เข้มการบริการให้คนเลิกสูบบุหรี่จำนวนคนสูบบุหรี่จะลดเร็วยิ่งขึ้น
ในงานประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพ” ครั้งที่ 10 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบมหาวิทยาลัยมหิดล (ศจย.) ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุม และผู้เข้าสังเกตการณ์ได้รับรู้ว่า”ผลของการรณรงค์ให้คนไทยมองเห็นพิษภัยของบุหรี่ที่ทำมาโดยตลอดนั้น ทำให้ปริมาณคนที่เคยสูบบุหรี่ ลดจำนวนลงถึง 50%”
เท่าที่มีตัวเลขจากการสำรวจอย่างเป็นทางการ ระบุออกมาว่า ในประเทศไทย มีคนสูบบุหรี่อยู่มากถึง 12 ล้านคนเมื่อลดลงไปครึ่งหนึ่ง ก็แสดงว่า ตอนนี้ จะมีคนสูบบุหรี่แค่6 ล้านคน เท่านั้น
เป็นที่น่ายินดีว่า อากาศพิษในประเทศไทยหายไปครึ่งหนึ่งและประเทศไทยได้เกิดอากาศดีเพิ่มขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์
เมื่อมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นเช่นนี้ คนไทยหรือสังคมไทย ก็ควรที่จะต้อง “ตีเหล็กในขณะร้อน” หรือ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ที่มีความหมายว่า เมื่อ สังคมมีคนเลิกสูบบุหรี่ไปถึงครึ่งหนึ่ง แสดงว่าผลจากการรณรงค์กำลังไปได้ดี ดังนั้น ผู้จัดทำการรณรงค์จึงควรที่จะต้องปรับปรุง และส่งเสริมแนวทางการบริการให้เลิกสูบบุหรี่เข้มข้นมากขึ้น… เรียกว่า จะบริการอะไรให้มันประทับใจให้มากยิ่งขึ้นก็รีบจัดทำอย่างทันทีทันควัน คนที่กำลังลังเลใจว่าจะเลิกดี หรือไม่เลิกดี จะได้ตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น
ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำหน่วยโรคทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)อธิบายถึงความจำเป็นในการผลักดันให้สังคมไทยมีบริการเลิกสูบบุหรี่ที่มีมาตรฐานว่า คนที่หลงเข้ามาติดบุหรี่ ไม่ว่าจะหลงสูบเพราะชอบหรือสูบเพราะติด แต่เมื่อผลปรากฏว่า อย่างน้อยคนไทยกว่า 12 ล้านราย ที่กำลังสูบบุหรี่อยู่ในขณะนี้ก็มีความพยายามเลิกสูบแล้วเกินกว่าครึ่ง ดังนั้น เพื่อการรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดภัยจากควันบุหรี่ บุคลากรที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนในการสนับสนุนนักสูบที่ต้องการเลิก ซึ่งหากทำสำเร็จพวกเขาก็จะกลายเป็นตัวอย่างของพลังทางสังคมที่จะช่วยรณรงค์ลดนักสูบหน้าใหม่ได้
เพื่อขยายความให้เห็นได้ชัดมากขึ้น ศ.นพ.ประกิตวาทีสาธกกิจเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจการสูบบุหรี่ของวัยผู้ใหญ่ระดับโลก(Global Adult Tobacco Survey : GATS ปี 2552) พบว่าในจำนวนผู้สูบบุหรี่ของไทยทั้งหมดที่มีความสนใจที่จะเลิกใช้ยาสูบของคนไทยนั้นร้อยละ 7.3 หรือ 912,500 ราย มีแผนที่จะเลิกภายในหนึ่งเดือน ร้อยละ 16.1 หรือ 2,012,500 รายมีแผนที่จะเลิกภายใน 1 ปี และหากแบ่งตามวิธีการเลิกสูบพบว่าผู้สูบกว่า 6 ล้านคน มีเคยพยายามเลิกสูบ ขณะที่ผู้สูบกว่า4 ล้านคน มีเข้าพบบุคลากรด้านสาธารณสุข (สธ.) โดยเข้าพบพร้อมกับการตรวจรักษาโรคต่างๆ และผู้สูบกว่า 2 ล้านคนได้รับการซักถามประวัติการสูบบุหรี่และ 1.3 ล้านคน ได้รับคำแนะนำให้เลิก เมื่อมองในภาพรวมพบว่า 1 ใน 10 ของผู้ใช้ยาสูบไทยได้รับการแนะนำให้เลิกสูบโดยบุคลากร สธ. (กระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งความไว้ใจของประชาชนที่มีต่อบุคลากร สธ.น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกของการกระตุ้นให้คนไทยอยากเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ควรมีระบบบังคับให้ซักประวัติ แต่ถ้าเป็นบริการของเครือข่ายต่างๆ ที่รับปรึกษาวิธีการเลิกบุหรี่ อาทิ ควิทไลน์ 1600 หรือ เป็นบริการคลินิกฟ้าใส ฯลฯ หลักการ 5A ยังสำคัญเสมอได้แก่ ASK ให้ถามผู้ป่วยทุกคน เรื่องสูบบุหรี่ ASSESS ประเมินความต้องการเลิกบุหรี่ของผู้สูบบุหรี่ (จำแนกผู้ป่วย)ADVISE แนะนำผู้สูบบุหรี่ทุกคนให้เลิกบุหรี่ ASSIST ช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ ARRANGE (The follow up)การติดตามการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ป่วย ซึ่งหลักการนี้จะช่วยให้การรักษาผู้ติดบุหรี่เป็นไปอย่างมีระบบ
รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ แจกแจงถึงระบบบริการผ่านสายด่วนควิทไลน์ 1600 เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นการเน้นที่การสร้างทีมผู้ให้คำปรึกษา 26 คน คือ บุคลากรวิชาชีพสุขภาพ (พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยาทางคลินิก และนักสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ทางการแพทย์) ที่มีประสบการณ์การให้บริการในระบบบริการสุขภาพอย่างน้อย 1 ปี ผ่านการฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตามมาตรฐานสากล ที่มีการตรวจสอบสมรรถนะการให้คำปรึกษาทั้งด้านความรู้และทักษะการให้คำปรึกษา โดยมีหน้าที่หลักๆ เริ่มตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ติดบุหรี่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนการคิดของผู้สูบให้เน้นการคิดเชิงบวก และมีความมุ่งมั่นในการเลิกเด็ดขาดที่สำคัญต้องสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่ต้องการเลิกด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงความเข้าใจปัญหาทุกอย่างที่ผู้สูบปรึกษา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องอย่าลืมสร้างความมั่นใจแก่ตัวเองด้วย ว่า ตนมีความสามารถพอที่จะเชิญชวนให้ผู้ติดบุหรี่เลิกได้ หมายความว่าเจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้มองโลกในแง่ดีด้วยเช่นกัน
การร่วมมือ ร่วมใจทำกันถึงขนาดนี้ เชื่อได้เลยว่าผลการสำรวจตัวเลขของคนเลิกสูบบุหรี่ในครั้งต่อไป จะต้องมีปริมาณลดลงไม่น้อยกว่าครึ่งอีกเช่นกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี