้านบ้าน ทำแบบเอกชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
update: 03-05-53
อัพแดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร