“เจอปัญหาแล้วสู้ ไม่ดูดาย” คืนสปิริตลำพูนสู่เยาวชน
ที่มา : เว็บไซต์ The Potential
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ The Potential
งาน ‘สืบฮีต สานฮอย ฮ้อยกำกึ๊ด คนฮักหละปูน’ ครั้งที่ 2 คืองานประจำจังหวัดที่รวมเอางาน “บุญตานข้าวใหม่ ปู๋จาพระธาตุเจ้าหริภุญชัย” และงาน “พลังเยาวชนคนหละปูน” จัดขึ้นพร้อมกัน ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ณ ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเยาวชน
นับเป็นการจับมือร่วมกันทำงานหลายภาคส่วน นำโดย สถาบันวิจัยหริภุญชัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล
แม้เป็นงานบุญประจำปี แต่ผู้จัดก็ซ่อนโจทย์ไว้ในงาน นั่นคือ การส่งต่อ ‘สปิริตลำพูน’
‘สปิริตลำพูน’ ในที่นี้หมายถึงจิตวิญญาณของความเป็นคนลำพูน การรู้จักและภูมิใจในรากเหง้า เห็นคุณค่าของภูมิปัญญา ฮีตฮอย และการไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาของบ้านเมือง
แต่การส่งต่อ ‘สปิริต’ นั้นไม่ง่ายเพราะปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทั้งภาวะความเป็นเมืองที่ต่างคนต่างอยู่และทำงาน เมืองอุตสาหกรรม ปัญหาสารเคมี การเกษตร สิ่งแวดล้อม ปัญหาการศึกษา และความมั่นคงในครอบครัว
ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ คำถามคือ ผู้ใหญ่จะส่งต่อ ‘สปิริตลำพูน’ ที่ไม่นิ่งดูดาย ให้เยาวชนลุกขึ้นมาร่วมรับผิดชอบอย่างไร?
“ต้องเล่าก่อนว่า เดิมทีวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ จะมีพญาข้าวเปลือกอยู่คู่กับวัดพระธาตุ แต่พญาข้าวเปลือกนี้หายไปเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ปีที่แล้วเราจัดทำพญาข้าวเปลือกขึ้นใหม่ซึ่งทำจากไม้ขนุน และได้ฟื้นฟูประเพณีการแห่พญาข้าวเปลือกขึ้น ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่เป็ง
“ถามว่าทำไมปีนี้จึงชูงานเยาวชนขึ้นร่วมกับงานตานข้าวใหม่นี้? ต้องเล่าอีกเช่นกันว่า เดิมทีสถาบันหริภุญชัยทำงานกับละอ่อนในนามเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูนอยู่แล้ว แต่การทำงานขาดหายไปเพราะเด็ก ๆ โตขึ้น การเชื่อมต่อระหว่างกันก็หายไประยะหนึ่ง พอทางโครงการ active citizen เข้ามาชวนมูลนิธิฯ ให้ร่วมทำงานด้านเยาวชน จึงเอื้อให้เราได้กลับมาฟื้นฟูเครือข่าย และถือเป็นโอกาสดีที่จะสานต่อโครงการ
“อีกประเด็นคือ และเพราะเมืองลำพูนเองได้ชื่อว่าเป็นเมืองอายุยืน เป็นเมืองที่มีผู้สูงอายุมากติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ เป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงาน” คือคำอธิบายถึงจุดประสงค์และที่มาที่ไปของงานมหกรรม จากหนึ่งในแม่งานอย่าง วันเพ็ญ พรินทรากุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน
ในฐานะแม่งาน ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน หรือที่เรียกว่า ‘โหนด’ จังหวัดลำพูน คนทำงานกับเยาวชนและพี่เลี้ยงมาตั้งแต่จุดสตาร์ท วันเพ็ญเล่าว่า การเดินทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะไม่ใช่การทำงานกับเยาวชนที่มีแต้มต่อทางสังคม
“เด็กที่ทำโครงการกับเรา เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงราว 80 เปอร์เซ็นต์ เด็กที่เรียบร้อยหรือพร้อมหน่อย มีแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เราจึงหวังว่าโครงการนี้จะไปสร้างโอกาส สร้างพื้นที่ สร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างให้กับละอ่อนได้” วันเพ็ญ อธิบาย
15 โครงการ 8 อำเภอ คือโครงการและประชากรเยาวชนที่มาจัดแสดงงานในวันนั้น แม้ 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในโครงการจะเป็นเยาวชนที่วันเพ็ญห่วงใยเป็นพิเศษ แต่พลังที่เด็ก ๆ แสดงในวันนี้ เข้าตาและได้ใจผู้ใหญ่หลายคนในงาน
“มันสนุกมากที่ได้ยินน้อง ๆ ทุกพื้นที่เล่าให้ฟังว่าทำไมเขาถึงทำ มันยากไหม สนุกตรงไหน เรียนรู้อะไร จบโครงการแล้วจะทำอะไรต่อ แววตาที่เป็นประกายของน้องๆ ทำให้เรารู้เลยว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเราคือการทำให้คนรุ่นใหม่มีประกายตาแห่งความสนุก ตื่นเต้น ภาคภูมิใจแบบนี้
“สำหรับสังคมไทย เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นอกจากทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ที่พวกเขาจะได้เติบโตและใช้ศักยภาพของเขาได้เต็มที่” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. สะท้อนบนเวทีเปิดการแสดงตอนกลางคืน
ขณะที่ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวเช่นกันว่า “อยากแสดงความยินดีกับคนจังหวัดลำพูนว่าท่านมีลูกหลานที่เก่งกล้าสามารถ ความสำคัญของโครงการที่น้อง ๆ ทำ อยู่ที่ ‘ได้ทำ’ และมันมีความหมายเนื่องจาก ‘ผู้ใหญ่ทั้งหลายให้โอกาส’
“น้อง ๆ ได้เรียนรู้ชุมชนของตัวเอง จากที่เคยเห็นก็มาทำความเข้าใจ และจากที่เข้าใจก็เลือกโครงการมาทำจนสำเร็จ หลายโครงการอยากจะเลิกหลายรอบ เจอปัญหาแต่ก็สู้และอดทน เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่เวลาเจอปัญหา แล้วสู้แบบน้อง ๆ
“และนี่คือเป็นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เขาไม่ได้จากในโรงเรียน โจทย์ที่เขาดึงจากชุมชนเป็นโจทย์ชีวิตจริงแท้ๆ เราได้เรียนรู้กับมัน การที่จะต้องแก้ปัญหาก็เป็นการแก้ปัญหาจากเรื่องจริง สำเร็จจริง และเอามาใช้ประโยชน์ได้จริงในชุมชน”
คีย์เวิร์ดเรื่อง ‘คนรุ่นใหม่’ และ ‘การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ คือโจทย์เดียวกับที่คนทำงานอย่างวันเพ็ญเห็น อย่างที่เธอให้นิยามว่า ‘ละอ่อนทุกวันนี้ แม้นั่งอยู่กับที่ แต่เขาไปทั่วโลก’ คุณูปการของโครงการนี้สำหรับเธอ จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้โลกของเด็ก และยังเป็นพื้นที่ให้ละอ่อนเอง ก้าวเข้ามาเรียนรู้วิธีคิดของผู้ใหญ่ เพื่อหวังว่านั่นจะเป็นโอกาสในการส่งต่อ ‘สปิริต’ ชาวหละปูนต่อไป
“เราทำงานกับเยาวชนมาเกือบปี นอกจากเห็นว่าเขามีศักยภาพอย่างไร ยังเป็นโอกาสของผู้ใหญ่อย่างเราด้วยที่จะใช้พลังเยาวชนมาหนุนเสริมและสืบทอดประเพณี”
ความคาดหวังของวันเพ็ญบรรลุผลแน่นอน หลักฐานคือจากทั้งหมด 15 โครงการ ละอ่อนหละปูนทำโครงการเกี่ยวกับวัฒนธรรมอยู่ 12 โครงการ ที่เหลืออีก 3 โครงการเป็นประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ด้าน ชีวัน ขันธรรม หัวหน้าโครงการและผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น หนึ่งในทีมพัฒนาเยาวชน ‘โหนด’ จังหวัดลำพูน กล่าวถึงความคาดหวัง
“เราคาดหวังจากงานมหกรรมไว้สองส่วน ส่วนแรก-เราต้องการสร้างการเรียนรู้ในการบริหารจัดการเรื่องยากและใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันใหญ่เกินตัวเขานะ มันไม่ใช่การทำงานแค่คนหรือสองคน แค่ทีมหรือสองทีม แต่เป็นงานใหญ่ที่เยาวชนทั้ง 15 พื้นที่เข้ามาช่วยกันทำงาน ยิ่งงานใหญ่ก็ยิ่งยาก ซึ่งผมคิดว่างานแบบนี้เหมาะเป็นแบบฝึกหัดสำหรับเด็กในช่วงท้ายโครงการ หลังจากที่เขาผ่านการเรียนรู้ในโครงการของแต่ละโครงการมาแล้ว
“สอง-ต้องการ ‘สื่อสาร’ พลังและสาระจากฝีมือของเด็ก พวกเขาต้องสื่อสารการทำงานตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการจนกระทั่งจบโครงการ เด็ก ๆ ต้องสื่อสารให้คนลำพูน ทั้งผู้ใหญ่ เครือข่ายภาคีที่ทำงานเยาวชน สื่อสารที่มาในงานให้เขาเห็นพลังและศักยภาพตรงนี้ ซึ่งเราหวังว่า นอกจากเห็นผู้ใหญ่ใจดีมาเห็น ยังอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเราด้วย”
ชีวัน กล่าวถึงงานเบื้องหลังมหกรรมที่สำคัญอีกส่วน ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน ‘กลไก’ การทำงานของเด็กและเยาวชน คือ ‘พี่เลี้ยง’
“แม้งานนี้จะเป็นงานเยาวชน แต่กระบวนการพัฒนาที่เราทำคู่ขนานไปกับเยาวชน คือการพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงไปด้วย การที่พี่เลี้ยงจะหนุนเด็กให้เกิดการเรียนรู้และบรรลุคุณลักษณะที่วางไว้ ต้องมีการออกแบบ ดีไซน์ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพี่เลี้ยงไม่น้อยกว่าการพัฒนาเยาวชนเลย จะถือว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในบทเรียนงาน active citizen ลำพูนปีที่หนึ่งเลยก็ว่าได้” ชีวัน กล่าว
‘สืบฮีต สานฮอย ฮ้อยกำกึ๊ด คนฮักหละปูน’ คืองานบุญประจำปีชาวหละปูน ที่คนทำงานแอบผลักประเด็นพลังเยาวชนหละปูนเข้าไปด้วย หนึ่งในความตั้งใจของคนทำงานคือต้องการสื่อสารถึงพลังเยาวชนให้กับผู้ใหญ่ใจดีได้รู้และร่วมกันผลักดันทำงานต่อ ขณะเดียวกัน ก็หวังอยากส่งต่อและเห็น ‘สปิริต’ ละอ่อนหละปูนไปด้วย
งานนี้ ปลุกพลังชาวลำพูนได้จริงมั้ย? – เราถาม
“ในระดับพื้นที่ พี่ว่ามันสร้างความตื่นตัวให้คนในชุมชนได้พอสมควรนะ แรก ๆ มันอาจไม่เห็นอะไรเลย ไม่เห็นแกนนำ ไม่เห็นพี่เลี้ยง แต่ท้ายที่สุดมันส่งพลัง พอคนหนึ่งเข้ามาจัดการ ก็ส่งพลังให้คนอื่นมาจัดการต่อ ผู้ใหญ่ในชุมชนอยู่นิ่งไม่ได้
“อย่างคนที่มาในวันนี้ เฉพาะคนที่มาดูเด็กฟ้อนก๋ายลาย บ้านนั้นก็มากันเกือบสี่สิบคน ครูยกกันมาเกือบทั้งโรงเรียน จากเดิมที่ครูบอกว่า ‘ไม่เอาแล้ว เหนื่อย ไม่อยากทำแล้ว’ แต่พอเห็นเด็กตั้งใจ เด็กอยากทำ ไม่มีใครมาส่งก็ร้องได้ แบบนี้มันสร้างพลังนะ เด็ก ๆ อยู่ไกลจากที่จัดงานไปสองร้อยกว่ากิโล ก็ไม่เป็นไร เราไปรับมาเอง
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงกับเด็กบางคน จากที่ไม่เคยสนใจ จากที่แสบ ๆ แค่เห็นเขาเปลี่ยนแปลง รับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ก็สร้างความภูมิใจให้กับเรา ไม่น่าเชื่อนะ (หัวเราะ)”
ขณะที่ ชีวัน ตอบคำถามเดียวกันว่า “ความคาดหวังที่ตั้งใจไว้ก่อนทำงานและคิดว่าบรรลุผล คือการเปลี่ยนแปลงในตัวเยาวชนลำพูน เห็นหลายคนกลับมาสนใจเรียนรู้บ้านตัวเอง ภาคภูมิในชาติพันธุ์ ภาคภูมิในภูมิปัญญา แต่สิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดตั้งแต่แรก แต่มาเห็นชัดขึ้นในภายหลัง คือ ‘กลไก’ ที่จะขยับงานเยาวชนจังหวัดลำพูนต่อไป”
เราได้แต่ช่วยกันหวังว่า จะเห็นงาน ‘ละอ่อนหละปูน’ เป็นที่ที่สอง สาม สี่ … และเกิดขึ้นกับหลายภูมิภาคทั่วไทย