เข้าพรรษาเลิกดื่มด้วย “สติ” เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
เข้าพรรษาถูกใช้เป็นวาระสำคัญในการผลักดันเรื่องที่เกี่ยวกับการลด เลิกดื่มแอลกอฮอล์มาต่อเนื่องกว่า 17 ปี ปีนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2563 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้จะมีการรณรงค์เลิกเหล้าต่อเนื่อง แต่กราฟตัวเลขการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวของคนไทยก็ยังคงทะยานขึ้นสูงอยู่ โดยวันนี้ประเทศไทยยังคงมีสถิตินักเมาเป็นอันดับ 5 ของโลก ปีนี้เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องอีกปี สสส.จึงชวนทุกคนมาประกาศวาระการใช้สติงดเหล้า
โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มนักดื่มประจำที่มีกว่า 7 ล้านคน มากขึ้น โดยกลุ่มนี้มีความถี่ในการดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะกลุ่มนี้มีภาวะความเสี่ยงต่อการมีปัญหาและการติดสุราสูงกว่า 1.71 ล้านคน โดยปีนี้จะใช้วิธีการรณรงค์ 2 รูปแบบ
คือ 1. การสื่อสารรณรงค์ผ่านการประชาสัมพันธ์ โดยใช้แนวคิด "งดเหล้าเข้าพรรษา มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต"
และ 2.เน้นการทำงานเชิงลึกกับพื้นที่ชุมชน ซึ่งขณะนี้เครือข่ายมีชมรมคนหัวใจเพชร ซึ่งเป็นคนที่สามารถเลิกเหล้าตลอดชีวิต จำนวน 142 ชมรม และมีนายอำเภอนักรณรงค์ 158 ราย พร้อมคณะทำงานระดับท้องถิ่น สร้างพลังชุมชนช่วยกันขับเคลื่อนหลากหลายกิจกรรมโน้มน้าวใจนักดื่มให้ ลด ละ เลิก
รวมถึงโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ซึ่งเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทบต่อชีวิตของคนในสังคม สู่การเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาคนที่ดื่มไปพร้อมกัน ที่ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีโรงเรียนในสังกัดเกือบ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่อง
ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่าปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ใช้กิจกรรมจดหมายสื่อรักลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า โดยได้เก็บข้อมูลหลังออกพรรษา 377 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ปกครองงดเหล้าครบพรรษา 16,691 คน ผู้บริหารและคุณครูงดเหล้าครบพรรษา 4,662 คน มีนักเรียนเขียนจดหมายสื่อรักขอพ่อแม่เลิกเหล้า 22,722 คน และนักเรียนที่พ่อแม่ไม่ดื่มก็เขียนจดหมายขอบคุณ 21,997 คน และได้นำกรณีศึกษาที่พ่อเลิกเหล้าได้มาทำสื่อเผยแพร่อย่างสร้างสรรค์
ตัวอย่างการรณรงค์ในพื้นที่ อย่าง "พุทไธสง" จังหวัดบุรีรัมย์ ต้นแบบจัดกิจกรรมเชิงรุก นำแนวคิดวิถีพุทธ จัดโครงการ"สติบำบัด" มารวมพลังกับกระบวนการ ชวน ช่วย เชียร์ จนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน โดยนอกจากแกนนำทั้งนายอำเภอนักรณรงค์ อย่าง นิมิต ปัทมเจริญนายอำเภอพุทไธสง และชมรมคนหัวใจเพชรต.หายโศก ยังร่วมด้วยภาคี ที่ประกอบด้วยทีม อสม. และทีมงาน รพ.สต.หายโศกไปจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันขับเคลื่อนยกชุมชน
บุญเติม ฉาบไธสงค์ หนึ่งคนต้นแบบที่เลิกเหล้าสำเร็จจากกระบวนการ จากอดีตเขาเคยดื่มหนัก เรียกว่าดื่มไม่เลิก ดื่มตั้งแต่เย็นถึงสว่าง จนเป็นที่มาของฉายา "บุญเติม 3000 ปี" ที่คนทั้งชุมชนเรียกขาน แต่หลังเข้าร่วมโครงการสติบำบัดกับทาง รพ.สต. เริ่มปี 2563 เป็นต้นมาเขาแทบไม่ได้แตะเหล้าอีกเลย
เพ็ญจันทร์ บุญถึง ผู้อำนวยการ รพ.สต.หายโศก เผยเคล็ดไม่ลับที่สามารถจูงใจนักดื่มอย่างบุญเติมเลิกเหล้าได้สำเร็จว่า อยากช่วย คนที่ติดเหล้า บางรายเมาแล้วอาละวาด เกิดอุบัติเหตุ ถูกมองว่าทำความเดือดร้อนให้ชุมชน หลังได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมอบรมผ่านโครงการลด ละเลิก จึงเริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่อาศัยว่าอยู่ที่นี่มาเกือบ 40 ปีแล้วใช้ความสนิทสนมชวนเข้าโครงการ ซึ่งพอเลิกได้ เขาปรับวิธีคิดตัวเองไปทำให้เขาสามารถหยุดเองได้จริง
ด้าน สุมาลี โพธิ์สิทธิพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ รพ.สต.หายโศกนักสติบำบัดที่รับไม้ต่อเป็นกระบวนการในโครงการ เล่าว่า โครงการจะเน้นเรื่องการนำเรื่องสติวิถีพุทธจัดการภาวะจิตใจ เพื่อประคองสติในชีวิตประจำวัน โดยหลังจบโครงการรุ่นแรกมีคนสามารถเลิกได้มากกว่า 6 เดือน จำนวน 3 จาก 15 คน โดยในสองคนที่เลิกได้ เป็นต้นแบบร่วมกระบวนการให้กับรุ่นต่อมา ในปีที่สองได้เริ่มเรียนรู้ปัญหาแล้วค่อยๆปรับกระบวนการ ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น โดยมี 17 คนที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลิกดื่มเกิน 6 เดือนได้ถึง 7 คน
อย่างไรก็ตามคนที่จะทำให้โครงการสำเร็จ คือครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจได้อย่างดี นำคนต้นแบบหัวใจเพชรที่เคยประกาศตัวผ่านโครงการ "เหล้าขวดสุดท้ายพิชิตใจนักดื่ม" มาถ่ายทอดว่า ชีวิตเขาก็เป็นแบบนี้ไม่แตกต่างกัน แต่ยังสามารถเลิกได้ และปัจจัยสำคัญคือต้องสร้างการรับรู้ในชุมชน
"หัวใจสำคัญต้องมีครบ 3 อย่าง คือมีบุคคลต้นแบบหัวใจเพชร มีสติบำบัดคอยช่วยสิ่งที่ช่วยให้เขาคิด เสริมกำลังใจ และภาคีเครือข่ายเป็นแรงหนุนรพ.สต. ทำคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ ต้องคนทั้งชุมชนร่วมมือกัน" สุมาลี กล่าวทิ้งท้าย