เครือข่ายงดเหล้าเชิดชูคนปลอดเหล้า ต้นแบบสังคม
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย พีรชัย วงษ์เลิศ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า และแฟ้มภาพ
เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วยจังหวัด ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งมีศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ อยู่ที่ จ.สุรินทร์ รูปแบบการทำงานของเครือข่าย งดเหล้าภาคอีสานตอนล่างเป้าหมายสำคัญคือการกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน ตอนล่างเกิดการตื่นตัวและร่วมเป็นเจ้าของ ในการป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบจาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงซึ่งมีแนวทางการทำงานหลักๆ คือ
1)การลดนักดื่มหน้าใหม่และสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน ที่ผ่านมาได้สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนได้แสดงบทบาทและศักยภาพของตนเองในการปกป้องเยาวชนให้พ้นจากพิษภัยน้ำเมา
2)พัฒนาพื้นที่รูปธรรมยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า เรื่องดังกล่าวนี้ได้เน้นการทำงานที่สอดคล้องกับต้นทุนทางสังคม เปิดโอกาสให้ชุมชนร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านการประชาคม กำหนดกติกาของชุมชน ซึ่งจากกระบวนการทำงานพบว่ามีหลายพื้นที่มีความสำเร็จในการทำงานและยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
3)ปรับเปลี่ยนค่านิยมงานบุญเปื้อนเหล้าให้เป็นงานบุญปลอดเหล้า โดยเครือข่าย งดเหล้าฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมการ รณรงค์งานบุญประเพณีปลอดเหล้า โดยมีเป้าหมาย เพื่ออนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรมและลดผลกระทบ ที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่งานบุญประเพณี
4)พัฒนาศักยภาพเครือข่ายคนทำงาน และบูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่าย เป็นการ ดึงคนทำงานประชาคมงดเหล้า มาทำงานในบทบาทของจิตอาสาที่ต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและ มีความสุข
5)สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะลดปัจจัยเสี่ยงในทุกระดับ ทั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับภาคีภาครัฐและเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อประสานให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และในท้องถิ่น ที่ผ่านมามีนโยบายสาธารณะที่เกิดจากการทำงานของประชาคม งดเหล้ามากมาย เช่น นโยบายสาธารณะงานช้าง-งานกาชาดปลอดเหล้าจังหวัดสุรินทร์ บุญผะเหวดปลอดเหล้าจังหวัดร้อยเอ็ด งานศพปลอดเหล้า ปลอดการพนัน งานแข่งเรือ ปลอดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ริมธารา สวนป่ารีสอร์ท อ.เมือง จ.สุรินทร์ เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนล่างได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "สานงานเสริมพลัง 10 ปี ขบวนการงดเหล้าอีสานตอนล่าง" ขึ้น โดยมีกลุ่มเครือข่ายพระสงฆ์พัฒนา ผู้แทนภาครัฐ เอกชน ตลอดทั้ง นักวิชาการและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องของแต่ละจังหวัดประมาณ 300 กว่าคน มีนายวินัย ตรงจิตพิทักษ์ รอง ผวจ.สุรินทร์ได้ให้เกียรติเป็นประธานในงานมหกรรม มีสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ให้การสนับสนุน
นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนล่างกล่าวว่า งานมหกรรม 10 ปี ครั้งนี้จึงเป็น การแลกเปลี่ยนและร่วมหาแนวทางเพื่อให้สังคมภาคอีสาน ตอนล่างเป็นสังคมสุขภาวะ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีพิธีเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ ในจังหวัดต่างๆ ดังนี้ จังหวัด นคราชสีมา ได้แก่ นายส่งสูนย์ โพธิปานพะเนา, นายจักรี เอกราช, จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่นายปาน ทองแพง, จ.ส.อ.ธงชัย วรรณา, จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ นายถวิล เทพแพง, นายนิยม เจริญ, จังหวัดร้อยเอ็ด ได้แก่ นายสำราญ ขันธ์สัมฤทธิ์, นายประจักษ์ สาศิริ, จังหวัดอำนาจเจริญ ได้แก่ นางสาวสุภาพร เผ่าบ้านบ้านฝาง, นายนิวัตน์ พิมพ์อินทร์, จังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ นายวิไล ราชเจริญ, นางผ่องศรี แซ่จึง, จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ นายเอียง กองฉลาด,นายมั่ง สาแก้ว, จังหวัดยโสธร ได้แก่ นายสุกล กิจเกียรติ์, นายสุดใจ จวนกลาง, นอกจากนี้ ยังมีมอบเกียรติบัตรเชิดชูหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการ ขับเคลื่อนงานงดเหล้าประกอบด้วย มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดบุรีรัมย์, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี, องค์การบริหารส่วนตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด, องค์การบริหารส่วนตำบลนาจิก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ, ชมรม TO BE NUMBERONE ตำบลแคนน้อย จังหวัดยโสธร และสำนักงานชลประทานสุรินทร์
ด้านนางผ่องศรี แซ่จึง สภาวัฒนธรรมอำเภอราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลต้นแบบ กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ใหญ่เริ่มดื่มเหล้าน้อยลง แต่ลูกหลานเด็กเยาวชนดื่ม มากขึ้น จนน่าเป็นห่วง ดื่มแล้วไปทำอะไรต่ออะไรจนเกิดปัญหา สังคมมากมาย เช่น การตั้งครรภ์ไม่พร้อม เรียนหนังสือไม่จบ ดังนั้น จึงทุกคนทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน ขณะที่นายถวิล เทพแพงกำนันตำบลธาตุน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าผมเลิกเหล้า เพราะผู้นำชุมชน-ผู้ใหญ่บ้านขอร้องให้เลิกเหล้า เพื่อสร้างความศรัทธาและเป็นแบบอย่างให้กับชาวบ้าน และที่สำคัญเปลี่ยนค่าเหล้า มาเป็นค่ากับข้าวให้ครอบครัว
ด้านนายสำราญ ขันธ์สัมฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน โนนม่วง ต.ทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ได้ให้ ข้อคิดว่า ก่อนนี้ผมดื่มจัดมาก แต่พอมาเป็นผู้นำชุมชน ผมจึงต้องเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน ดังนั้นการเลิกเหล้ามันอยู่ที่ใจ ถ้ามุ่งมั่น เสียอย่างเลิกง่ายๆ มันอยู่ที่ใจ, นางสาวสุภาพร เผ่าบ้านบ้านฝาง เยาวชนตำบลหนองสามสี อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ให้แนวคิด ว่า การดื่มนั้น มาจากเพื่อน 90% ที่เหลือเป็นการ อยากรู้อยากลอง อีกอย่างเยาวชนอยู่ในวัยที่มีกำลังมา อยู่เฉยไม่ได้ ผู้ใหญ่ควรหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ กิจกรรมที่เขาสามารถแสดงออกให้พวกเขาได้ทำ จะได้ ลดเวลาเที่ยว เวลาดื่ม มาทำงานสร้างสรรค์สังคม บ้าง ขณะที่อธิการบดี ม.วงษ์ชวลิตกุลพยายามค้นหากลยุทธ์ให้นักศึกษา ห่างไกลจากเหล้าและ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จึงได้เข้าร่วมมหาวิทยาลัยปลอดเหล้า และร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนงานของประชาสังคมงดเหล้ามาอย่างเนื่อง ขณะที่ สำนักงานชลประทานจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างผลงานที่สำคัญคือ การจัดระเบียบร้านค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 80 ร้านค้า ที่ขายอาหารบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ไม่ขายเหล้าในช่วงสงกรานต์อย่างได้ผล
จากการเชิดชูบุคคลต้นแบบ และ หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนครั้งนี้ จึงเชื่อได้ว่า จะเป็นแบบอย่างของสังคม ทำให้เกิดพลังของ คนทำงานที่จะส่งผลไปถึงครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เกิดเป็นกระแสในการขับเคลื่อน งานรณรงค์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมลดผลกระทบ จากการดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นอย่างดี