เขียนอย่างไร!! จึงอยู่ในใจนักอ่าน
โดย 4 นักเขียนระดับชาติ จากผลโหวต “101 เล่มในดวงใจนักเขียนและนักอ่าน”
หลายครั้งที่เราเคยเห็นการสัมภาษณ์ผู้อ่านหนังสือ เกี่ยวกับนักเขียนในดวงใจ ว่า ทำไมถึงชอบนักเขียนท่านนั้น? ชอบ วินทร์ เลียววาริณ เพราะอะไร? ปลื้มผลงานชิ้นไหนของ ชาติ กอบจิตติ มากที่สุด? ฯลฯ เป็นเรื่องธรรมดาของเหล่านักเขียนชื่อดัง ที่แต่ละคนมักจะมีแฟนคลับเป็นของตนเอง แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า นักเขียนที่มีผลงานครองใจนักอ่านจำนวนมากนั้น เขามีเทคนิคการเขียนอย่างไร จึงจะทำให้คนอ่านอ่านจนวางหนังสือไม่ลง
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดเสวนา “เขียนอย่างไรจึงอยู่ในใจนักอ่าน” โดยเชิญนักเขียนชื่อดังระดับประเทศ ร่วมวงสนทนา ได้แก่ คุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของนามปากกา “พนมเทียน” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2540, คุณชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547 และนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2524 และ 2536, คุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2540 และ 2542 ท่านสุดท้าย คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2549 พิธีกรดำเนินรายการ โดย คุณคมสัน นันทจิต
วงเสวนาเปิดฉากด้วย “พนมเทียน” เจ้าของนวนิยายชื่อดัง อาทิ เพชรพระอุมา, ศิวาราตรี, เล็บครุฑ ฯลฯ ได้บอกเล่าถึงเคล็ดลับในการเขียนหนังสือว่า การเขียนหนังสือของผมมีหลักเกณฑ์ คือเขียนให้สนุก เมื่อเราคิดว่า เขียนสนุกแล้ว คนอ่านก็ต้องสนุกตามด้วย ผมใช้ประสบการณ์จากการศึกษาโลกรอบตัวที่ได้จากการอ่าน มาถ่ายทอดลงในงานเขียน ผมจะแฝงความมีมนุษยธรรม และสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านลงไปในงานเขียน หากเราเอาเรื่องมนุษยธรรมเป็นหลักแล้ว ธรรมะต่างๆ เช่น คุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ ก็จะตามมาเอง สิ่งที่ผมเขียนมากว่า 60 ปี ผมใช้ความรู้สึกที่ว่า อยากจะเขียน และใช้ความมานะพยายามในการแสวงหาความรู้รอบตัวต่างๆ ให้มากที่สุด นักเขียนต้องเป็นพหูสูต คือ เป็นผู้รู้ เรารู้จากการศึกษาโลกรอบตัว จากการอ่าน จากการถามผู้รู้ ยิ่งรู้มากเท่าไร บทประพันธ์ของเราก็จะยิ่งมีความลึก
“ เราต้องวางพล็อตเรื่องก่อนเขียนทุกครั้ง เลือกจุดที่สนุกเข้ามาไว้เป็นจุดสำคัญก่อน แล้วความผูกพันของเรื่องต้องสมเหตุสมผล หากขาดซึ่งเหตุผล ข้อเท็จจริง ความตื่นเต้น ลีลาภาษา ความละเมียดละมัย ผู้อ่านก็ไม่อยากติดตาม แทนที่จะเป็นบทประพันธ์ก็จะกลายเป็นเรียงความ บทความไปเลย อย่างเช่น ในเรื่อง เพชรพระอุมา ผมต้องการให้มีการเชือดเฉือนกันระหว่าง รพินทร์ กับ แงซาย เราจะรู้ว่า จอมพรานรพินทร์ มีความสามารถขนาดไหน ซึ่งมีตัวแงซายคอยเสริม เมื่อแงซายหักเหลี่ยม ชิงไหวพริบ แล้วรพินทร์แก้ตก นั่นคือความสามารถของรพินทร์ เนื้อเรื่องทุกอย่างผมวางพล็อตไว้ก่อนเรียบร้อย ไม่ใช่ตามปากกาพาไป” พนมเทียน กล่าว
คุณ
“เมื่อลงมือเขียน ผมจะวางโครงเรื่อง ตัวละคร นิสัยตัวละคร ฯลฯ ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราไปถึงจุดหมายได้ แต่บางทีมันจะขาดอารมณ์ ตอนเขียนเรื่อง พันธุ์หมาบ้า ลงในนิตยสาร ลลนา ก็จะอาศัยเทคนิคของนักเขียนรุ่นพี่ อาทิ การหยุดค้างชะงัก ให้ผู้อ่านอยากติดตาม และเวลาเขียนงานใหม่ ผมจะเขียนสิ่งที่ไม่เคยเขียน เหมือนเป็นนักเขียนคนใหม่ไปเลย การสร้างผลงาน เปรียบเสมือนสร้างยักษ์ตนหนึ่ง ที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ถ้าเราเขียนไม่สำเร็จเหมือนกำลังโดนยักษ์ไล่กระทืบ ก็จะทุกข์ร้อนนอนไม่หลับ เมื่อไรที่เราล้มยักษ์ได้ ก็จะมีความสุข” ชาติ กอบจิตติ เล่าถึงมุมมองการเขียน
ส่วน คุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนซีไรต์ จากเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน กล่าวว่า ผมตั้งเป้าการเขียนของผมทุกครั้ง ว่าต้องเป็นที่น่าจดจำของคนอ่าน มีนิยายจำนวนมากที่สนุกแต่ไม่ค่อยมีสาระ หรือบางเรื่องมีสาระแต่ไม่สนุก คิดว่าถ้าเราฝึกฝนได้ดีพอ เราจะได้เรื่องที่ทั้งสนุกและดีด้วย การคิดแบบนี้อาจเป็นการตั้งโจทย์ที่สูงเกินไป แต่ถ้าเราไม่ตั้งโจทย์ผลงานก็จะออกมาไม่ดีพอ ผมชอบเขียนในสิ่งที่ตนเองชอบ ไม่ใช่เพื่อตามตลาดต้องการ ผมคิดว่าผลงานที่ดีต้องพิสูจน์ด้วยกาลเวลา เมื่อผ่านไปหลายปีแล้วจะมีคนอ่านอยู่หรือไม่ นักเขียนต้องสนุกกับงาน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่ทรมาน ประสบการณ์ของระดับความสนุกเกิดขึ้นจากการฝึกฝนจากการอ่านทั้งสิ้น ผมเคยอ่านหนังสือของนักเขียนหลายๆ ท่าน แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าแต่ละเรื่องมันสนุกเพราะอะไร เราต้องจับเคล็ดของการเดินเรื่องให้ได้
“สิ่งที่เราเขียนต้องมีความสดใหม่ และควรเปลี่ยนโจทย์ที่ท้าทายต่อการเขียนเรื่อยๆ ไม่ควรหยุดอยู่กับที่ เช่น อาจเปลี่ยนแนวหรือประเภทการเขียนดูบ้าง ถ้าเราอยากให้คนอ่านเรื่องของเราจนจบ ต้องให้งานเขียนของเรา เป็นส่วนผสมระหว่างนิยาย และวรรณกรรม นักเขียนที่ดีควรเป็นนักคิด สามารถมองคาดการณ์ ต้องเดินนำหน้าคนอ่านอย่างน้อย 2 ก้าว แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรวางยาพิษให้คนอ่าน คือ เขียนอะไรก็ตามที่ทำให้คนอ่านอ่านแล้วโง่ลง ควรให้คนอ่านอ่านแล้วฉลาด เหมือนเป็นยาเสริมกำลัง” วินทร์ เลียววาริณ กล่าว
คุณวินทร์ ยังเผยเคล็ดลับการเขียนต่ออีกว่า เราเลือกได้ว่าจะเขียนให้สนุกหรือไม่สนุก การเขียนแบบใช้รูปแบบหวือหวาทำให้คนอ่านสะดุดตา รูปแบบมันเป็นแค่สไตล์การเขียน ไม่ได้รับประกันความสนุก บทประพันธ์จะมีอยู่ 2 ซีก คือ ซีกหนึ่งเป็นนิยายจ๋า อีกซีกเป็นวรรณกรรมจ๋า ถ้าคุณเน้นทางนิยายมากไป สาระต่างๆ ก็จะลดลงตามสเกล การเขียนให้สนุกนั้น ผมมองว่ามันอยู่ที่เซนส์ของนักเขียนมากกว่า ผมมักอ่านงานเขียนของท่านอื่นๆ แล้วอาจนำมาใช้ในงานของผม เช่น เรื่องอะไรที่แปลกๆ คนอ่านไม่เคยรู้มาก่อน อีกเทคนิคหนึ่งก็คือ climb hanging ก่อนจะจบบท คือ แขวนเรื่องค้างไว้ นักเขียนต้องทำให้คนอ่านสงสัย เพื่อจะดึงให้อยากเปิดอ่านบทต่อไปเรื่อยๆ
ด้าน คุณ
“แต่ละครั้งที่เริ่มเขียนหนังสือ ดิฉันจะมีโครงเรื่องใหญ่ๆ เพื่อยึดเอาไว้ให้ไปถึงที่หมาย เนื้อเรื่องอาจมีนอกทางบ้าง โดยเฉพาะเมื่อตอนที่เขียนเรื่องความสุขของกะทิ ลองแบ่งออกเป็น 3 ฉาก 3 สถานที่ แบ่งเป็น 3 ภาคๆ ละ 9 บท ระหว่างการเดินทางของเนื้อเรื่องก็ไม่ได้มีบทตายตัว ดิฉันเขียนเพื่ออยากให้คนอ่านอยากรู้ สร้างความสงสัยเหมือนเป็นเชิงลึกลับ” คุณงามพรรณ กล่าวปิดท้าย
นับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง ที่นักเขียนชื่อดังระดับประเทศ จะได้มาร่วมกันถ่ายทอดเคล็ดลับการเขียนที่ได้ใจผู้อ่านให้ได้รับฟังกัน ทุกคำพูดจากนักเขียนทั้ง 4 ท่าน น่าจะเป็นคัมภีร์เล่มสำคัญของผู้ที่อยากเขียนนิยาย วรรณกรรม หรือบทประพันธ์รูปแบบอื่นๆ หากแต่ท่านจะต้องรู้จักฝึกฝน หมั่นเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้เป็นทุน อาจจะมีผลงานเป็นหนึ่งใน 101 เล่มในดวงใจนักเขียนและนักอ่าน ในอนาคต
ติดตามผลโหวตแนะนำหนังสือ 101 เล่มฯ ได้ที่
www.happyreding.in.th และ www.thaiwriterassociation.org
เรื่องโดย อภิชาติ โสภาพงศ์
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
update : 05-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน