เจาะปัญหาสังคมสะท้อนผ่าน ‘สื่อ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องเป็น ปีที่ 5 แล้ว สำหรับ นิทรรศการผลงานสร้างสรรค์สื่อสะท้อนปัญหาสังคม "UNC The Exhibition 2018" ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ปี 5
ซึ่งเป็นผลงานของนิสิตนักศึกษา 12 มหาวิทยาลัยที่มาร่วมพลังสร้างสื่อสะท้อนปัญหาสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหา โดยความร่วมมือระหว่าง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย องค์กรภาคีภาคประชาสังคม และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สำหรับปีนี้ มีการตั้งโจทย์หลักที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคม 4 หัวข้อ คือ ปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม, การกำจัดขยะ, ปัญหาเรื่องส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรม, ศิลปะรับใช้ชุมชน, การท่องเที่ยวชุมชน และสุดท้าย คือ ปัญหาเรื่องของอาหารวันนี้ โดยให้นิสิตนักศึกษาเลือกหัวข้อที่สนใจ และไปค้นคว้าข้อมูล หาวิธีสื่อสารกระตุ้นให้สังคมรับรู้ถึงปัญหา ได้ออกมาเป็นผลงาน 23 ชิ้นฝีมือของน้องๆ ซึ่งกำลังศึกษาในสาขาวิชาด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อการสื่อสาร จำนวน 12 สถาบัน 14 คณะ 15 สาขาวิชา
"น้องๆ ต้องไปเห็นงาน ลงพื้นที่ และไปโดนใจกับอะไรซักอย่าง แล้วผลิต ชิ้นงาน พอผลิตออกมาแล้วก็ต้องอดทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์ ซึ่ง บางคำวิจารณ์ก็เจ็บจี๊ดในใจ บางคนก็เกือบจะทนไม่ไหว แต่ต้องบอกว่า นั่นคือชีวิตจริง ถ้าชีวิตจริงน้องๆ นักศึกษาสามารถทนคำวิจารณ์ของลูกค้าไม่ได้ ก็ต้องอยู่บ้านทำงานศิลปะของตัวเองไป แต่ถ้าเรายอมอดทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์ ของเพื่อนได้และของลูกค้าได้ เราก็จะเติบโตต่อไป งานของเราก็จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ แล้วถ้าเราเติมคำว่า value (คุณค่า) เข้าไป น้องๆ ทุกคนก็จะมีความหมายมากขึ้น" ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลฯ ให้ข้อมูลถึงเบื้องหลังกว่าจะเป็นนิทรรศการนี้
ซัลมา เป็นสุข ตัวแทนนักศึกษาจากสาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกเล่าถึงที่มาของผลงาน "หิวมานิห์" ภายใต้ประเด็นปัญหาเรื่องของอาหารวันนี้ โดยนำเสนอประเด็นอาหารพื้นบ้านที่กำลังจะหายไปพร้อมแนะนำแหล่งขาย ซัลมา สะท้อนความเปลี่ยนแปลงหลังเข้าร่วมโครงการว่า จากเดิมที่เคยคิดว่า ตัวเองน่าจะไม่เก่ง ทำงานไม่ได้ แต่พอได้ลอง ก็ได้รู้อะไรใหม่ๆ ได้พิสูจน์ตัวเองว่า ทำได้ "ยิ่งพอได้เห็นงานของเพื่อนๆ ได้แลกเปลี่ยนงานกัน เราสามารถนำปัญหาของเราออกมาเผยแพร่ให้กับสังคมได้เห็นเหมือนกัน"
สำหรับทีมนักศึกษาสาขานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เลือกหัวข้อประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม, การกำจัดขยะ นำเสนอผ่านผลงาน "สื่อให้รู้สู่ที่ทิ้ง (ขยะ) รณรงค์ขยะที่ชายหาดบางแสน" โดย ฐิติวัสส์ ธรรมะ ตัวแทนนักศึกษาร่วมสะท้อนว่า "เราทำเรื่องเกี่ยวกับขยะที่หาดบางแสน เพราะบางแสนมีขยะเยอะมาก ทั้งๆ ที่ถังขยะมีเพียงพอ แต่ขยะก็เกลื่อนไปหมด ก็เลยคิดว่าในสายที่เราเรียนเราสามารถทำอะไรที่จะนำไปใช้กับชุมชนได้บ้างเราก็เลยทำข้อมูลกราฟฟิคเพื่อบอกข้อมูลกับนักท่องเที่ยว"
ส่วนผลงาน Recommemt โดยนักศึกษาสาขาออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปาณิศา เสริมสุธีอนุวัฒน์ เป็นตัวแทนเล่าถึงประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ผลงานเป็นการออกแบบสื่อเพื่อลดการคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์
"กลุ่มเราเห็นว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์เป็นปัญหาที่คนทุกคนเคยพบเจอ แต่กลับเพิกเฉย ไม่รู้ถึงผลกระทบว่าเป็นอย่างไร จึงอยากทำสื่อเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น การมาทำงานในโครงการ UNC ได้เรียนรู้หลายอย่าง เช่น เรื่องการคุกคามทางเพศ เมื่อก่อนคิดว่า เป็นเรื่องไกลตัว ไม่คิดว่าจะร้ายแรง แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก และมันไม่ควรเกิดขึ้น เราเลยอยากให้เพื่อนๆ ลองคิดให้ดีก่อนจะคอมเม้นต์ ให้คิดและไตร่ตรองก่อน ก่อนที่จะคอมเม้นต์อะไรออกไป"
ส่วน สุพิชชา วนาภรณ์ นักศึกษาสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนประเด็นปัญหาเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม, ศิลปะรับใช้ชุมชน, การท่องเที่ยว ผ่านผลงาน "พินิจ พิศ ณุโลก" เป็นการสื่อสารการออกแบบสื่อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งความรู้ด้านวัฒนธรรมในเขตเมืองและจังหวัดพิษณุโลก โดยผลิตสื่อแผนที่บอร์ดเกมและแผ่นโบรชัวร์
"กลุ่มเราต้องการที่จะให้คนมา ท่องเที่ยวได้รู้ว่า จังหวัดพิษณุโลก มีสถานที่เที่ยวอะไรบ้างที่ unseen ที่นักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก เพื่อเป็นการช่วยชุมชนอีกทางหนึ่ง สิ่งที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้และเอาไปใช้ได้จริงคือได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ได้นำความคิดของคนหลายคนมาเป็นไอเดียเดียวกัน เป็น สิ่งที่ยาก คิดว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่นต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย และมีแนวคิดเพิ่มว่า นักศึกษาเองมีหน้าที่ที่จะช่วยชุมชน เพราะเราก็อยู่ในชุมชน"
ขณะที่ นิสิตจาก สาขานฤมิตศิลป์-เรขศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกหยิบประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม/การกำจัดขยะ มาสร้างสรรค์เป็นผลงาน "Break the Box" จากแนวคิดการสื่อสารสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณท์เพื่อลดการสร้างขยะประเภทกระดาษที่เกิดจากกล่องของขวัญ ไตรภพ จิระวุฒิกุล เป็นตัวแทน เล่าถึงเหตุผลที่อยากสื่อสารประเด็นปัญหาของขยะ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ ที่ทำให้ขยะเพิ่ม มากขึ้น อย่างเช่น การให้ของขวัญ กล่องของขวัญ หรือกระดาษห่อของขวัญ เมื่อเราให้กับผู้รับไปแล้ว ทางผู้รับไม่ได้เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ ก็เกิดเป็นขยะ จึงมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้กล่องของขวัญชิ้นนี้นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ
"การเข้าร่วมโครงการนี้ มีอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นความรู้ใหม่นอกจากที่เคยเรียนมา และนำไปต่อยอดความรู้เดิมได้ ความรู้ใหม่ก็คือเดิมผมไม่ได้เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมมาก แต่พอได้เริ่มมาทำโครงการก็เริ่มเรียนรู้ว่า ที่เราทำกันมาเป็นประจำนั้น เราสร้างขยะ ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่ดี และคิดว่า เรารักโลกอย่างเดียวไม่ได้ มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ต้องคิดต่อว่า ถ้าเราลดทรัพยากรอย่างหนึ่งแล้วเราไปเพิ่มทรัพยากรอีกตรงหนึ่งให้เพิ่มมากขึ้น มันจะเป็นการรักโลกจริงๆ หรือเปล่า"
เมื่อถามความเห็นของ ดร.บุญชู บุญลิขิตศิริ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์สาขา ทัศนศิลป์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยบูรพา เขาร่วมสะท้อนถึงการส่งนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมว่า
"สิ่งที่เห็นแล้วรู้สึกดีใจก็คือเด็ก เถียงกันในห้อง แต่เถียงกันบนฐานของข้อมูลเพื่อเอาข้อมูลมาคุยกัน อย่างปีนี้ เมื่อ UNC ให้โจทย์มา 4 โจทย์ เราก็เริ่มจากการทำประชาพิจารณ์กันก่อนว่า ในพื้นที่เราอะไรสำคัญที่สุด สุดท้ายได้เรื่องขยะมาซึ่งมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ทุกคนก็รู้ว่าขยะที่บางแสนมันเยอะมาก เขาก็ไปเก็บข้อมูลกัน พอเขาได้ข้อมูลมา เขามาทะเลาะกันในห้อง ทะเลาะกันด้วยข้อมูล ข้อมูลแต่ละคนเก็บมาไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็ต้องเอามาพิสูจน์ สังเคราะห์ จนได้ข้อมูลชุดหนึ่งและนำมาทำงานต่อ"
เพราะการตั้งคำถาม หรือ ฉุกคิดกับเรื่องใดๆ ถ้าไม่หยุดไว้เพียงแค่นั้น ก็มักจะนำมาสู่การแก้ปัญหา หรือคิดหาทางออกได้ในที่สุด นั่นหมายความว่าผลลัพธ์ปลายทางที่สำคัญกว่าผลงานที่น้องๆ ได้สร้างสรรค์ออกมา จึงเป็นการปลูกฝังให้เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ให้รู้จักหันมองรอบตัวก็จะพบปัญหา แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าไม่ปล่อยผ่านไป สังคมก็จะดีขึ้นได้