‘เกิร์ด’ เมื่อน้ำย่อยไหลกลับ
ที่มา : หมอชาวบ้าน
คนปกติทั่วไปจะมีหูรูดตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร (lower esophageal sphincter) เวลากลืนอาหาร อาหารจะผ่านหลอดอาหาร พอถึงบริเวณรอยต่อนี้ หูรูดจะหย่อน (คลาย)ให้อาหารผ่านลงสู่กระเพาะอาหาร
ในกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ทำหน้าที่ย่อยอาหาร (น้ำย่อยจะไม่ย่อยหรือกัดเนื้อกระเพาะอาหาร เนื่องจากมีการสร้างเมือกเป็นฉนวนปกคลุมบนผิวภายในกระเพาะอาหาร) เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะ หูรูดตรงรอยต่อนั้นจะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่หูรูดตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหารดังกล่าวทำหน้าที่ผิดปกติ ปล่อยให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร น้ำย่อยจะระคายผิวภายในหลอดอาหารจนเกิดการอักเสบ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา
ภาวะดังกล่าว ทางการแพทย์เรียกว่า โรคน้ำย่อยไหลกลับ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gastro-Esophageal Reflux Disease ซึ่งย่อว่า GERD (อ่านว่า เกิร์ด) ชื่อภาษาไทย เกิร์ด, โรคน้ำย่อยไหลกลับ ชื่อภาษาอังกฤษ GERD, Gastroesophageal reflux disease
สาเหตุ
เกิดจากภาวะหย่อนคลายของหูรูดตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร ทำให้หูรูดปิดไม่ได้สนิท เปิดช่องให้น้ำย่อยในกระ-เพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปก่อการระคายเคืองต่อหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่
ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไม ผู้ป่วยจึงมีภาวะหูรูดหย่อนคลายผิดไปจากคนปกติทั่วไปแต่พบว่ามีปัจจัยหลายประการที่อาจทำให้อาการกำเริบ เช่น การกินอิ่มมากไป กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งมาก
การนอนราบ การนั่งงอตัวโค้งตัวลงต่ำ ทำให้น้ำย่อยไหลกลับง่ายขึ้น ภาวะอ้วน ภาวะตั้งครรภ์ การรัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว จะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหารให้น้ำย่อยไหลกลับ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือกาเฟอีน (กาแฟ ชา ยาชูกำลัง) นอกจากกระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งมากแล้ว ยังเสริมให้หูรูดหย่อนอีกด้วย การสูบบุหรี่ การกินอาหารมัน ช็อกโกแลต น้ำส้มคั้น หรือสะระแหน่ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาแก้หืด ยาแอนติโคลินเนอร์จิกแก้อาการปวดเกร็งท้อง ยาลดความดันกลุ่มต้านแคลเซียม เป็นต้น) จะเสริม ให้หูรูดหย่อน
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอก (ตรงกับตำแหน่งที่คลำได้กระดูกอ่อน) หลังกินอาหารใหม่ๆ หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ หรือนั่งงอตัวโค้งตัวลงต่ำ หรือมีการรัดเข็มขัดแน่น
หรือใส่กางเกงคับเอว มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง บางคนอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอก
ขึ้นไปถึงคอหอย บางคนอาจมีอาการเรอเปรี้ยว (ขย้อนน้ำย่อย) ขึ้นไปที่คอหอย บางคนอาจมาหาหมอด้วยอาการกลืนอาหารแข็ง (เช่น ข้าวสวย) ลำบาก ทั้งนี้เนื่องจากปล่อยให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังจนตีบตัน
ในรายที่มีภาวะน้ำย่อยไหลกลับรุนแรงกล่าวคือ ไหลขึ้นไปถึงปากและคอหอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่านอน ก็อาจทำให้มีเสียงแหบตอนตื่นนอน (เนื่องจากน้ำย่อยระคายจนกล่องเสียงอักเสบ) เจ็บคอ หรือไอเรื้อรัง (น้ำย่อยระคายคอ) โรคหอบหืดกำเริบบ่อย (น้ำย่อยระคายหลอดลม) ปอดอักเสบ (สำลักน้ำย่อยเข้าไปในปอด) ส่วนในรายที่มีภาวะน้ำย่อยไหลกลับเล็กน้อย ก็อาจไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็นก็ได้
การดูแลตนเองเบื้องต้น
เมื่อแรกเริ่มมีอาการปวดแสบลิ้นปี่หลังกินอาหาร และบางครั้งอาจมีอาการเรอเปรี้ยวร่วมด้วย สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้น ดังนี้
1.กินยาต้านกรดชนิดน้ำ (ที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์กับแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์)
ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน ร่วมกับยาลดการสร้างกรด
ไซเมทิดีน (cimetidine) ขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น