เครือข่ายพัฒนาทักษะชีวิต “คุณแม่วัยใส”

ปัจจุบันมีเด็กไทยเป็นจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับด้วยสาเหตุ “การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์” เมื่อต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “นักเรียน” ไปเป็น “แม่” ในวัยที่ยังไม่พร้อม ทำให้ขาดทักษะในการเลี้ยงดูลูก รวมไปถึงทักษะที่จะเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคม

ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย หากเพิกเฉยปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงเยาวชนไทยที่ต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็น “พ่อ” และ“แม่” แทนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้วยการก้าวเข้าสู่ภาคแรงงานอย่างมีคุณภาพ

โครงการ “การพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคุณแม่วัยใสให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ของนาวสาวสุภาณี มะหมีนหรือ ครูไหม ครู กศน.ตำบลเขานิเวศน์ จ.ระนอง ผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายขยายความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเพื่อให้กลุ่มคุณแม่วัยใสที่มีอายุตั้งแต่ 14-20 ปี ให้สามารถดูแลตนเองและลูกน้อยให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

“ปัญหาคุณแม่วัยใสในยุคปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่เฉพาะแค่ที่จังหวัดระนอง เพราะเด็กในวัยเรียนมีปัญหาเรื่องชู้สาวและท้องก่อนเรียนจบเป็นจำนวนมาก ปัญหานี้นอกจากจะต้องหาทางแก้ไขแล้วยังต้องหาทางป้องกันไปพร้อมๆ กันด้วย โดยโครงการนี้จะเป็นการป้องกันและก็แก้ปัญหาให้กับเยาวชนที่พลาดไปแล้ว โดยให้โอกาสในการกลับมาเรียนหนังสือกับทาง กศน. โดยเราก็จะให้ความรู้ทั้งด้านความรู้ของสายสามัญ การส่งเสริมอาชีพ และหลักการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน การดูแลลูก การทำจิตใจให้ยอมรับกับสภาพปัญหาแล้วก็เริ่มต้นชีวิตใหม่” ครูสุภาณีเล่าถึงที่มาของโครงการ

โดย “ครูสุภาณี” ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาให้กับเยาวชนในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับ “คุณแม่วัยใส” จำนวน 5 หลักสูตร ประกอบไปด้วย 1.การให้ความรู้ในเรื่องการดูแลลูก, 2.พี่สอนน้องเรื่องท้องก่อนวัยอันควร, 3.ธรรมะช่วยสอน, 4.การอยู่อย่างพอเพียง และ 5.การฝึกอาชีพระยะสั้น และหลังจากที่ได้ดำเนินงานไประยะหนึ่งก็ได้รับความร่วมมือขยายผลไปยังเครือข่ายอื่นๆ จนอยู่ในระหว่างการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมอีกหลายหลักสูตร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ทักษะชีวิตด้านยาเสพติด”

“หลักสูตรต่างๆ เกิดขึ้นเพราะอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ เช่น ถ้าเขามีลูกเขาก็เลี้ยงลูกเอง เลี้ยงลูกแล้วก็ยังมีอาชีพมีงานทำ ให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าถึงแม้จะอายุน้อยแต่ว่าเขาก็มีความรับผิดชอบที่จะดูแลตัวเองและลูก เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเป็นสัจธรรมของโลก ทุกคนต้องมีความรักและความใคร่ แต่ในเมื่อผิดพลาดมาแล้วทุกคนก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แล้วก็อยากให้เด็กกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มเพื่อนคนอื่นๆ ให้มีสติยั้งคิด รวมไปถึงในอนาคตก็จะต่อยอดไปสู่การตั้งศูนย์เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือดูแลสำหรับเยาวชนที่มีปัญหาในเรื่องนี้” ครูไหมเล่าถึงความคาดหวังในการทำงาน

พระครูวิมลกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดอุปนันทาราม จ.ระนอง ผู้ออกแบบ “หลักสูตรธรรมะช่วยสอน” กล่าวว่าในหลักสูตรนี้จะเป็นการสอนในเรื่องของหลักธรรมกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของ “ศีล” เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทในการดำรงชีวิต

“เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ หลายคนมักจะมองและโทษไปที่ครอบครัวหรือคนอื่น โดยไม่มองว่าเหตุทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาจากตัวของตนเอง จึงนำหลักธรรมะมาเป็นเสมือนเครื่องประคับประคองชีวิตให้มีสติ ให้เขาสามารถดูแลตัวเองต่อไปในอนาคตได้ และศีลจะช่วยประคับประคองชีวิตของตัวเองไม่ให้ตกต่ำลงไปกว่าที่เป็นอยู่ และจะช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น” พระครูวิมลฯ ระบุ

นางสาวพรทิพย์ พรหมสุวรรณ นักวิชาการจาก สนง.ตรวจบัญชีสหกรณ์ระนอง ผู้สอนหลักสูตรอยู่อย่างพอเพียง กล่าวว่าการเรียนรู้ในเรื่องของ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” และ “การทำบัญชี” จะช่วยให้น้องๆ ได้รู้จักตัวเอง สามารถควบคุมและบริหารจัดการชีวิตตัวเองในสังคมได้

“ในระหว่างการสอนก็จะคอยสอดแทรกความรู้ต่างๆ รวมไปถึงคุณธรรมจริยธรรม การรู้จักแบ่งปัน เพื่อให้เขาได้รู้จักและรู้เท่าทันตัวเอง สามารถใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเร้ารอบตัวได้ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นนั้นล้วนเกิดขึ้นจากการขาดความพอประมาณในจิตใจ” น.ส.พรทิพย์ระบุ

นางอังคนา รัตน์นราทร พยาบาลวิชาชีพจาก รพ.สต.บางริ้น ผู้พัฒนา หลักสูตรพี่สอนน้องเรื่องท้องก่อนวัยอันควร กล่าวว่าจะสอนให้น้องๆ ได้รู้จักยั้งคิดและมีสติก่อนที่จะคิดมีเพศสัมพันธ์ เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เสียเวลาไปเกือบทั้งหมดของชีวิต เสียโอกาสในการเรียน เสียโอกาสในการทำงานดีๆ และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดูแลลูกที่เกิดขึ้นมา

“หลักสูตรนี้จะเน้นให้น้องๆ รู้จักคิดเป็น ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้เห็นผลกระทบ โดยให้เรียนรู้ชีวิตจริงและความเป็นจริงจากรุ่นพี่ที่มาเปิดอก เล่าบทเรียนและประสบการณ์ของการท้องก่อนวัย ที่ต้องส่งตัวเองเรียนหนังสือและก็ต้องเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน เพื่อจูงใจไม่ให้เกิดเหตุซ้ำร้อย” นางอังคนากล่าว

ด้านตัวแทนกลุ่มของคุณแม่วัยใส “น้องเอ” (นามสมมุติ) ที่มักจะชักชวนเพื่อนๆ ให้เข้ามาเข้าร่วมในทุกกิจกรรมที่ “ครูไหม” จัดขึ้นต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ความรู้ที่ได้รับมีประโยชน์ต่อตัวเองทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน การวางแผนครอบครัว

“ที่สำคัญคือรู้จักวิธีการดูแลลูกอย่างถูกต้อง รวมถึงเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และการทำบัญชียังช่วยให้รู้เรื่องของรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน” น้องเอกล่าว

โดยปัจจุบันทาง กศน.จังหวัดระนอง ได้เห็นความสำคัญและสนับสนุนสถานที่ในการจัดตั้ง “ศูนย์คุณแม่วัยใส” ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองขึ้น เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ และมีแนวคิดที่จะขยายศูนย์ในลักษณะนี้ออกไปยังทุกๆ อำเภอของจังหวัด พร้อมกับสร้างเครือข่ายคณะทำงานและคุณแม่วัยใสผ่านโลกออนไลน์ facebook และ line เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานทั้งจังหวัด

“เมื่อคุณแม่หรือคุณพ่อวัยใสได้มาเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 5 หลักสูตร เราก็คาดหวังว่าคุณภาพชีวิตเขาคงจะดีขึ้น เพราะว่าเมื่อเขาได้เรียนรู้ในเรื่องของหลักธรรม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทักษะการดำเนินชีวิต การเลี้ยงดูเด็ก และทักษะอาชีพต่างๆ ส่วนเรื่องราวเลวร้ายที่ผ่านมาก็สามารถที่จะลืมมันไป และมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ครูไหมกล่าวสรุป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code