เก็บภาษีมลพิษ…?!?
เพื่อสุขภาวะคนไทย
เร็วๆ นี้มีโอกาสได้นั่งฟังการประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจ และถือว่า “อินเทรนด์” หรือสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองไม่แพ้มีปัญหาการเมืองเรื่องร้อนๆ เวลานี้ ไม่มากก็น้อย
หัวข้อดังว่า… คือ ข้อเสนอของ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระตุกเตือนให้ทุกฝ่ายทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม กับปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ร่วมมือร่วมใจกัน “โหนกระแส” เหตุเกิดขึ้น ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้เป็นระบบและมีบูรณาการเสียที
เหตุใด??? จึงใช้คำว่า “โหนกระแส”
ผมว่าสาระสำคัญคงไม่ใช่เรื่องของการเล่นคำ แต่มันเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า บางเรื่องบางราวในสังคมไทย หากต้องการให้บรรลุเป้าประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว บางครั้งเราก็จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย “เครื่องมือ” พิเศษ หรือ “กลไก” เฉพาะกิจต่างๆ
การโหนกระแส ก็ไม่ผิดกับการตีเหล็กตอนร้อน หรือที่เราชอบพูดกันนักกันหนาว่า แปลงวิกฤตเป็นโอกาสนั่นแหละ
ลำพังเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยเองก็ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไรนักตราบเท่าที่ไม่ได้รับผลกระทบ จึงทำให้เราไม่ได้รับรู้เลยว่า ความจริงแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายอยู่หลายฉบับพอสมควรทีเดียว ที่จะคุ้มครองดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ขาดการกำกับ และบริหารจัดการให้เป็นจริง ด้วยเหตุผลอันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม และวิธีคิดของคนในสังคมไทย ซึ่งกล่าวกันว่า ผูกพันกับระบบอุปถัมภ์ยางแยกไม่ออก
แต่เมื่อวันนี้มีปัญหาเกิดขึ้นที่มาบตาพุด เสียงร้องโอดครวญและโวยวายของเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกคำสั่งศาลปกครองไม่ให้ดำเนินการใดๆ ต่อจนกว่าจะได้ดำเนินการตามแผนควบคุมสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 67 นั่นเอง ทำให้เกิดช่องทางที่สังคมสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น
แล้วเราจะหยุดอยู่แค่ การให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของชุมชนเท่านั้นหรือ?
ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับท่าน อ.มิ่งสรรพ์ ครับว่า ได้เวลาที่ประเทศไทย และคนไทยจะผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศให้เป็นสากล และเป็นระบบ ไม่ใช่กระทำแบบเดิมคือ มีปัญหาสารเคมีรั่วที่คลองเตย ก็ลุกขึ้นเอาจริงเอาจัง พอเรื่องเงียบทุกอย่างก็เข้าสู่อีหรอบเดิม ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตเสี่ยงกับสภาพแวดล้อมเป็นพิษต่อไปหรือพอมีเหตุที่มาบตาพุด ก็แก้กันเฉพาะพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมระยอง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมมิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของโรงงาน แต่ยังหมายรวมถึงมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียง ที่ทุกภาคธุรกิจและธุรกรรมต่างๆ ก่อขึ้น อาทิ โรงแรมที่อยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยว ริมทะเล หากไม่มีระบบการจัดการน้ำเสียก่อนลงทะเล ก็ถือเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ได้น้อยไปกว่าโรงงานอุตสาหกรรมเลย หรือแม้แต่ปัญหาควันพิษที่เกิดจากการเผาหญ้า เผาฟางเพื่อการทำไร่ทำนาของเกษตรกร ก็เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
ข้อเสนอที่น่าสนใจจาก เวทีปฏิรูปประเทศไทยที่มีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในนามสถาบันเครือข่ายทางปัญญา ร่วมด้วยช่วยกันคิดและระดมสมอง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างเป็นระบบ โดยใช้เป็นเครื่องมือที่สามารถยืดหยุ่นและใช้จัดการมลพิษได้อย่างหลากหลายนั้นเป็นกฎหมายที่ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วรอแต่เพียงกระทรวงการคลังจะหยิบเอาออกจากลิ้นชัก นำเสนอสู่การพิจารณาของรัฐบาลเพื่อผลักดันเข้าสู่สภาและนำออกมาบังคับใช้
ความจำเป็นของการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ก็เพราะประสบการณ์ที่ทุกฝ่ายซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ตระหนักรู้และเห็นว่า กลไกหรือกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมนั้น กลายเป็น “เสือกระดาษ” ที่ไม่มีใครอยากจะนำมาใช้ ด้วยกลัวว่าจะถูกรังเกียจจากผู้ก่อมลพิษ หรือทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนใหญ่ มีอิทธิพลและอำนาจต่อระบบอุปถัมภ์ในระบบการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลและบริหารชุมชนนั่นเอง
การห่วงฐานเสียง และกระเป๋าเงินผู้สนับสนุน ทำให้เกิดปัญหาการละเลย บังคับใช้กฎหมาย แต่กลไกทางสังคมในมาบตาพุดก็ได้แสดงพลังให้เห็นว่า เมื่อกลไกกฎหมายในชุมชนอ่อนแอ เขายังสามารถใช้กลไกในส่วนกลาง
อย่างไรก็ตาม เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า กลไกสังคมที่เข้มแข็งแบบเดียวกับมาบตาพุดจะจุดประกายให้เกิดความหวงแหนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
หนทางของการสร้างกลไกใหม่ที่เป็นธรรม และไม่ต้องให้ชาวบ้านเหนื่อยแรงหรือสุ่มเสี่ยงต่อกระสุนปืน อย่างเครื่องมือเศรษฐศาสตร์จึงเป็นทางเลือกที่ผมคิดว่าไม่ควรจะรอช้าอีกแล้ว หากอยาเห็นประเทศไทยเข้มแข็ง
เพราะจากข้อมูลของ ดร.มิ่งสรรพ์ ระบุว่า เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่จะนำมาใช้ ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ปรกอบไปด้วย ภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การซื้อขายสิทธิ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิการปล่อยมลพิษ การให้เงินอุดหนุน มาตรการสนับสนุนและสิทธิพิเศษอื่นๆ
แม้การเรียกเก็บภาษีจากมลพิษจะเป็นเรื่องยาก แต่ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ จะเป็นการปรับต้นทุนส่วนบุคคลที่ให้ส่วนรวมกลับมาสู่ตัวบุคคลมากขึ้น เพื่อนำมาจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น สร้างพฤติกรรมที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อม ใครปล่อยมลพิษมากก็ต้องจ่ายภาษีแพง อย่าให้เป็นรูปแบบเดิมที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยของเสียที่มาบตาพุด แต่คนกรุงเทพฯ ก็ต้องร่วมจ่ายภาษีในการแก้ปัญหาอากาศเสียและปัญหาสุขภาพคนที่ระยองด้วย หรือ อากาศกรุงเทพเป็นพิษ แต่คนที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ผมขอยกมือสนับสนุนครับว่า ได้เวลาเก็บภาษีตามความจริงกันเสียที หากต้องการเห็นประเทศไทยมีธรรมาภิบาล อยู่ดีมีสุขถ้วนหน้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 17-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์