“เข่า” อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

ที่มา : หนังสือเข่าอย่าคิดว่าไม่สำคัญ โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


“เข่า” อย่าคิดว่าไม่สำคัญ thaihealth


แฟ้มภาพ


            เข่าเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกายสำหรับการเดินเหินไม่แพ้เท้า เราจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลเข่า ป้องกัน หรือหากเป็นแล้วต้องรักษาตัวอย่างไร รวมถึงเคล็ดไม่ลับท่าบริการข้อเข่าง่ายๆ ฝึกได้ด้วยตนเอง 


โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างไร


โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากผิวข้อเข่าเสื่อมสภาพและหลุดลอก ทำให้เกิดอาการข้อเข่าอักเสบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นจนทำให้กระดูกผิวข้อทรุดตัวแนวกระดูกขาโก่งหรือเกผิดรูป และอาจทำให้ทุพพลภาพจนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ


ลักษณะอาการ


                ะรู้สึกปวดบริเวณรอบๆ ข้อเข่า อาจมีอาการบวมอักเสบร่วม ขยับเหยียดงอเข่าได้ลำบาก บางครั้งมีอาการปวดร้าวบริเวณหน้าแข้ง และอาจพบถุงน้ำด้านหลังข้อเข่า มักมีอาการปวดเข่าในช่วงเวลากลางคืน ในรายที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรง อาการปวดจะรบกวนการนอนหลับได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีปัญหาในการเดินระยะไกล ขึ้นลงบันได นั่งยอง หรือนั่งกับพื้นแล้วลุกไม่ขึ้น เมื่อเป็นมากขึ้นขาอาจโก่งหรือเกผิดรูป เข่าทรุด ทำให้เดินลำบากขึ้น


อ้วน! สาเหตุใหญ่ของโรคข้อเข่าเสื่อม


คนไทยนิยมทานอาหารตะวันตกมากขึ้น และมีแนวโน้มเกิดโรคอ้วนมากขึ้น จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2555 พบว่า คนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินจนถึงระดับอ้วนเป็นจำนวนมากกว่า 17 ล้านคน น้ำหนักตัวที่มากส่งผลให้ข้อต่างๆ ต้องรับน้ำหนักมาก โดยเฉพาะข้อเข่าที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเสื่อมมากกว่าข้อสะโพก


ภัยร้าย!นั่งงอเข่ามากกว่า 120 องศา


การนั่งกับพื้น นั่งพับเพียบ หรือขัดสมาธิในท่างอเข่ามากกว่า 120 องศา จะทำให้เกิดแรงกด 5 เท่าของน้ำหนักตัว และแรงเฉือน 3 เท่าของน้ำหนักตัวต่อกระดูกอ่อนภายในข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อกระดูกอ่อนในข้อเข่าบริเวณกระดูกต้นขาส่วนปลาย กระดูกน่องส่วนต้น และกระดูกสะบ้า ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นข้อเข่าเสื่อม


รู้ไหม…


เวลาปกติแรงกระทำต่อข้อเข่าขณะเดินจะมีค่าประมาณ 3-5 เท่าของน้ำตัว หากมีการวิ่งร่วมด้วยแรงกระทำต่อข้อเข่าอาจสูงถึง 10-14 เท่าของน้ำหนักตัว ซึ่งกระดูกอ่อนในข้อเข่าที่สามารถรับแรงกระทำได้ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อาจไม่สามารถทนต่อแรงกระทำในคนอ้วนได้ จึงทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้ในที่สุด ดังนั้นผู้มีภาวะอ้วนจึงเสี่ยงกับการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากที่สุด


หากเป็นมาก อาจต้องรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ หรือยาเพิ่มสารหล่อลื่นในข้อควบคู่ หรือรับการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อล้างข้อ จัดกระดูกหน้าแข้งให้ตรง หรือเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นต้น ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เมื่อคิดว่าตนกำลังเสี่ยงกับการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โรคจะดำเนินไปเรื่อยๆ และทำให้เกิดความเจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินผิดปกติ ท้ายที่สุดก็จะเกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code