เครือข่ายสายน้ำ ‘ใจ’ เคลื่อนสุขภาวะ รร. แดนใต้
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ไม่เพียงปัญหาเรื่องหลักที่ต้องเผชิญกับความไม่สงบในพื้นที่ แต่เด็กและเยาวชนสามชายแดนใต้ยังมีปัญหา จากบริบทพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนกำลังทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต้องพร่องโอกาสทั้งด้านการศึกษาและ ขาดการมีสุขภาวะที่เหมาะสมกับช่วงวัย
ดังนั้น อย่าแปลกใจว่าทำไมโอกาสพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กและเยาวชนของสามจังหวัดชายแดนใต้จะอยู่ลำดับท้ายสุดของประเทศ โลกการศึกษาที่รัฐเข้าไม่ถึง ด้วยประสบการณ์มากกว่าสิบปีที่เคยคลุกวงในกับพื้นที่สามจังหวัดนี้มาต่อเนื่อง
หัวหน้าโครงการการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์พื้นที่ตะเข็บชายแดนใต้สุดของไทย ว่า เด็กและเยาวชน นราธิวาส ยะลา และปัตตานี กลายเป็นจังหวัดที่มีโอกาสเรียนรู้น้อยที่สุดกว่าจังหวัดอื่นใดในประเทศนี้ ด้วยความไม่มั่นคงที่เกิดจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จึงไม่มีใครอยากสุ่มเสี่ยงลงมาช่วยพัฒนาระบบการศึกษาในพื้นที่มากนัก
มิไยจะถูกซ้ำเติมด้วยบริบทในเรื่องพื้นที่ที่มีความแตกต่าง เพราะบางโรงเรียนในพื้นที่ยังอยู่ไกลในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องเดินทางข้ามภูเขา ข้ามห้วย อย่าง ยากเย็น หนำซ้ำบางโรงเรียนถึงกับขาด ผู้บริหารมาแรมปี และบางโรงเรียนก็เกิดเหตุการณ์ไม่สงบซ้ำซ้อนยากจะแก้ไข
เมื่อหลายฝ่ายเริ่มมองเห็นว่า ทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษาด้วยการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการการศึกษาของประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้เรียน ซึ่งจากความต้องการส่งเสริมให้บุตรหลานในพื้นที่ ได้รับการศึกษาเท่าเทียมคนอื่นและปกป้องดูแลพวกเขาให้พ้นจากปัญหาสุขภาวะ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เหล้า บุหรี่ ทุพโภชนาการ สุขภาวะทางเพศ
ซึ่งความต้องการแรกๆ คือการเรียนรู้ ที่บูรณาการกับหลักศาสนา แนวทางการดำเนินโครงการภายใต้หลักการ "การมีส่วนร่วมของครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและมัสยิด" จึงเกิดขึ้นในพื้นที่ และต่อมาคือการดำเนินงานในโครงการการเรียนรู้ แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมสู่โรงเรียน สุขภาวะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งโครงการดีๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความ เข้มแข็งของคน "ข้างใน"
ผศ.ดร.พิณสุดา เอ่ยต่อว่า ท่ามกลางวิกฤติมักมีโอกาส แม้ต้องเจอกับอุปสรรคมากมายก็ไม่อาจสร้างข้อจำกัดต่อการพัฒนาวิชาการในพื้นที่ได้ เพราะสามจังหวัดชายแดนใต้มีจุดแข็งคือ ไม่เคยหมดสิ้นคนดีที่มีศรัทธาและความหวัง
พลังมดแดง พลังน้ำใจ
"ทีมมดแดง" เป็นกลุ่มเครือข่าย จิตอาสาสายวิชาการที่มีเป้าหมายให้ทั้งความรู้ ให้การอบรมเหล่าครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้บริหารด้านการศึกษาในพื้นที่ด้วยใจรักและปราศจากสินจ้างรางวัลใดๆ ตลอดจนยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตสำคัญ และความ ไม่สงบในพื้นที่
ผศ.ดร.พิณสุดา เล่าถึงครั้งแรกของการได้พบกลุ่มบุคลากรที่มีใจรักและห่วงใยปัญหาการศึกษากลุ่มนี้ว่า เกิดขึ้นในวันที่เธอได้มาลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อกลางปี 2559
"ระหว่างนั่งทานน้ำชากับผู้บริหารโรงเรียนในโครงการบนถนนหน้าโรงแรมที่พักในนราธิวาส เมื่อผู้บริหารท่านหนึ่ง แจ้งว่าหลังทานน้ำชาแล้วจะไปคารวะอาจารย์ที่นับถือที่สำนัก ซักไซ้ไล่เลียงไปมาจึงรู้ว่าสำนักที่ว่าคือบ้านผู้บริหารโรงเรียนท่านหนึ่งที่เป็นเครือข่ายทีมมดแดง"
ด้วยพลังความเข้มแข็งของเครือข่าย ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งของสมาชิก ทีมมดแดงมีจำนวนถึงกว่า 100 โรงเรียน ที่รวมตัวกันเองทำงานกลายเป็นชุมชนวิชาชีพที่ยั่งยืนยังส่งผลต่อคุณภาพ ผู้เรียน เด็กและเยาวชน
ต่อมาการทำงานของเครือข่ายทีมมดแดง ได้จุดประกายแนวคิดเพื่อเดินหน้าสานต่อโครงการ มาสู่การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการศึกษาแบบมีส่วนร่วมและโรงเรียนสุขภาวะในเวลานั้น เธอยังได้ให้คำแนะนำ คณะทำงานว่า หากทีมมดแดงจะดำเนินโครงการตามแนวทางต่อ ควรได้สำรวจข้อมูลด้านสุขภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนย้อนหลัง 3 ปี เพื่อเป็นฐานวิเคราะห์สภาพปัญหาปัจจุบันที่แท้จริง แต่เพียงแค่ 5 วันหลังจากการหารือดังกล่าว ข้อมูลที่ว่า ทั้งหมดนั้นก็ส่งตรงถึงมือเธอด้วยความรวดเร็ว
"นี่คือการแสดงให้เห็นศักยภาพในการประสานงานทางวิชาการทางทีมมดแดง" เธอว่า
จากปัญหาที่ต้องแก้ไขและความมั่นใจในศักยภาพ เธอจึงไม่ลังเลที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาเสนอกับสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เพราะเชื่อว่าแนวทางดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของ สสส. โดยเฉพาะเรื่องการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมด้านสุขภาวะที่ควรได้รับ
โครงการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมสู่โรงเรียนสุขภาวะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเกิดขึ้นด้วยการดูแลของ มูลนิธิศึกษาธิการ ร่วมกับวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในกรณีเร่งด่วนในเวลานั้น ทั้งด้วยความร่วมมือสนับสนุนฝ่ายเครือข่ายวิชาการหลากหลายและทำให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 15 เครือข่ายในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
"พอเราเข้าไป เรารู้เลยว่าครูขาดการพัฒนา แต่จริงๆ ครูภาคใต้เก่งมาก มีภาวะผู้นำที่ดี แต่สิ่งที่เขาขาด คือโอกาส จากตอนแรกที่เราให้เขาลองเขียนโครงการ ยังเขียนไม่ถูก แต่พอ 18 เดือนต่อมา เขาเปลี่ยนแปลง"
นวัตกรรมจากโรงเรียนไกลปืนเที่ยง
โดยเมื่อรวมตัวเป็นเครือข่ายกัน จาก เบื้องต้น 3 จังหวัด 14 เครือข่าย ต่อมาเพิ่มอีก 1 เป็น 15 เครือข่าย 115 โรงเรียน ต่างก็เริ่มนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ รวมกับความโดดเด่นในด้านการประสานงานของทีมมดแดง ก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบ การรวมตัวของเครือข่ายที่มีความพิเศษแตกต่างกว่าเครือข่ายของโรงเรียนอื่นในโครงการที่ผ่านมา จนเรียกได้ว่าเป็น "นวัตกรรมของการรวมตัวกันทางบริหารจัดการรูปแบบใหม่" ที่เกิดจากพื้นที่ที่รัฐเอื้อมมาไม่ถึง
ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากการรวมตัวเป็นเครือข่ายผ่านความเชื่อและปรัชญาเดียวกัน บริบทและพื้นที่เดียวกัน ปัญหาเดียวกัน สังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน หรือสังกัดเดียวกัน ที่ต่างมาร่วมมือกันเพื่อจัดการการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
"จากในอดีตแต่ละคนต่างคนต่างไม่รู้จัก เวลามีปัญหาทางวิชาการก็แก้กันเอง ทำคนเดียว เหนื่อยคนเดียว นำมาสู่นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย การออกแบบพัฒนาหลักสูตรและจัดทำคู่มือแลกเปลี่ยนกันภายในเครือข่ายที่เข้มแข็ง"
ตัวอย่างเช่น เครือข่ายลังกาสุกะ ที่มีการรวมตัวกันโดยใช้วัฒนธรรมสายน้ำ ของแม่น้ำบางนรา ตั้งแต่โรงเรียนที่อยู่ต้นน้ำ (บนเขา) ในสุไหงปาดี มาถึงกลางน้ำในอำเภอสุไหงโกลก และปลายน้ำในอำเภอตากใบ
เครือข่ายลาโละ ที่นราธิวาส ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขายากลำบากในการเดินทางที่ทำให้การรวมตัวระยะแรกก็มีปัญหาเรื่องความห่างไกล แต่สุดท้ายก็แก้อุปสรรคด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ทั้งกลายเป็น ผู้คิดค้นการบริหารแบบใหม่ที่เรียกว่า PISED Model
เครือข่ายลูโบ๊ะกาเยาะ ที่มีโรงเรียน ลูโบ๊ะกาเยาะ ในระแงะ เป็นแม่ข่าย ที่ถนัดในกิจกรรมแปลงขยะเป็นทองจึงเป็นผู้นำ ในการจัดทำคู่มือและสื่อการเรียนรู้เรื่องนี้
แต่ความน่าสนใจที่สุดนั้นอยู่ที่ทุกเครือข่ายจะผลัดกันเป็นผู้นำผู้ตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จนสามารถพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการ ที่มาในรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรและคู่มือการเรียนรู้ที่หลากหลายสาขาทั้งในระบบและนอกระบบ
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่มูลนิธิศึกษาธิการ ร่วมกับวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ สสส. ได้เข้ามามีบทบาทในงานนี้ คือการแค่ ช่วยเหลือในการบริหารจัดการโครงการ และเติมเต็มองค์ความรู้ที่เสริมสร้างแนวทาง และการจัดการการเรียนการสอนให้กับบุคลากรด้านการศึกษาในพื้นที่เท่านั้น
"สมมติว่าโรงเรียน ก. เก่งสร้างหลักสูตรอ่านออกเขียนได้ โรงเรียน ข. เก่งสุขภาวะ เศรษฐกิจพอเพียง และโรงเรียน ค. เก่งเรื่องเพศ ใครเก่งอะไร ถนัดเรื่องไหนก็เป็นแม่งานจัดทำ ผลลัพธ์ที่เราได้เห็นจากโครงการนี้คือว่า หากรัฐจัดให้โรงเรียนคิดเอง แก้ปัญหาเอง จะลดภาระรัฐ และพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว"
การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียว
ความเห็นจาก ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. เอ่ยถึง นโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในโรงเรียนของ สสส. ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน สสส. ได้ร่วมพัฒนา "โรงเรียนสุขภาวะ" ที่เป็นรูปธรรมกว่า 3,000 โรงเรียน จะเน้นทำหน้าที่เป็นฝ่ายเสริมวิชาการเป็นหลัก ซึ่งบทบาทการขับเคลื่อนจะต้องตกเป็นของพื้นที่ โดยยืนยันว่า การดำเนินงานส่งเสริมเรื่องโรงเรียนสุขภาวะแต่ละพื้นที่ แต่ละแห่ง สสส.ไม่ใช่หน่วยงานหลัก
"สิ่งที่ สสส.แสวงหา คือคนทำงานที่มองเห็นว่าประเด็นสุขภาวะเด็กและเยาวชนในโรงเรียนยังมีช่องว่างหรือยังไม่เกิดขึ้นแต่สามารถเป็นไปได้จริง เรามองความเป็นไปได้ แล้วจึงให้การสนับสนุน และที่สำคัญ เมื่อลงมือทำ แล้วเราอยากให้เขาเดินต่อเองได้อย่างยั่งยืน"
ณัฐยาเอ่ยต่อว่า ผลที่ได้คือบางที่อาจเป็นแค่การเติมองค์ความรู้ แต่บางพื้นที่เปลี่ยนวิธีคิดได้
"สสส.จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนหรือชุมชนลงมือสร้างนวัตกรรมของตัวเองและ ต้องมีการสรุปบทเรียนเหล่านี้ที่สำคัญ การดูแลเรื่องสุขภาวะเด็กจะดีหรือไม่ ทำแค่ ในโรงเรียนไม่พอ เพราะถ้าทำแต่ในโรงเรียน เรามองว่าเห็นผลยาก" เธอชี้แจงทิ้งท้าย