เคลื่อนชีวิตผู้พิการสู่แรงงานสังคมพึ่งพาได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เคลื่อนชีวิตผู้พิการสู่แรงงานสังคมพึ่งพาได้ thaihealth


สังคมที่เคยมองผู้พิการเป็นภาระ วันนี้อาจต้องพลิกมุมมองใหม่ เมื่อมีแรงหนุนจากภาคีเครือข่ายผู้พิการ ที่เคยต่างคนต่างเดิน มายืนบนจุดร่วมเดียวกันคือ ดึงคนพิการกลับสู่ตลาดแรงงาน พลิกชีวิตที่สิ้นหวังให้มีพลังพึ่งตัวเองได้


ปัญหาคนพิการตกงานเกือบ 4 แสนคน หรือเกือบ “ครึ่งหนึ่ง” จากจำนวนผู้พิการทั้งประเทศกว่า 8 แสนคน สะท้อนปัญหาใหญ่ของทุกภาคส่วนว่า ยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ตรงจุด ทว่า ยังเกิด “มิติใหม่” ของการร่วมมือเพื่อ “ปลดล็อก” ปัญหาระดับชาตินี้ เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ด้วยการหา “จุดร่วม” ของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน บนเป้าหมายนำผู้พิการที่ยังพอทำงานได้เหล่านี้ กลับสู่ตลาดแรงงาน ให้พวกเขามี “เวที” แสดงศักยภาพ ไม่รอเพียงการพึ่งพาผู้อื่น


อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ APCS เล่าถึงที่มาของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมว่า เป็นการขยายผลหลังส่งเสริมการทำงานสร้างสุขในองค์กร (Happy Work Place) ทำให้เกิดแนวคิดการทำงานเพื่อคนพิการที่ยังขาดการเหลียวแล ผ่านมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ที่ก่อตั้งเมื่อ 9 พ.ย.2555 เพื่อให้พวกเขากลับมาทำงานกับสังคม


โดยปัจจุบันกลุ่มผู้พิการในไทยที่ลงทะเบียนทั้งหมด 1.5 ล้านคน และคาดว่ายังมีกลุ่มที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีก 3 แสนคน มีคนพิการตกงานเกือบ 4 แสนคน และมีคนพิการในระดับที่ทำงานไม่ได้เกือบหนึ่งแสนคน โดยพบว่า ยังมีผู้พิการที่มีศักยภาพในการทำงานได้ราว 4 แสนอัตรา (คนพิการวัยทำงานอายุระหว่าง 15-60 ปี)


อภิชาต ระบุว่า เหตุผลหลักที่คนพิการต้องตกงานเพราะ “ขาดโอกาส” การฝ่าด่านให้นายจ้างเปิดใจรับคนพิการเข้าทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนพิการมาแต่กำเนิดก็ขาดการศึกษา ไม่เคยลองใช้ทักษะที่อาจมีอยู่ ขณะที่งานที่ว่าจ้างคนพิการยังจำกัดอยู่ไม่กี่อาชีพ


โจทย์แรกของมูลนิธินวัตกรรมฯ จึงหวังเปลี่ยน “วิกฤติแรงงาน” ที่ปิดทางคนพิการให้เข้าถึงตลาดแรงงานทั่วไปมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือการไขรหัสกฎหมายที่มีภายใต้พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ในมาตรา 33 ที่ระบุว่า ให้ภาคธุรกิจหรือสถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการในสัดส่วนแรงงาน 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน หากไม่มีการจ้างงานคนพิการสถานประกอบการก็จะต้องส่งเงินกองทุนสนับสนุนคนพิการ ปีละ 109,500 บาท ทำให้แต่ละปีมีภาคธุรกิจส่งเงินเข้ากองทุนฯรวมกันถึงปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ผ่าน 5-6 ปี เงินกองทุนเติบโตขึ้นแตะกว่า 1 หมื่นล้านบาท


ทว่า เงินสะสมในกองทุนฯ ที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ได้สะท้อนถึงความสำเร็จของการช่วยเหลือคนพิการให้มีงานทำ ในทางกลับกันกำลังบอกเราว่า นายจ้างเมินที่จะจ้างผู้พิการมาทำงานในสถานประกอบการ


“รัฐก็บังคับใช้โดยกฎหมาย แต่กลับยังมีเอกชนหลายรายที่ยอมส่งเงินเข้ากองทุนฯแทนการจ้างแรงงานผู้พิการ”


นี่คือ ตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาที่เกาไม่ถูกที่คัน !


เคลื่อนชีวิตผู้พิการสู่แรงงานสังคมพึ่งพาได้ thaihealth


“เราต้องทำให้ภาคธุรกิจลดการส่งเงินเข้ากองทุนฯ มาเป็นให้พวกเขารับผู้พิการเข้าทำงานโดยตรง โดยมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เป็นกลไกเชื่อมต่อกับภาคีเครือข่ายธุรกิจ เช่น หอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงสมาคมธนาคารไทย ก่อนจะเชื่อมต่อไปยังภาคีเครือข่ายผู้พิการทั่วประเทศเพื่อเข้าถึงผู้พิการ จนเกิดเป็นการจ้างงานคนพิการในที่สุด”


มูลนิธิฯ ต้องแก้โจทย์ใหม่โดยการปรับมุมคิด ให้เอกชนปรับเปลี่ยนวิธีหาทางเลือกใหม่ แทนการส่งเงินเข้ากองทุน เป็นการจ้างงานผู้พิการโดยตรง แต่ลักษณะงานส่วนใหญ่จะเป็นการบริการสาธารณะ ทั้งการดูแลผู้ป่วย ผู้ช่วยแพทย์ เช่น วัดความดันวัดไข้ หรือพนักงานต้อนรับ ตลอดจน ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน หรือคนแจกใบปลิวรณรงค์เลิกเหล้า เป็นต้น


กิจกรรมดีๆ และงานดีๆ ที่ให้คุณค่าทั้งกับตัวเอง และได้บริการสาธารณะ ดึงกลุ่มคนพิการที่คิดว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีใครจ้างงานมาเป็นผู้ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม


“ชีวิตผู้พิการที่พอทำงานได้ก็ไม่ต้องรอแค่การช่วยเหลือ นอนติดเตียง ใช้ชีวิตในรถเข็น แต่เมื่อเดินออกไปดูโลกภายนอก เดินไปทำงาน สุขภาพก็แข็งแรงขึ้น เพราะได้บริหารร่างกายทุกวัน เมื่อมีใครถามเขาเหล่านั้นก็ยืดอกตอบคำถามชาวบ้านได้อย่างเต็มปากว่า ไปไหนทำอะไร เพราะเป็นงานดีที่ทำให้ภาคภูมิใจในตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ และที่สำคัญ ก็เป็นพลังที่ร่วมดูแลสังคมได้"


ขณะที่ภาคเอกชนก็รับรู้ถึงการช่วยเหลือคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม เห็นชีวิตคนพิการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เห็นรอยยิ้ม โดยสร้างกลไกให้คนพิการมีอาชีพแตกต่างจากรูปแบบเดิม


“เอกชนต้องเปลี่ยนมุมคิดไปสร้างคุณค่าให้กับคนพิการ ออกแรงอีกนิด เพื่อเปลี่ยนโอกาสให้กับคนที่เคยถูกทิ้งในสังคม”


สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือจากทั่วทุกสารทิศจากเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 400 หน่วยงาน อาทิ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมทุกภาคส่วน เริ่มหารือตั้งแต่ภาครัฐ ระดับนโยบายของกระทรวงเพื่อให้เห็นสอดคล้องกัน และพร้อมสนับสนุน รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนในการบริหารจัดการมูลนิธิฯ


“เราคุยได้กับทุกภาคส่วน ซึ่งเมื่อระดับนโยบาย แต่เมื่อมาถึงระดับปฏิบัติก็ค่อยๆ สางปัญหาการทำงานในพื้นที่ไปเรื่อยๆอย่างอดทน สื่อสารทำความเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาครัฐที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ในอนาคตต่อไป ทางกองทุนจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ที่ขยายความร่วมมือและแก้ไขปัญหาคนพิการให้มากขึ้น”


นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาคนพิการที่เรื่องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้คนพิการเกือบ 4 แสนคนได้มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ หลังจากมูลนิธิทำงานมา 3 ปีภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กำลังจะขยายไปสู่เฟสที่ 2 ซึ่งค่อยๆ ถ่ายโอนงานไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่าง ภาคีเครือข่ายเพื่อผู้พิการ ซึ่งเป็นกำลังหลักที่จะต้องเป็นผู้เข้ามาบริหารโครงการ เพราะเข้าถึงผู้พิการ และมีเครือข่ายของภาครัฐ เช่น หน่วยงานสาธารณสุข ศูนย์กลางหลักที่มีข้อมูลผู้พิการและเป็นหนึ่งในผู้จ้างงาน


ทว่า แม้วันนี้ยังไม่มีโมเดลการพัฒนาที่ชัดเจนนัก แต่ก็ต้องทำและอยู่กับปัญหา เพื่อช่วยเหลือคนพิการ “อภิชาต” ย้ำ


“โครงการยังต้องทำเรื่องนี้อีกยาวไกล อย่างน้อยเริ่มต้นจากมีภาคีเครือข่ายทำงานที่กว้างขึ้น”


ขณะที่เรื่องราว ของวินัย คงประเสริฐ เป็นหนึ่งในผู้พิการที่ทำงานในสถานประกอบการ แม้จะป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอีกเสบตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ขาลีบ สมองเติบโตช้ากว่าคนปกติ แต่โชคดีในความโชคร้าย คือเขาได้บรรจุเป็นพนักงานตำแหน่งผู้ช่วยพัฒนาชุมชน สังกัดโรงเรียนประจำตำบล จังหวัดสุพรรณบุรี โดยการจ้างงานของ บริษัทมิตรผล จำกัด


“วินัย” ที่แม้จะไม่คล่องตัวเหมือนคนอื่นแต่หัวใจและรอยยิ้มนั้นล้นโรงเรียน หน้าที่หลักของวินัยอีกคือคอยปลูกผักอินทรีย์ให้เด็กเป็นอาหารกลางวัน และดูแลความสะอาด และยังมีงานเสริมเพิ่มเข้ามาคือ การเป็นครูผู้ช่วย คอยเล่าเรื่องราวให้กับเด็กๆ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่เขาชื่นชอบและสนใจ


“ภูมิใจที่บริษัทให้โอกาสกับคนพิการ ทำให้ภาวะการเงินคล่องตัวขึ้น ผมไม่ได้สบายแค่คนเดียว แต่ได้สบายทั้งครอบครัว”

Shares:
QR Code :
QR Code