เครือข่ายครูร่วมสร้าง”โรงเรียนปลอดบุหรี่ 100%”
แม้จะมีข้อกฎหมาย อย่าง พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2553 แต่ปัจจุบันยังพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้เยาชนหันไปทดลองยาเสพติดประเภทอื่นๆ ที่ร้ายแรงกว่า
ดังนั้น การดำเนินการให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ 100% จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ในการป้องกันริเริ่มสูบบุหรี่ในเยาวชน และกลายเป็น บันทึกความตกลงร่วมมือในการดำเนินการโรงเรียนปลอดบุหรี่ ระหว่าง กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ตั้งแต่ปลายปี 2556 กระนั้น การเดินทางไปสู่การเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ หนึ่งในภาคีของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขาภาพ (สสส.) จึงออก "คู่มือดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่" ไว้ให้สถานศึกษาที่สนใจนำไปทดลองปฏิบัติ เนื่องจากตระหนักว่าบุหรี่เป็นสินค้าฆ่าคนที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด การสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ให้เกิดขึ้นจริงในสถานศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โดยจากประสบการณ์การทำงานขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้นมานานกว่า 10 ปี ของกลุ่มครูที่พยายามคิดค้น พัฒนา และปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงาน ด้วยการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ในโรงเรียน รวมถึงการให้ความรู้กับนักเรียนเพื่อให้เท่าทันบุหรี่ในแง่มุมต่างๆ ทั้งยังปลูกฝังความคิด ความเชื่อ และค่านิยมให้นักเรียนมองเห็นว่า"การสูบบุหรี่เป็นเรื่องผิดปกติ"
เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ระบุว่าแนวทางดำเนินงานเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ได้ 100% ต้องมี 7 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่ 1.การบริหารจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 2.มีนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่ 3.จัดสภาพแวดล้อมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 4.สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร 5.นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่ 6.ดูแลช่วยเหลือไม่ให้นักเรียนสูบบุหรี่ และ 7.มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
ส่วนขั้นตอนการลงมือปฏิบัติจริงต้องเริ่มจาก การตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยครูผู้ริเริ่มควรเข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนแต่งตั้งคณะทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ เช่น คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรจากชุมชน นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนจากโรงพยาบาล ตำรวจ พระในชุมชน อสม. เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะทำงานไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก แต่ขอให้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานเป็นประจำ เพราะการทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ได้จริง ไม่สามารถทำเป็นกิจกรรมวันเดียวแล้วจบ นอกจากนี้ การรายงานความก้าวหน้าแก่ผู้ร่วมทำงาน จะทำให้รู้เป็นเจ้าของงานร่วม เมื่อมีการขอความช่วยเหลือจะง่ายขึ้น
ต่อจากนั้น ให้สำรวจก่อนสภาพปัญหาการสูบบุหรี่ในสถานศึกษาก่อนเริ่มดำเนินงาน จะช่วยให้การทำงานหรือออกมาตรการต่างๆ เน้นได้ตรงจุด ส่วนการออกมาตรการหรือนโยบายนั้นต้องตระหนักเสมอว่า นโยบายที่ดีไม่ควรสร้างศัตรู และ นโยบายที่ดีควรให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดคือสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และประมวลจนได้ข้อสรุปที่ตรงกัน
นอกจากนี้ นโยบายที่ดีควรครอบคลุมทุกด้านและต้องดำเนินการได้จริง เช่น โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ฉะนั้น ห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในบริเวณโรงเรียนอย่างเด็ดขาด ทั้งในและนอกเวลาราชการ รวมถึงกรณีที่บุคคลภายนอกเข้ามาใช้สถานที่ของโรงเรียนจัดกิจกรรมหรืองานตามประเพณี หรือโรงเรียนสนับสนุนให้บุคลากรเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ หรือไม่สูบบุหรี่ขณะแต่งเครื่องแบบราชการ เลยไปถึงมาตรการป้องกันผู้สูบบุหรี่รายใหม่ มีกระบวนการช่วยเหลือนักเรียนที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ และโรงเรียนสนับสนุนการสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน ในการสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ให้เกิดขึ้น
ที่สำคัญ นโยบายที่ดีต้องเป็นลายลักษณ์อักษรและย้ำเตือนบ่อย ๆซึ่งหากเป็นไปได้ควร สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการเรียนการสอบและกิจกรรมนอกหลักสูตรของโรงเรียน โดยเน้นไปที่เรื่องบุหรี่ที่นักเรียนควรรู้ และกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมให้เหมาะกับช่วงวัย และอย่างที่ระบุไว้ในข้างต้น หากต้องการให้การดำเนินงานในภาพรวมง่ายขึ้น ต้องชวนให้ผู้นำชุมชนมีนโยบายในเรื่องทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ เพราะหากบรรยากาศในชุมชนรอบๆ โรงเรียน ยังเต็มไปด้วยค่านิยมที่มองว่าการสูบบุหรี่คือเรื่องปกติ หรือเป็นเรื่องส่วนบุคคล การขายบุหรี่ให้เยาวชนเป็นเรื่องไม่ผิด การทุ่มเทพลังจัดกิจกรรมในข้างต้นจะไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ แต่ต้องดำเนินงานในลักษณะที่ไม่เป็นศัตรูกับชุมชน
จากผลการดำเนินการตาม 7 องค์ประกอบในข้างต้น ทาง เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ยืนยันว่า สามารถสื่อสารให้บุคลากรในโรงเรียนและชุมชน เห็นความสำคัญของการปกป้องเยาวชนจากควันบุหรี่ และสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ให้เยาวชนได้อย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์