เครื่องเดนตีสแกน ทันตกรรมแบบ3มิติเห็นทั้งโครงสร้างใบหน้า

ที่มา : ไทยโพสต์


เครื่องเดนตีสแกน ทันตกรรมแบบ3มิติเห็นทั้งโครงสร้างใบหน้า thaihealth


แฟ้มภาพ


สำนักการแพทย์ (สนพ.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการขยายผลงานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม (DentiiScan) และการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม เพื่อส่งเสริมและผลักดักนวัตกรรมไทยสู่การใช้งานเครื่องเดนตีสแกน 2.0 ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 


นายแพทย์พิชญา นาควัชระ รองปลัดกทม. เผยว่า สวทช.ได้พัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำแสงทรงกรวยสามมิติ สำหรับทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้าชื่อ "เดนตีสแกน" (DentiiScan) ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จรายแรกในประเทศไทย และผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยมาตรฐานสากลแล้ว มีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่งมาแล้วก่อนหน้า และจะมีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นจะมีการนำไปติดตั้งใช้งานในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 2 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร เนื่องจากกทม.เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของประชาชนได้เป็นอย่างดี เพื่อความสะดวกของประชาชนที่มาใช้บริการด้านทันตกรรมในโรงพยาบาลให้ได้เข้าถึงเครื่องมือสมัยใหม่ และเป็นการสนับสนุนงานวิจัยที่ผลิตโดยนักวิจัยไทยให้เกิดการเผยแพร่และที่สำคัญเป็นการลดรายจ่ายในการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ด้วย


 ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.เผยว่า เครื่องเดนตีสแกน ได้เริ่มวิจัยพัฒนาอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2550 โดยศาสตราจารย์ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการเครื่องเดนตีสแกน มีสองรุ่นคือรุ่น 1.1 และ 2.0 เป็นเครื่องมือคอมพิวเตอร์ 3 มิติแบบลำรังสีทรงกรวยสำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า มีประโยชน์ในการมองเห็นโครงสร้างช่องปาก ขากรรไกรของผู้ป่วยแบบ 360 องศา ลดความผิดพลาดในการผ่าตัดในช่องปากของผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพในการฝังรากฟันเทียม การผ่าฟันคุด และการผ่าตัดบริเวณช่องปาก ขากรรไกร และใบหน้า รวมทั้งการตรวจดูความผิดปกติของไซนัส


ทั้งยังช่วยให้การวินิจฉัยโรคและวางแผนผ่าตัดมีความแม่นยำขึ้นกว่าเดิม เพราะเครื่องสแกนโดยปกติส่วนใหญ่จะไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดที่ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณบางส่วนของโครงสร้างใบหน้าภายในที่มีการทับซ้อนกัน เมื่อรักษาอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ โดยผู้ป่วยที่ถูกถ่ายด้วยเครื่องเดนตีสแกนจะได้รับปริมาณรังสีที่ต่ำกว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์ทั่วไป ซึ่งผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานสากล ทั้งตรวจสอบความปลอดภัยทางปริมาณรังสีจากกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์


ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2561 มีเครื่องเดนตีสแกนทั้งรุ่น 1.1 และ 2.0 เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้วรวมทั้งหมด 20 เครื่องมีการใช้งานมากกว่า 5,000 ครั้ง และภายในปี 2562 นี้จะมีเครื่องเดนตีสแกนให้บริการอีกรวมทั้งสิ้น 60 เครื่อง ใน 50 โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 37 แห่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม 4 แห่ง สังกัดมหาวิทยาลัย 7 แห่ง และสังกัดกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง


ดร.ณรงค์ ให้รายละเอียดอีกว่า เดนตีสแกน 2.0 ที่จะติดตั้งใน 50 โรงพยาบาลในปีนี้ ได้รับงบประมาณในการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท รวมตั้งแต่การผลิตเครื่องมือ การอบรมแก่ผู้ที่จะใช้งานให้กับผู้ป่วย ค่าติดตั้ง ซ่อมแซมประกันอีก 1 ปี โดยใน 50 โรงพยาบาลติดตั้งไปแล้ว 10 เครื่อง และจะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 2562 นี้


“การผลิตเครื่องมือชนิดนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปประมาณ 10 ล้านบาท ประโยชน์ นอกจากจะช่วยให้เห็นภาพโครงสร้างของใบหน้าแบบ 3 มิติ ชัดเจนแล้ว เครื่องตัวนี้ยังจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลทางทันตกรรม นั่นก็คือข้อมูล 3 มิติ ที่ได้จากตัวเครื่องจะสามารถส่งข้อมูลไปยังศูนย์รวมได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นโรคอะไรบ้างทางช่องปาก หรือตรวจพบโรคใหม่ๆ จะทำให้สามารถนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานของทันตแพทย์ได้อีก ไม่ว่าจะการวินิจฉัยโรค การวางแผนผ่าตัด การใช้อุปกรณ์นำร่องสำหรับเจาะช่วยในการผ่าตัด การพัฒนาวิธีการรักษา หรือการหาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ นำไปสู่ แพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม และอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องจากแนวตั้งเป็นแนวนอน เนื่องจากผู้ป่วยบางคนที่ประสบอุบัติเหตุมาบางท่านอาจไม่สามารถนั่งได้ รวมถึงการพัฒนาตัวเครื่องขนาดเล็กลงใช้ตามคลินิกทั่วไป ” ดร.ณรงค์ กล่าว.

Shares:
QR Code :
QR Code