เครือข่ายร่วมสร้างห้องสมุดมีชีวิต
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
ดึงความร่วมมือภาคีเครือข่ายร่วมสร้างห้องสมุดมีชีวิต ประชุมภาคีส่งเสริมการอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดในการวางแผนจัดกิจกรรมและการใช้พื้นที่ของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร
น.ส.ปราณี สัตยประกอบ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมภาคีส่งเสริมการอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดในการวางแผนจัดกิจกรรมและการใช้พื้นที่ของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร โดยมี นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านของกรุงเทพมหานคร อาทิ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (TK Park) มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์ สาส์น จำกัด ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย กรมราชทัณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย แผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักหอสมุดแห่งชาติสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร บริษัท สถาพร บุ๊ค สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ ฯลฯ และหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมการอ่าน ร่วมประชุม ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นการนำต้นทุนทางปัญญาจากพลังความร่วมมือของเครือข่าย ทำให้ห้องสมุดทั่วกรุงเทพฯ มีชีวิต ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตและกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงและสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
นางปราณี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครขอขอบคุณภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านจากทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่าน นับตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ประกาศให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อปี 2552 โดยกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน อีกทั้งได้ร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างหลากหลายเพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และประชาชนมีนิสัยรักการอ่าน อาทิ กิจกรรมพี่ชวนน้องอ่านกันสนั่นเมือง กิจกรรมส่งเสริมการอ่านจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน เป็นต้น นับเป็นความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ในการขับเคลื่อนจนกรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกเมื่อปี 2556 ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จของพันธกิจดังกล่าว คือ การจัดสร้างหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.60 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยกรุงเทพมหานครได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมและหลากหลาย เช่น การเปิดตัวหนังสือใหม่ การจัดนิทรรศการหนังสือจากต่างแดน นิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านต่างๆ โดยมีนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาร่วมพูดคุยให้ความรู้ การเสวนาโดยนักเขียนหน้าใหม่ เป็นต้น
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า นอกจากหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้อีก 36 แห่ง เปิดให้บริการแก่ประชาชนกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ควบคู่กับการอ่านให้เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของห้องสมุด เช่น ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้คลองสามวา มีความโดดเด่นในเรื่องของการส่งเสริมการอาชีพและการท่องเที่ยว ได้จัดให้มีการให้ความรู้และฝึกอาชีพควบคู่กับการอ่าน ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ห้วยขวาง (ห้องสมุดการ์ตูน) มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนโดยใช้ตัวการ์ตูนมาเป็นจุดเชื่อมโยง ห้องสมุดร่มเกล้า(ห้องสมุดสีเขียว) เป็นต้นแบบการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น คาดว่าในอนาคตจะเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านในรูปแบบต่างๆ เช่น 1 สำนักพิมพ์ 1 ห้องสมุดในพื้นที่ ซึ่งจะได้มีการร่วมหารือ แลกเปลี่ยนแนวคิดและการทำงานร่วมกันต่อไป