เก็บสุขใต้ถุนบ้าน กับงานพื้นที่นี้….ดีจัง ณ ชุมชนบ้านเกาะทัง จ.พัทลุง

 

เก็บสุขใต้ถุนบ้าน กับงานพื้นที่นี้....ดีจัง ณ ชุมชนบ้านเกาะทัง จ.พัทลุง

เมื่อวันเสาร์ที่ 5กุมภาพันธ์ 2554ที่ผ่านมา ณ ชุมชนบ้านเกาะทัง ต.นาโหนด จ.พัทลุง มีการจัดโครงการปฏิบัติการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ “พื้นที่นี้…ดีจัง” สัญจร ได้รับเกียรติจาก นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน จัดโดยเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังภาคใต้ กลุ่มดินสี แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เด็ก และเยาวชนเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดภายในครอบครัว ชุมชน และสังคม จึงจำเป็นต้องอาศัยทุนของครอบครัว ซึ่งคือ ความรัก ความเอาใจใส่ ที่ถือว่าเป็นพลังแห่งรัก แห่งความอบอุ่นของครอบครัวที่มีต่อเยาวชน ที่จะต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้เยาวชนได้กระหนักถึงปัญหาต่างๆ โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง โดยใช้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาร่วมกัน เหมือนกับแนวคิดที่ว่า “เยาวชนนำ ผู้ใหญ่หนุน”

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

“ขอขอบคุณองค์กรชาวบ้าน แกนนำชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ ศูนย์ส่งเสริมพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมือง ที่สำคัญคือ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดจนแกนนำจากพื้นที่ต่างจังหวัดทุกท่าน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ที่ได้ลุกขึ้นมาจัดการ แก้ไข ปัญหาตนเองและได้สรรค์สร้างสิ่งดีๆ ที่พร้อมเพรียงกัน  โดยเฉพาะที่ได้ค้นพบ พื้นที่ดีๆ แบบนี้ ผมอยากให้มีพื้นที่ดีเช่นนี้กระจายไปทั่วประเทศไทย เพื่อเด็ก และเยาวชนของเรา จะได้เติบโตได้อย่างมีความสุข สร้างสรรค์ และมีคุณค่าภายใต้พื้นที่นี้…ดีจังรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง   ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง

พื้นที่นี้…ดีจัง ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง ตั้งอยู่เลขที่ 59ม.5ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง เป็นบ้านมีใต้ถุน ฝาไม้กั้นด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ บริเวณรอบบ้านเป็นสวนยางพาราในเนื้อที่ 7ไร่ มีการปรับพื้นที่เป็นลานวัฒนธรรม ลานการละเล่น ฯลฯ

จุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ แห่งนี้ มาจากการที่เจ้าของที่ดิน ต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกยางพารา และปลูกพืชแซมยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเลือกวิธีการจัดการที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงดินให้มีชีวิต จนเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ไปพร้อมกับเริ่มเรียนรู้เรื่องราวมากมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชุมชน และการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง    ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง

ต่อมาศูนย์ฯ เริ่มมีการค้นหาโจทย์ที่สอดคล้องกับพื้นที่มากขึ้น โดยการใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนเป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกัน ค้นหาร่วมกัน ได้คำตอบร่วมกัน และเป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้ฯ ร่วมกัน โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือเด็ก เยาวชน และกลุ่มสนใจทั่วไป ซึ่งขณะนี้ ทางศูนย์กำลังดำเนินการทำให้ใต้ถุนบ้านเป็นห้องสมุดใต้ถุนมีชีวิต สำหรับเด็กชนบท เป็นพื้นที่สีขาว ที่เป็นทางเลือกและปลอดภัยให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือที่อยากอ่านเอง โดยไม่ได้ถูกบังคับให้อ่าน

หนังสือและสื่อต่างๆ ในห้องสมุดใต้ถุนบ้าน ต้องสอดคล้องกับวัยและความต้องการ อ่านแล้วเด็กๆ สามารถออกไปเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่หรือห้องสมุดมีชีวิตแก่ชุมชนได้ ทั้งนี้ ยังให้บริการผู้สูงอายุ หรือคนด้อยโอกาสในชุมชน ทุกอย่างที่มีใต้ถุนบ้าน รอบใต้ถุนบ้าน สามารถใช้เป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ มีการปลุกสื่อพื้นบ้าน มโนราห์ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง รวมทั้ง ฟื้นฟู ขนมพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น การละเล่นถิ่นไทยใต้ ให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง   ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง

 

นอกจากกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ในอนาคตทางศูนย์ฯ จะขยับขยายกิจกรรมเพิ่มเติม โดยการนำเอาความรู้จากชุมชนที่มีอย่างหลากหลาย อาทิ การแกะสลักหยวกกล้วย เทคนิคการร้อยลูกปัด การแกะรูปหนังตะลุง หรือความรู้อื่นๆ นำมาให้เด็ก และเยาวชน ช่วยกันดำเนินการ สืบค้น เสาะหา เรียนรู้ ทดลอง และปฏิบัติจริง จัดทำเป็นสื่อเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง หนังสือทำมือ หนังสั้น ฯลฯ จากนั้นให้เด็กๆ นำผลงานที่ผลิตได้ มาแลกเปลี่ยนกัน โดยมีผู้รู้มาช่วยเติมเต็มในเรื่องราวที่ผ่านการบอกเล่าของเด็กๆ ซึ่งสื่อเหล่านี้ จะกลายเป็นชุดองค์ความรู้ ที่จะคงอยู่ในห้องสมุดใต้ถุนต่อไป

ติดต่อ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง
เลขที่ 59ม.5ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง 
โทร. 08-9870-5152

 

ที่มา: แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน
เรียบเรียงโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน teamcontent www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code