เครือข่ายสุขภาพยกระดับชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
บุคลากรด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล หรือสมาชิกในส่วนอื่นๆ การเข้าถึงจิตวิญญาณ การรักษาประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงทางอาชีพเพียงอย่างเดียว การลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้จากชุมชนอย่างต่อเนื่องจึงถือเป็นอีกกลไกหนึ่งในการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนและเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เพื่อทำให้เข้าใจคนไข้มากขึ้น และสามารถวางแผนป้องกัน การเจ็บป่วยของประชาชนในระยะยาวได้
ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อสนทนาในวงเสวนา "การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21" โดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรด้านสุขภาพในรูปแบบใหม่ ที่เน้นใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือ เพื่อผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือให้มีคุณภาพและศักยภาพ ตรงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (2560-2579) ของกระทรวงสาธารณสุข
ที่ต้องเปลี่ยนระบบการสอน เพราะการแพทย์ไทยต้องการหมอรักษาโรคทั่วไปและเชื่อมโยงชุมชนนั้น นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. ให้เหตุผลที่สังคมต้องเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา และหลักสูตร การเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพ จากการเรียนในห้องเรียน หรือเรียนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโรงพยาบาล มาเป็นการเรียนรู้จากชุมชน หรือ ทรานส์ ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง เพราะโดยทั่วไปแล้ว ความเจ็บป่วยของประชาชนประมาณ ร้อยละ 90 เป็นปัญหาสุขภาพในชุมชน ที่สามารถหายเองได้ ไม่ใช่โรคซับซ้อน ที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการรักษา แต่การเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงชุมชน ขณะที่การเข้าถึงชุมชนจะมีในช่วงหลัง จบการศึกษาแล้ว ดังนั้น การเรียนรู้ที่ผ่านมาจึงเป็นการเรียนรู้แบบเป็นส่วนๆ เฉพาะโรค เฉพาะอวัยวะ ไม่ใช่การเรียนรู้ แบบองค์รวมถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ การขับเคลื่อนการปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนบรรลุผลนั้น จึงต้องชี้ให้สังคม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นว่าทำไมต้องทำให้เกิดการเรียนด้านสุขภาพที่เข้าถึงชุมชนด้วยการจัดระบบองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ และหาข้อสรุปในการดำเนินการ เพื่อไว้เป็นฐานข้อมูลเผยแพร่แก่เครือข่ายและผู้ที่สนใจ และสื่อไปถึงรัฐบาล สถาบันการศึกษา โรงเรียนแพทย์ ที่มีอำนาจหน้าที่ใน การเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน และขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
โดยต้องผลักดันทำให้เกิด Policy Commitment เพื่อนำไปสู่การเป็นมติ ครม. แผนสาธารณสุขของชาติต่อไป รวมทั้งช่วยพัฒนาผลักดันให้สถาบันการศึกษาเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน เชื่อมโยงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขต่างๆ ให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน และเกิดผลสัมฤทธิ์ในแง่บุคลากรด้านสุขภาพและกลุ่มเครือข่ายมีขีดความสามารถมากขึ้น พร้อมสร้าง
เครือข่ายที่จะมาช่วยผลักดันในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง รศ.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มองว่า ปัญหาการผลิตแพทย์ทุกวันนี้ คือ นักศึกษาจำนวนมากที่อยากมาเรียนแพทย์นั้นต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตมากกว่าเพื่อมารักษาประชาชน เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องบ่มเพาะนักศึกษาให้มีหัวใจในการบริการประชาชน เป็นแพทย์ที่มีคุณภาพและมีจิตใจของการเป็นแพทย์ที่ดี ดูแลประชาชนในท้องถิ่น รักประชาชนที่รอคอยเขาอยู่
"เราต้องปลูกฝังนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ให้ได้ และไม่ให้เขารู้สึกว่าการเป็นแพทย์ในท้องถิ่นแพทย์ชั้น 2 เราต้องทำให้เขาภูมิใจว่าเขาเป็นคนเก่งและดีจึงอยู่ในพื้นที่และได้รับการยอมรับ ให้เขารู้สึกว่าชีวิตเขามีความหมายสำหรับคนยากจน ความรู้ความสามารถของเขาสามารถช่วยคนชีวิตคนได้ เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างระบบการศึกษาแพทย์ที่ทำให้แพทย์ที่ตั้งใจอยู่ในชุมชน ต้องมีศักดิ์ศรี และมีการส่งเสริม"
ด้าน ศ.เกียรติคุณ พลโท นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. อธิบายว่า แนวทางการเรียนการสอนที่เน้นความเป็นเวชศาสตร์ชุมชน พัฒนาสุขภาพชุมชน บัณฑิตแพทย์ ที่จบมาแล้วมีใจรักชุมชน ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบทของประเทศทางหนึ่ง
"อย่างจังหวัดเชียงรายมีลักษณะพิเศษคือมีกลุ่มชาติพันธุ์มีคนต่างชาติข้ามพรมแดนเข้ามา และนำโรคที่น่าสนใจและเป็นปัญหาเข้ามา ซึ่งระบาดข้ามมาจากฝั่งพม่าฝั่งลาวคนกลุ่มนี้จะมารักษาตัวที่อ.เชียงแสนและอ.แม่สายในฝั่งไทยโรคเหล่านี้บางโรคไม่เคยมีในประเทศไทย กลุ่มนักศึกษาแพทย์ของเราจะได้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น ส่วนชุมชนหรือชาติพันธุ์ต่างๆทางสำนักแพทยศาสตร์จะมีบัณฑิตแพทย์จบเป็นรุ่นแรกในอีก 2 ปีข้างหน้าซึ่งทางสำนักแพทยศาสตร์จะชักชวนให้มาทำงานต่อ ทำให้เขามีโอกาสย้อนไปเยี่ยมชุมชนที่เขาเคยไปสมัยยังเป็นนักศึกษาและติดตามความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนหรือชาติพันธุ์ต่างๆได้ต่อเนื่อง"
นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย กล่าวว่า การมีแนวทางการนำการเรียนการสอนบุคลากรด้านสุขภาพในรูปแบบใหม่ที่เน้นใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อผลิตบุคลากรด้านสุขภาพนั้น ต้องมีการปรับหลักสูตรให้ตอบรับความต้องการของสังคม และให้นักศึกษาสามารถมี ส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วย เพราะจะทำให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้ความเข้าใจชุมชนและสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานได้ การปฏิรูประบบสาธารณสุขจึงไม่ใช่แค่การเน้นการเพิ่มจำนวนบุคลากรเท่านั้นแต่ต้องสร้างบุคลากรที่เข้าใจ เรื่องชุมชนด้วยซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
ด้า นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์รองปลัด สธ. ระบุว่า การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียน การสอนบุคลากรสุขภาพตามแนวคิดทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง จะเป็นตัวเชื่อมในการสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ที่จะกลายเป็นกลไลช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ครบ ทุกองค์ประกอบด้านสุขภาพได้ในอนาคต อย่างแนวทางการสร้างคลินิกหมอครอบครัวให้ครบ 6,500 ทีม ในอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยคาดว่าจะพลิกโฉมระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบได้กับการวางรากฐานการป้องกันการเจ็บป่วยในลักษณะ Gatekeeper ที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพของตัวเองกันมาก ผ่านคำแนะนำและการตรวจเบื้องต้น จากบุคลากรด้านสุขภาพของทีมคลินิกหมอครอบครัว เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อป้องกันสุขภาพจากการเจ็บป่วย ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงการที่ประชาชนรู้ไม่จริง ที่ส่งผลต่อการป้องกัน นอกจากนี้การที่บุคลากร ของแต่ละสาขาได้มาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ความเข้าใจที่มีต่อพื้นที่ และการร่วมแรงร่วมใจเพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างสุขภาวะให้ประชาชน
ขณะที่ ทพ.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.แม่จัน ยกตัวอย่างถึงข้อดีของการปฏิรูปการเรียนรู้ในแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไป การลงพื้นที่ ของแพทย์ นักศึกษาแพทย์ และกลุ่ม สหวิชาชีพ ตามโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อยู่บนภูเขา และช่วยรักษาโดยไม่เลือกว่าใครมีบัตรประชาชนหรือมีสัญชาติ ฉะนั้น ถือว่าเป็นการเรียนรู้ การรักษาแบบมืออาชีพ เพราะการเรียนรู้ จากชุมชนในพื้นที่จริงจะได้อีกมุมมองหนึ่ง เป็นกระจกอีกด้าน เพราะเรื่องของการรักษาต้องเข้าใจในตัวคน เข้าใจในเบื้องหลังคนที่มารักษา การลงพื้นที่จะทำให้รู้สาเหตุของปัญหาเหล่านั้น "ถ้าเราให้นักเรียนแพทย์นักเรียนทันตแพทย์นักเรียนพยาบาลและนิสิตนักศึกษากลุ่มสหวิชาชีพลงพื้นที่ให้เขาทำโครงงานในพื้นที่เป็นฐานการเรียนรู้
เมื่อจบแล้วเขาจะเป็นหมอมีจิตวิญญาณ ที่ดีที่เข้าใจคนไข้มากขึ้นเราต้องเรียนด้านนี้กันมากขึ้นเพราะนักศึกษาแพทย์หรือนักศึกษาทันตแพทย์บางคนอาจจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ลำบากอาจจะไม่เข้าใจชีวิตผู้คนจริงๆที่อยู่ในชนบทว่าเป็นอย่างไรแต่ถ้าเขาได้มาสัมผัสกับชาวบ้านก็จะทำให้เขาเกิดความสงสารเห็นใจและกลายเป็นหมอจริงๆได้"
ที่สุดนั้น ก็เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพที่จะเปิดประตูออกสู่วิชาชีพเป็นมืออาชีพทั้งทักษะการรักษาพยาบาล และจิตใจความเป็นผู้ช่วยเยียวยา เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง นักศึกษาจำนวนมากที่อยากมาเรียนแพทย์นั้นต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตมากกว่าเพื่อมารักษาประชาชน