เคล็ดลับการดูแลรักษาเล็บ

ที่มา: มูลนิธิหมอชาวบ้าน


เคล็ดลับการดูแลรักษาเล็บ thaihealth


แฟ้มภาพ


ทางการแพทย์นั้นเล็บอาจเปรียบเหมือนหน้าต่างที่บอกถึงความผิดปกติของอวัยวะภายใน  เล็บเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนังซึ่งมีส่วนเสริมบุคลิกของผู้เป็นเจ้าของ ก่อนคุยกันถึงเคล็ดลับการดูแลรักษาเล็บ มาพูดถึงเรื่องของเล็บกันก่อน


โดยเฉลี่ยแล้วเล็บมืองอกยาววันละ 0.1 มิลลิเมตร (มม.) นั่นคือเดือนละ 3 มม. หากเล็บมือหลุด จะต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน จึงจะงอกทดแทนใหม่ได้หมด ส่วนเล็บเท้านั้นงอกช้ากว่าเล็บมือ 2 ถึง 3 เท่า จึงกินเวลานาน 1 ปีถึง 1 ปีครึ่งจึงงอกทดแทนได้


ดังนั้น เมื่อเป็นโรคเชื้อราที่เล็บมือ แพทย์จึงต้องให้ยากินเพื่อฆ่าเชื้อรานานต่อเนื่องกันถึง 6 เดือน ส่วนโรคเชื้อราที่เล็บเท้านั้น ต้องได้รับยาต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี เล็บจะงอกเร็วในช่วงวัยเด็ก ขณะตั้งครรภ์ และฤดูร้อน นอกจากนั้น การกัดเล็บ พิมพ์ดีด และเล่น เปียโน ก็ช่วยเร่งให้เล็บยาวเร็วขึ้น นิ้วที่ยิ่งยาว เล็บยิ่งงอกเร็ว ดังนั้น เล็บมือของ นิ้วกลางจึงงอกเร็วที่สุด พบว่าเล็บมือของมือขวา มักงอกเร็วกว่าเล็บมือของมือซ้าย เมื่อมีอายุมากขึ้น เล็บจะงอกช้าลง จากช่วงอายุ 25 ปีถึง 95 ปี พบว่าอัตราการงอกของเล็บลดลงได้ถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว คนชราจะมีการหนาตัวของเล็บ โดยเฉพาะเล็บเท้าทำให้เล็บเท้าผิดรูปผิดร่างไปได้ เล็บอาจเปรียบเป็นหน้าต่างที่บอกถึงความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ปอด หัวใจ เบาหวานและการขาดอาหาร เป็นต้น


คนที่ได้รับสารหนูจากยาหม้อจะพบเส้นขึ้นที่เล็บ ถ้าเป็น 2 เส้นขนานกันตามขวางอาจแสดงถึงภาวะเลือดมีโปรตีนต่ำ


ถ้ามีเล็บขาวขุ่นครึ่งเล็บทางด้านโคนส่วนครึ่งปลาย มีสีชมพูตามปกติ อาจเป็นอาการของโรคไตเรื้อรัง ถ้ามีสีขาวขุ่นเกือบทั้งเล็บโดยที่มีสีชมพูน้อยกว่าร้อยละ 20 มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้เป็นโรคตับแข็ง


การดูแลรักษาเล็บให้มีสุขภาพดี


1 หมั่นทะนุถนอมเล็บ คอยระวังไม่ให้เล็บได้รับอันตราย


อย่าใช้เล็บเป็นเครื่องมือ หลายๆ ท่านที่ใช้เล็บมือ ต่างไขควง ทารุณกันอย่างนี้เล็บก็พังแน่ นอกจากนั้นการถนอมเล็บทำได้โดยแทนที่จะใช้นิ้วหมุนโทรศัพท์ ก็เปลี่ยนมาใช้ดินสอแทน บางคนเวลาค้นหาอะไรในกระเป๋า ก็ใช้เล็บควานไปทั่ว แบบนี้เล็บก็เสีย จำไว้เวลา จะหยิบจะจับอะไร ให้ใช้ปลายนิ้วจับแทนที่จะใช้เล็บ


2. ระหว่างที่ทำงานกวาดบ้านทำงาน หรือล้าง ถ้วยล้างชาม ควรสวมถุงมือ


ทั้งนี้เพราะเมื่อเล็บโดนสารเคมี เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำมันทำความสะอาด จะทำให้เล็บเสีย คือเล็บเปราะเล็บขรุขระ และเล็บแตกได้ นอกจากนั้นก็ทำให้ผิวหนังข้างเล็บอักเสบติดเชื้อโรคได้ง่าย


3. ไม่ควรทำเล็บบ่อยเกินไปการทำเล็บบ่อยๆ


 อาจทำอันตรายต่อเยื่อหุ้มเล็บ (cuticle ) ซึ่งเป็นผิวหนังส่วนที่ปกคลุมโคนเล็บอยู่ นอกจากนั้นการทำเล็บโดยเครื่องมือที่ไม่สะอาด ก็เป็นหนทางที่ทำให้ผิวหนังรอบเล็บติดเชื้อโรคเกิดการอักเสบตามมาได้


4. ก่อนจะตัดสินใจเลือกเครื่องสำอางที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาเล็บ


ต้องเข้าใจถึงวิธีใช้ให้ละเอียด รวมถึงผลเสียที่ตาม มาด้วย อย่าฟังแต่เพียงคำโฆษณาอย่างเดียว น้ำยาพวกเคลือบชักเงาเล็บ เมื่อทาแล้วต้องทิ้งไว้ให้แห้งนาน 15 นาที มิเช่นนั้น ถ้าเล็บยังไม่แห้งแล้วไปถูกผิวหนังส่วนอื่นของร่างกาย อาจเกิดการระคายเคืองได้  สีทาเล็บทำให้เกิดการแพ้ได้เช่นกัน อาการแพ้ สีทาเล็บมักเกิดในตำแหน่งที่หลายคนคาดไม่ถึง คือเป็น ผื่นรอบดวงตาจนทำให้ดูคล้ายตัวแร็กคูน เพราะใช้เล็บเกาเปลือกตาโดยไม่รู้ตัว เมื่อมีอาการแพ้สีทาเล็บในขั้นแรกอาจเปลี่ยนยี่ห้อก่อนโดยยังใช้สีเดิม ถ้าแพ้อีกให้ลองเปลี่ยนสี บางคนอาจแพ้เฉพาะสีบางสีแต่ถ้าทั้งเปลี่ยนสีและยี่ห้อแล้วยังมีอาการแพ้ ที่พบมากจะแพ้เกิดผื่นคัน อาการแพ้ที่พบมากจะเกิดผื่นคันที่เปลือกตา ถ้าต้องการใช้ยาทาเล็บอยู่ ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการทดสอบว่าแพ้ส่วนประกอบใดในยาทาเล็บ เมื่อทราบแล้วจะสามารถเลือกยาทาเล็บที่ไม่มีส่วนประกอบนั้นได้


5. เล็บขบ


ปัญหาเรื่องเล็บขบที่เป็นกับเล็บเท้านั้นเกิดจากการตัดเล็บไม่ถูกวิธี คือ ตัดเล็บโค้งมากเกินไปเมื่อเล็บงอกใหม่จะแทงเข้าไปในหนังหุ้มเล็บข้างๆ ควรตัดเล็บเท้าให้ปลายเรียบเสมอกัน ไม่ต้องโค้งงอ และไม่ควรใส่รองเท้าที่แคบเกินไปรวมถึงมีหัวแหลมเรียวเกินไป นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูงด้วยเพราะน้ำหนักจะทิ้งตัวลงมาบนเล็บมากขึ้น


6. การตะไบเล็บ


ต้องใช้ตะไบเล็บด้านที่เป็นเม็ดละเอียด เวลาตะไบให้ตะไบจากด้านข้างเข้าสู่ตรงกลางเล็บ อย่าตะไบจากตรงกลางออกไป


7. การดูแลรักษาหนังหุ้มโคนเล็บ


ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ต้องแช่มือแช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนเป็นเวลา 2-3 นาที แล้วจึงค่อยๆ ทำความสะอาดหนังบริเวณนี้ ครีมให้ความชุ่มชื้นหรือน้ำมันมะกอกจะช่วยหล่อเลี้ยงหนังบริเวณนี้ให้ชุ่มชื้น ไม่แห้งและลอกแตกเป็นขุยได้ การใช้เครื่องมือแข็งๆ เขี่ยทำ ความสะอาดบริเวณหนังหุ้มโคนเล็บอาจทำให้เล็บได้รับบาดเจ็บ เกิดเป็นร่องหรือสันนูนขึ้นได้


8. ถ้าเล็บแห้งเกินไป


เล็บจะเปราะและแตกง่าย การดูแลรักษาเล็บที่แห้ง ทำได้ง่ายๆ คือก่อนนอนให้แช่มือลงในน้ำอุ่นสัก 10-15 นาที ซับน้ำให้แห้งหมาดๆ แล้วทาครีมให้ความชุ่มชื้นที่มือและเล็บ


9. โฆษณาชวนเชื่อที่ว่าถ้าคุณมีเล็บเปราะและแตกง่าย


ควรได้รับสารอาหารคือ เจลาติน แคลเซียม เหล็ก กินนั้น เป็นโฆษณาที่ไม่จริง โปรตีนของเล็บเป็นชนิดเคอราติน ไม่ใช่เจลาติน นอกจากนั้น แคลเซียมและเหล็กในเล็บเป็นส่วนประกอบที่มีเพียงเล็กน้อย และมักได้รับเพียงพอจากอาหารประจำวันอยู่แล้ว


การดูแลรักษาเล็บดังกล่าวมาแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก แม้ว่าเล็บจะเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว แต่ถ้าคุณดูแล ไม่ดีพอนอกจากเล็บจะดูไม่งามทำให้เสียบุคลิกแล้ว ผิวหนังซึ่งเป็นอวัยวะข้างเคียงกับเล็บก็จะอักเสบตามไปด้วย สมกับสำนวนไทยที่ว่า หยิกเล็บเจ็บ

Shares:
QR Code :
QR Code