เคล็ดลับ 4 ดี สูงวัยอย่างสตรอง
เรื่องโดย: เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบาส่วนจาก คู่มือการดูแลผู้สูงอายุ เล่ม 2 สูตรคลายซึมเศร้า และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
ให้สัมภาษณ์โดย: นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2562
ภาพโดย: นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ลองหันซ้าย หันขวา เรามักจะเจอผู้สูงอายุ ทำนั่นทำนี่อยู่เป็นประจำ บ้างก็จูงลูกหลานมาออกกำลังกาย บ้างก็ยืนจับกลุ่มหารือเรื่องสัพเพเหระประจำวัน นี่สินะที่เขาว่ากันว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว
ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17 นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าจับตามองได้เลยทีเดียว โดยประเทศไทยกำหนดนิยาม ผู้สูงอายุไว้ใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 3 หมายถึง บุคคลซึ่งอายุเกิน 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย ซึ่งสัดส่วนที่ใช้ในการแบ่งสังคมสูงวัยนั้น มีเกณฑ์การแบ่ง ดังนี้
1.สังคมสูงวัย (Aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด
2.สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
3.สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญนั่นคือ ทำอย่างไร ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพ แม้ว่าหลาย ๆ ฝ่าย จะมีมาตรการและนโยบายในระยะต่าง ๆ ที่จะแบ่งเบาและช่วยเหลือผู้สูงอายุก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับพบว่า แต่ละคนต้องเตรียมตัวเองในเบื้องต้นก่อนที่จะรอความช่วยเหลือจากที่อื่น ๆ
วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. มีเคล็ดลับการเตรียมตัวที่จะเข้าสู่ การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพมาฝาก ผ่านการพูดคุยกับ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และในฐานะผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2562 จะมาบอกเล่าประสบการณ์การเตรียมความพร้อม ที่ทุกๆ คนสามารถวางแผนและตั้งตัวแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะเข้าสู่สูงวัย โดยคุณหมอ เล่าว่า การจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ต้องเตรียมตัวดี 4 ประการ ได้แก่ มีสุขภาพดี มีการทำงาน มีความมั่นคง และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีดังนี้
ดาวน์โหลดอินโฟกราฟิกได้ที่ เตรียมตัวให้พร้อมเป็นผู้สูงอายุคุณภาพ http://llln.me/1dP5zIt
1.มีสุขภาพดี
- สุขภาพกาย ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
- สุขภาพจิต ไม่มีอาการวิกลจริต
- สุขภาพทางสังคม คุยกับผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- สุขภาพจิตปัญญา รู้ว่าอันไหนควรหรือไม่ควร
2.มีการทำงานดี
- ทำงานเพื่อตัวเอง คนทำงานต้องมีรายได้ โดยรายได้ต้องมีมากกว่ารายจ่าย และเก็บสะสมไว้
- ทำงานเพื่อผู้อื่น ให้ความช่วยเหลือที่สามารถทำได้
- ทำงานเพื่อสังคม เราอยู่ในสังคมต้องช่วยเหลือสังคม
- ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนและช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม
3.มีความมั่นคงดี
- ความมั่นคงทางการเงิน ทุกวันนี้เงินเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งความมั่นคงทางการเงินนี้ก็มีจากการทำงานเพื่อตนเอง และมีรายได้สะสม
- ความมั่นคงทางครอบครัว ต้องอยู่ในครอบครัวและต้องมีความรู้ในการสอนลูกหลานในสิ่งที่ดีงาม
4.มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ที่พักอาศัยเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเป็นปัจจัยในการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ถึงจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ คุณตา คุณยาย เวลาอยู่เหงา ๆ ที่บ้าน ระหว่างคอยลูกหลานออกไปทำงานในช่วงกลางวัน ยังมีกิจกรรมสร้างสุขในชีวิตประจำวันที่นับว่าเป็นตัวช่วยในการสร้างเสริมเพื่อให้ผู้สูงอายุ พึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข ดังนี้
1.กิจวัตรประจำวัน / การดูแลตนเอง
- การดูแลสุขอนามัยของตนเอง เช่น อาบน้ำ แต่งตัว
- การรับประทานอาหาร
- การเคลื่อนย้ายตัวเอง การเดิน การถัด การนั่งรถเข็น
- การกินยา
- การใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคล เช่น แว่นตา เครื่องช่วยฟัง
2.การทำงาน
- การทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ
- การทำงานบ้าน ดูแลหลาน
- การทำงานเพื่อสังคม
3.กิจกรรมยามว่าง / นันทนาการ
- ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ทำสวน รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนบันทึก เลี้ยงสัตว์ ออกกำลังกาย
คุณหมอบรรลุ ยังบอกอีกว่า การออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่สูงวัยต้องให้ความสำคัญ โดยส่วนตัวคุณหมอเป็นคนชอบออกกำลังกายและมีวิธีในการรับประทานอาหารที่เน้นผักและผลไม้ นี่คงเป็นเคล็ดลับที่ทำให้คุณหมอแข็งแรงและมีอายุถึง 94 ปี นับเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพอีกท่านหนึ่งนั่นเอง
“เราต้องเตรียมของเราเอง อย่าหวังเพิ่งคนอื่น เราต้องทำของเราเองให้ได้” คุณหมอบรรลุ กล่าวทิ้งท้าย
แม้ว่าปัจจุบันจะถือว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุ แต่ในอนาคตอาจจะขยาย จาก 60 ปี เป็น 65 ปีก็เป็นได้ เนื่องจากมีกำลังและความสามารถที่หลากหลายอีกมากมาย จากการเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรพันธมิตร.พยายามสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์สังคมสูงอายุของประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ การอยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี ใน 4 มิติ ทั้ง กาย ใจ ปัญญา และสังคม เพราะการเตรียมสุขภาพ เป็นปัจจัยหลักในการที่จะก้าวสู่ สูงวัยอย่างมีคุณภาพในอนาคต