เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสมอง ความจริงที่นักดื่มไม่รู้
เรื่องโดย ณัฏฐา สงวนวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากงานเสวนาหัวข้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสมอง…ความจริงของนักดื่ม วันที่ 23 กันยายน 2566
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ข้อมูลทางการแพทย์ ชี้ให้เห็นตรงกันถึงความเชื่อมโยงของปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แม้จะดื่มในปริมาณไม่มากแต่ดื่มบ่อยครั้ง ยิ่งดื่มในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จะมีผลที่ตามมาต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สมอง ระบบประสาท กระเพาะอาหาร และตับ ตามมาด้วยสุขภาวะทางอารมณ์แปรเปลี่ยนไปจากพฤติกรรมเดิม ๆ
นั่นคือ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เข้าไปกดการทำงานของสมอง หากดื่มมาก ๆ เข้า จะทำให้ความจำเสื่อม การตัดสินใจไม่เหมาะสม สมาธิเสีย อารมณ์เปลี่ยน การพูดจะช้าลง สายตาพร่ามัวและเสียการทรงตัว
มากไปกว่านั้น นักดื่มที่ติดแอลกอฮอล์หนัก สมองไม่ได้ใจดีแบบที่คิด เพราะถ้าสมองเสียหายเมื่อใด อาจนำไปสู่ภาวะสมองฝ่อ เกล็ดเลือดต่ำ ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก) เสี่ยงพิการ ถึงตายได้ หากในสตรีตั้งครรภ์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะมีผลต่อทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งความสมบูรณ์ทางสภาพร่างกาย อารมณ์ และ สมอง เช่นกัน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. บอกว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดเป็นสารเสพติดให้โทษชนิดหนึ่งที่มีผลกระทบทางสุขภาพและทางสังคมมากมาย
อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุของโรคมากกว่า 230 ชนิด เมื่อนำผลการวิจัยต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย ปี 2564 จะพบ ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงถึง 165,450.5 ล้านบาท และต้นทุนทางอ้อมจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 159,358.8 ล้านบาท
เมื่อมองในด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ พบความสูญเสีย ทั้งค่ารักษา หน้าที่การงานมีปัญหา ทรัพย์สินเสียหาย ขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการที่ชายไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีอายุคาดเฉลี่ยจะต่ำกว่าผู้หญิงถึง 7 ปี เนื่องจากผลกระทบ ด้านสุขภาพ ส่งผลการป่วยโรคตับ โรคหัวใจขาดเลือด แอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน ขณะเดียวกันด้านสังคมและวัฒนธรรม พบเหตุความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ อุบัติเหตุทางถนน เพิ่มขึ้น
การที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง จัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสมอง …ความจริงของนักดื่ม” ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำหน้าที่รณรงค์ เตือนบอกให้ความรู้และตระหนัก ถึงความจริงที่ทุกคนควรตระหนักถึงพิษร้ายที่แฝงมากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ครั้งนี้มี นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง จาก โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม มาพูดคุยให้ความรู้ถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนมีผลกระทบต่อสมองทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยผลทางตรง ทำให้สมองมีอายุสั้นลง สมองฝ่อก่อนวัยอันควร เป็นอัลไซเมอร์เร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนผลกระทบทางอ้อม เครื่องดื่มน้ำเมา จะส่งผ่านระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้ระบบหลอดเลือดหัวใจอักเสบ เสื่อมสภาพ เกิดการอุดตัน หรือเปราะแตก เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก) ได้มากกว่าคนที่ไม่ดื่ม สามารถเช็คอาการ แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง พูดไม่ชัด ตามืดข้างนึง หรือหางตามืด เวียนหัวรุนแรง กะระยะไม่ได้ เกิดภาพซ้อน ชามุมปาก ชาลิ้น แลบลิ้นได้ไม่ ต้องรีบพบแพทย์ก่อนถึงขั้นพิการ
หากเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เลือดออกมาก หยุดไหลช้า ผ่าตัดยาก เพราะห้ามเลือดยาก เพิ่มความเสี่ยงในการพิการและเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม เนื่องจากการที่เลือดแข็งตัวของตับ ส่งผลให้เกล็ดเลือดทำงานได้น้อยลง เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะดื่ม หากเส้นเลือดรับแรงดันไม่ได้ก็แตก ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก
สุดท้ายฟังจาก นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ อายุ 58 ปี ตัวแทนจากชุมชน เล่าถึงบทเรียนชีวิตจากการกินดื่มสูบหนัก ส่งผลทำให้เพื่อนฝูงในวงเหล้าต่างสาปสูญตายจาก ส่วนตัวเองต้องเผชิญกับวันที่สโตรกเกือบคร่าชีวิต ว่า เริ่มกินเหล้า สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 17 ปี จนอายุ 27 ปี ทำงานเป็นเอนจิเนีย คุมช่าง หลังเลิกงานก็กินดื่ม ทำพฤติกรรมแบบนี้ติดต่อกันหลายปี จนเริ่มสังเกตว่า สุขภาพแย่ลง ทำงานได้ไม่เต็มที่ ดื่มน้อยแต่มึนเหมือนคนเมามาก จนมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น เดินไม่ตรง มีอาการบ้านหมุน
เริ่มหยุดดื่มหันมาดูแลสุขภาพ หาหมอบ้างแต่ก็ไม่ได้กินยาตามสั่ง ครั้งหนึ่งระหว่างรอพบหมอ อาการเริ่มแสบตา ลิ้นเริ่มแข็ง แขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาต อีกข้างอ่อนแรง หมอบอกว่าเป็นอาการของโรคสโตรกที่เรื้อรัง ผลพวงมาจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่มานาน แม้จะเลิกแล้ว ยังดีที่มารักษาทัน ไม่งั้นอาจพิการไปแล้ว “ ร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จะได้ไม่เป็นภาระให้ครอบครัว” เป็นประโยคของคุณหมอบอกขณะรักษา
ทำให้ นายรังสรรค์ ประธานชุมชนวัดอัมพวา จำเตือนใจและบอกคนในชุมชนถึงทุกวันนี้ พร้อมยกตัวอย่างเพื่อน ๆ ที่เคยกินดื่มด้วยกันก็เริ่มป่วย และเสียชีวิตไปหลายคน จึงอยากเชิญชวนให้ ลด ละ เลิกดื่มอย่างจริงจังก่อนจะสายเกินไป” นายรังสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย
สสส. ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วางยุทธศาสตร์ทั้งด้านนโยบาย ด้านวิชาการ ภาคประชาสังคม และการทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อสังคมไทยห่างไกลจากภัยสุรา