เครือข่ายเยาวชนฯเผย คนในสถานศึกษามีส่วนสร้างนักดื่มหน้าใหม่
วันที่ 14 มี.ค. 54 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ได้มีการสัมมนาเวทีสาธารณะ “มาตรการโรงเรียนปลอดเหล้า จุดเริ่มต้นป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ แนวทาง ปัญหา และอุปสรรค” จัดโดย มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานครสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ 30 โรงเรียนนำร่องสังกัด กทม.
นางสาวปฑิตา จีรจิตต์ ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนฯ กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 1-11 มี.ค. ทางเครือข่ายเยาวชนฯ และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนฯ ได้สำรวจทัศนคติการรับรู้ของเยาวชน ต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา ในกลุ่มตัวอย่างระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศ ตั้งแต่อายุ 7-18 ปี จำนวน 1,000 ราย แบ่งเป็นหญิงร้อยละ 50.4 ชายร้อยละ 49.6 ระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 71.8 ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 28.2 โดยผลสำรวจ พบว่า บุคลากรในสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อนนักเรียน และนักการภารโรง รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในสถาบัน ถือว่ามีส่วนในการชี้นำเด็กและเยาวชนให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“พบว่าเกินครึ่ง หรือร้อยละ 54.3 เคยพบเห็นเพื่อนนักเรียนดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 44.1 เคยเห็นครู อาจารย์ ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 33.9 เคยเห็นภารโรงดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 28.4 ยังเคยเห็นเพื่อนนักเรียนเป็นพนักงานเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เมื่อถามว่า เคยพบเห็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมใดบ้าง เยาวชนร้อยละ 62.0 ระบุว่า เป็นกิจกรรมปีใหม่ที่ทางสถาบันจัดขึ้น ส่วนร้อยละ 52.3 เป็นกิจกรรมเลี้ยงส่ง เลี้ยงรุ่น เลี้ยงต้อนรับ ร้อยละ 30.1 กิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียน นอกนั้นเป็นกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือและวันสำคัญที่โรงเรียนจัดขึ้น” นางสาวปฑิตา กล่าว
ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนฯ กล่าวต่อว่า อยากเห็นโรงเรียน สถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีการดื่มหรือขาย รวมถึงหากมีกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่ควรมีเครื่องดื่มเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง หากดูจากผลสำรวจยังคงสะท้อนว่า เด็กและเยาวชนกว่า ร้อยละ 84.3 ยังพบเห็นร้านขายเหล้ารอบโรงเรียนภายในรัศมี 100 เมตร นอกจากนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เสียงเด็กและเยาวชนร้อยละ 88.3 ไม่อยากให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา” นางสาวปฑิตา กล่าว
ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่า ในสถานศึกษายังไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจัง บุคลากร อาจารย์ยังมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามา รวมถึงเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ระบุว่าเคยเห็นเพื่อนดื่มเหล้า และเห็นเพื่อนทำอาชีพเสริมด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม อยากให้บุคลากรในสถานศึกษาเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กนักเรียน และตระหนักในกฎหมายควบคุม แม้ว่ากฎหมายจะการเปิดช่องให้ดื่มได้ในการจัดเลี้ยงตามประเพณีก็ตาม แต่ก็ไม่ควรตีความคำว่าประเพณีพร่ำเพรื่อ เพราะต้องการจะดื่ม เพราะที่นั่นเป็นสถานศึกษา เป็นที่สร้างคน ทางถูกต้องที่สุดคือ สถานศึกษาทุกแห่งต้องปลอดเหล้า กิจกรรมในสถานศึกษาควรปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างถาวร
ขณะที่ พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในสถานศึกษา แม้จะเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีช่องว่างในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอยู่มาก โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับกิจกรรมงานต่างๆ ของโรงเรียน หรือของชุมชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ของโรงเรียน ที่ต้องคำนึงถึงสภาพและสถานะของสถานศึกษาที่เป็นแหล่งบ่มเพาะเด็กเยาวชนของชาติ
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเริ่มต้นป้องกันตั้งแต่อยู่ในบ้าน ในโรงเรียน อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการสร้างพื้นฐานและแบบอย่างที่ดี อย่างไรก็ตาม ทางกทม. ขอสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับมาตรการนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนสังกัด กทม. หรืองานภาพรวมของ กทม. ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อเด็กเยาวชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย