เจาะลึก 7 วิจัยเด็กไทย ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
อาจเป็นกระจกอีกบานที่สะท้อนคุณภาพชีวิตเด็กไทยเทียบกับเด็กทั่วโลก เมื่อผลการศึกษาจาก"โครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21" ซึ่งจัดทำโดยศูนย์พัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่กำลังสะท้อนว่า การพัฒนาคุณภาพเด็กไทย ไม่อาจมองเฉพาะมิติด้าน "สุขภาพ" หากแต่ยังครอบคลุมบริบทและความหลากหลายมิติของชีวิตเด็ก
โครงการดังกล่าวมีการจัดทำวิจัย ชุดโครงการวิจัยย่อย 7 โครงการ ใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.โครงการศึกษา งบประมาณรายจ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาเด็ก ในช่วงอายุ 0-3 ปี ในประเทศไทย 2.โครงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างครอบครัวประเภทต่าง ๆ บทบาทของบิดาและมารดากับการดูแลพัฒนาการของเด็กช่วงอายุปฐมวัยในประเทศไทย 3. โครงการความสุขของเด็กไทยในวัยเรียน:เด็กประถมศึกษา 6-12 ปี และ 4 ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีความสุขที่เพิ่มขึ้น 4.โครงการกวดวิชาในบริบทของระบบการศึกษาไทย ณ ศตวรรษที่ 21 5.โครงการการศึกษาการเล่นเกมของเด็กไทย 6.โครงการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสะเต็มศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุค 4.0 และ 7.โครงการพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน
ซึ่ง ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ประโยชน์ของการศึกษาคือผลการศึกษาจากงานวิจัยทั้ง 7 โครงการ จะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ การสังเคราะห์เชิงนโยบาย การสร้าง โมเดลระดับพื้นที่เพื่อช่วยในการส่งเสริมการพัฒนาเด็กที่เชื่อมโยงจากบ้านสู่ระบบการศึกษาและเข้าสู่ภาคแรงงานของเยาวชน
แม้ช่วงเวลาสำคัญที่สุดของพัฒนาการเด็กคือช่วงอายุ 0-3 ปี ซึ่งควรให้ความสำคัญส่งเสริมพัฒนาการในช่วงปฐมวัยมากที่สุด แต่ข้อมูลจาก รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์และผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูลนักเศรษฐศาสตร์ ในฐานะตัวแทนผู้จัดทำโครงการศึกษางบประมาณรายจ่ายภาครัฐ เพื่อการพัฒนาเด็กในช่วงอายุ 0-3 ปีในประเทศไทยได้เสนอรายงานการศึกษาพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 สวัสดิการภาครัฐ ของไทยเพื่อการพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0-3 ปีทั้งหมดอยู่ที่ 58,508 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ร้อยละ2.0 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของจีดีพี และหากคิดเป็นงบประมาณต่อคนจะพบว่าเท่ากับ 22,806 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น
ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่จัดสรรให้เด็กที่มีอายุ 3-17 ปี ที่อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบประมาณก้อนนี้อยู่ประมาณ 405,174 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีถึงร้อยละ 13.5 คิดเป็น 2.6 ของจีดีพี คิดเป็นงบประมาณต่อคน 34,837 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าของ การลงทุนเด็กช่วงวัย 0-3 ปี ในทุก ๆ ด้านถึง 1.5 เท่า
ผลการศึกษาดังกล่าว ยังได้นำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย ไว้ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ขยายสิทธิการฝากครรภ์ของมารดาภายใต้ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า และให้ขยายสิทธิ์ ในการฝากครรภ์นอกพื้นที่ตามทะเบียนบ้านได้ 2.ต้องมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดู เด็กแรกเกิดแบบมีเงื่อนไขที่ผูกกับ การประเมินพัฒนาการเด็กตามช่วงวัยและ โภชนาการ คือ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 30,918 ล้านบาท 3.โครงการอาหารเช้าของเด็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยรัฐสนับสนุนเด็กแรกเกิด ในศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มงบ 3,142 ล้านบาท
กรณีพื้นที่เขตเทศบาลเพิ่มงบประมาณ 1,757 ล้านบาท 4.สนับสนุนให้มีนักโภชนาการท้องถิ่น 5.เพิ่มทางเลือกในการเลี้ยงดูเด็กเล็กช่วงอายุ 1-2 ปี เช่น ขยายเกณฑ์การรับดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้นและ 6.โครงการรณรงค์การลดปริมาณการใช้ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่เกินความจำเป็นและรณรงค์การกำจัดขยะผ้าอ้อมให้ถูกต้อง
ขณะเดียวกัน อีกผลสำรวจจาก โครงการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างครอบครัวประเภทต่าง ๆ บทบาทของพ่อ และแม่กับการดูแลทางสาธารณสุขและ พัฒนาการเด็กช่วงอายุปฐมวัยในประเทศไทยโดย ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล นักเศรษฐศาสตร์ผู้จัดทำโครงการดังกล่าว เอ่ยว่าถ้าเด็กอยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ในบ้าน อาทิ อาจจะอยู่กับญาติ หรือถูกรับมาเลี้ยง เด็กเหล่านี้จะถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังมากกว่าครัวเรือนแบบอื่น ๆ นอกจากนั้น อีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยง คือครัวเรือนที่แม่ ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วย จะได้รับโอกาสการเลี้ยงดู ด้วยนมแม่น้อยกว่าเด็กในครัวเรือนอื่น ๆ แม้จะมีการควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ครบถ้วน
อย่างไรก็ดี หากในทุกครัวเรือนมีการส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กทำส่งผลต่อพัฒนาการอย่างชัดเจน โดยพบว่า การที่ครัวเรือนมีนิทานติดไว้ที่บ้านให้ลูกและ การที่พ่อพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน มีผลเชิงบวกต่อพัฒนาการทางพฤติกรรม ที่สมวัยของเด็ก
ผศ.ยศวีร์ สายฟ้า คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนผู้จัดทำโครงการความสุขของเด็กไทยในวัยเรียน : เด็กประถมศึกษา (6-12 ปี) เปิดเผยผล การวิจัยที่ได้ศึกษาข้อมูลจากนักเรียน ป.1-6 ทั้งในโรงเรียนรัฐและเอกชน จำนวน 3,282 คน ทั่วประเทศว่า เด็กประถมมีความสุขระดับปานกลาง และ 4 ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีความสุขที่เพิ่มขึ้น คือ ครอบครัว โรงเรียน โภชนาการ และการเล่น
"กิจวัตรประจำวันของเด็กส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง มีเวลารับประทานอาหารกลางวันไม่ถึง 15 นาที เพราะ มีกิจกรรมอื่นของโรงเรียนมาเบียดบังเวลา สำหรับการเล่นของเด็กพบว่า ร้อยละ 98.05 ระบุว่า ได้เล่นในแต่ละวัน แต่เป็นการเล่นกับอุปกรณ์เทคโนโลยีหรือโทรศัพท์มือถือ พูดคุย ไม่ใช่การเล่นแบบการเคลื่อนไหวร่างกาย บางส่วนระบุด้วยว่า ชอบและมีความสุขที่ได้เล่นกับพี่น้องตนเอง เพื่อน ตามลำดับ และมีความสุขที่ครูเข้ามาพูดคุยด้วยความเข้าใจ ส่วนการเรียนพิเศษของเด็กนั้นพบว่า เด็กประถมร้อยละ 60 เรียนพิเศษหรือติวเข้มเพื่อการสอบเข้าและสอบโอเน็ต ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบว่า เด็กป. 1 มีความสุข มากกว่า เด็ก ป.6 เพราะป.6 ต้องสอบโอเน็ตและสอบเรียนต่อ ม. 1" ผศ.ยศวีร์ เผย
งานวิจัยยืนยันว่า เด็กที่อยู่กับพ่อแม่ มีความสุขมากกว่าเด็กที่อยู่กับบุคคลอื่นหรือ พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และเด็กมีความสุข ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานบ้าน โดยพบว่า ร้อยละ 80 มีส่วนช่วยงานบ้าน เด็กรู้สึกว่า ตนเองมีความสำคัญต่อครอบครัว ซึ่ง ต่างจากความรู้สึกของผู้ใหญ่ที่มองว่า เด็กปัจจุบันไม่ค่อยช่วยงานบ้าน
ด้าน รศ.ดร.วีระ ปาติยเสวี ตัวแทนผู้จัดทำโครงการการศึกษาการเล่นเกมของเด็กไทย กล่าวว่า นักเรียนที่มาจากโครงสร้างครอบครัวแบบแหว่งกลางจะมีเวลาเล่นเกมสูงกว่านักเรียนที่มาจากโครงสร้างครอบครัวลักษณะอื่น และเพื่อนในห้องหรือพี่น้องที่บ้านเล่นเกมมีผลทำให้เด็กโดนชักจูงให้เล่นเกมได้ง่าย สำหรับการใช้เงินจ่ายไปกับเกมนั้น เด็กจะเติมเงินเพื่อซื้อของภายในเกมหรือเติมเงินอินเทอร์เน็ตตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหมื่นบาท ดังนั้น ข้อเสนอแนะอยากให้โรงเรียนมีการดูแล ในเรื่องการใช้มือถือที่โรงเรียน ขณะที่ ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการ จัดทำเอกสารให้คำแนะนำผู้ปกครอง การคัดกรองโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต จำกัดอายุการเติมเงิน ที่สำคัญผู้ปกครองต้อง ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับเกม และประเมินการเล่นเกมของบุตรหลาน
ดร.ณัฏฐ์ ภูริพัฒน์สิริ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงผลวิจัยเรื่อง การกวดวิชาในบริบทของระบบการศึกษาไทย ศตวรรษที่ 21 ตอนหนึ่งว่า ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันการกวดวิชามีความจำเป็นต่อเด็กที่ต้องการพัฒนาความสามารถทางวิชาการในทุกระดับ การศึกษา ทั้งพบว่ามีสถาบันกวดวิชา จำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ด้านปริมาณพบว่า เด็ก ป. 6 ร้อยละ 67.02 เด็ก ม. 4 ร้อยละ 52.70 มีการ กวดวิชานอกเวลาเรียนปกติ และนักเรียนที่กวดวิชามีความสามารถด้านคิดวิเคราะห์ ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กวดวิชา และพบด้วยว่า ครูในโรงเรียนร้อยละ 35 มีรายได้อื่นนอกจากอาชีพครู โดยร้อยละ 52.05 ของครูที่มีรายได้อื่นมาจากการสอนพิเศษของโรงเรียน และร้อยละ 15.38 ของครูที่มี รายได้อื่นมาจากการเป็นติวเตอร์
สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการกวดวิชานั้น ดร.ณัฏฐ์ กล่าวว่า พบว่าผู้ปกครองมีความคาดหวังในบุตรหลานให้มีความสามารถในการแข่งขันกับคนอื่น ขณะที่ ครูก็สอนไม่สอดคล้องกับหลักสูตรหรือมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากการสอน และ พบว่าการวัดประเมินผลนักเรียนไม่สอดคล้อง กับการเรียนการสอนจริงในห้องเรียนรวมทั้งการสอบที่มีมากเกินไป เช่นข้อสอบโอเน็ตแก็ตแพ็ตวิชาสามัญ 9 วิชาทำให้เด็กต้องกวดวิชาเพิ่มรวมทั้งการออกข้อสอบที่ยากและลึกเกินกว่าหลักสูตรดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงควรคืนครูให้กับนักเรียนและควรลดการจัดสอบต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนดังกล่าวให้เหลือเพียงข้อสอบที่เป็นแบบวัดกลางฉบับเดียวที่มีมาตรฐาน
ขณะที่ อัครนัย ขวัญอยู่ นักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผย 4 ปัจจัย จากผลศึกษา โครงการพัฒนาความฉลาดรู้ ด้านสะเต็มศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุค 4.0 ว่า ปัจจัยมีผลต่อการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสะเต็มศึกษา 4 ด้าน คือ 1 .ครอบครัว พบว่า ระดับสถานะทางเศรษฐกิจสังคม และระดับการศึกษาของ ผู้ปกครอง 2.สุขลักษณะของเด็ก พบว่า เด็กที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พฤติกรรมทางด้านอารมณ์ สังคม มีสัมพันธ์ในทิศทางบวกกับทักษะด้านสะเต็มศึกษา 3.ลักษณะของโรงเรียน พบว่า ที่ตั้ง ขนาดโรงเรียน ชั้นเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ สะเต็มศึกษา และ 4.ครูผู้สอน แสดงความสนใจนักเรียนทุกคนอย่างทั่วถึงและกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง การพัฒนาทักษะทางสะเต็มที่ดีกว่า
เด็กและเยาวชนนั้นถูกมองว่าเป็น วัยที่มีพลังและมักเป็นความหวังให้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมในอนาคต แต่ปัจจุบันเด็กบางกลุ่มอาจมีพฤติกรรมขาดเป้าหมายและทักษะในชีวิต ซึ่งอาจนิยามเด็กกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม NEET
ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ และ ภัทรพิม ทองวั่น ตัวแทนในการนำเสนอรายงานโครงการพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม และเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในกิจกรรมการสะสมทุนมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเหมาะสม กล่าวว่าการศึกษาเยาวชนในช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี ในปี 2562 ที่ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม มีระดับการพัฒนาทักษะชีวิตต่ำกว่าเยาวชนอื่น ๆ ในทุกด้าน รวมถึง มีมุมมองและแนวคิดในการทำงาน แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีผลมาจากครอบครัว สภาพแวดล้อมในครอบครัว ประสบการณ์ตรงที่บุคคลได้มีปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า ณ ปัจจุบันกับเพื่อน และสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการของบุคคล โดยเฉพาะในการพัฒนาทักษะชีวิต
โดยเยาวชนช่วงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 4 คือกลุ่มมีความเสี่ยงในการเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ NEET สูง ดังนั้นการป้องกันจะต้องมีกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยต้องสร้างเป้าหมายในชีวิตและแนวทางการเข้าสู่เป้าหมายที่เหมาะสม สร้างความเข้าใจกับครอบครัว และสร้างโอกาสในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครัวเรือน เน้นกิจกรรมทางสังคมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในชุมชน พัฒนาระบบที่ขยายโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาโมเดลการช่วยเหลือในระดับพื้นที่โดยใช้ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ รวมถึงต้องเน้นกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสร้างแรงจูงใจที่ดี เพื่อส่งเสริมแนวทางการใช้ชีวิตและเข้าสู่ตลาดงานอย่างเหมาะสม
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนให้มีการจัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เด็กต้องเผชิญรวมถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรค และ ส่งเสริมต่อการพัฒนาเด็กในทุกช่วงวัย รวมถึงผลการรายงานจะเป็นการแสดง ให้เห็นถึงการสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนา ทุกมิติในทุกช่วงวัยเด็กเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีทักษะศตวรรษที่ 21 จริงหรือไม่อย่างไร
จากการรายงาน พบว่างบประมาณในการสนับสนุนพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทยยังน้อยเกินไป ความสุขเด็กไทยในวัยเรียนเหลือน้อย วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ล้วนเป็นผลมาจากการสะสมความเครียดตั้งแต่เด็ก จากโครงสร้างครอบครัวที่มีความพร้อมแตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำคุณภาพของสถานศึกษา การแข่งขันในระบบการศึกษา เด็กแถวหลังที่ถูกละเลยจนเกิดเป็นกลุ่มที่อยู่เฉย ๆ ไม่เรียน ไม่ทำงาน ปรากฏการณ์นี้ล้วนพบทั้งจากเด็กครอบครัวฐานะดีและครอบครัวที่ยากไร้
"ขณะนี้ สสส.ได้นำผลงานวิจัยที่ 7 โครงการย่อย มาเป็นส่วนหนึ่งในการ จัดแผนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อที่จะพัฒนาเด็กให้มีคุณลักษณะที่พร้อมใน 10-20 ปีข้างหน้า อีกทั้งจะทำการเผยแพร่ผลรายงาน ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่มีความชัดเจนทั้งในเชิงนโยบาย สำหรับภาครัฐและภาคเอกชน จะนำเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายในส่วนของ ภาครัฐ และทำความเข้าใจกับภาคเอกชน สถานประกอบการต่าง ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน ในข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ เช่น ขยายวันลาคลอด และจ่ายเงินเดือนให้แก่แม่ ในตลอดช่วงที่ลาคลอด หรือ ภาครัฐต้องลงทุนแก่เด็กปฐมวัยมากขึ้น
เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ ครอบครัว อันนำไปสู่การพัฒนาเด็กที่ดี และจะนำไปสู่การพัฒนาสนับสนุนทรัพยากรบุคคล เด็กจะเติบโตกลายเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศ ที่มีคุณภาพ" ณัฐยา กล่าวthaicasinobinสล็อต