เกษียณคลาสสร้างคุณค่าสูงวัย แต่ชีวิตไม่หยุดเรียนรู้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ไม่มีใครแก่เกินเรียน-การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นคำกล่าวที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ สังคมสูงวัย (Aging Society) ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ลำพังจะหวังพึ่งลูกหลานหรือระบบสวัสดิการรัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ดูแลตนเองได้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ผ่านการเรียนรู้เพื่อตามให้ทันความเปลี่ยนแปลง เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการปรับตัวเข้ากับคนรุ่นใหม่เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ (E-learning) ชื่อว่า "เกษียณคลาส" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่าย Young Happy ตั้งเป้าสร้างเสริมสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุยุคดิจิทัล เรียนรู้ระบบออนไลน์เว็บไซต์ learn.younghappy.com 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้าน โซเชียลมีเดีย เพื่อรับมือสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอนาคต
สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญ คือ ผู้สูงอายุร้อยละ 95 มีปัญหาสุขภาพด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ จากการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ในช่วงวัยหนุ่ม-สาว ซึ่งในปี 2562 จำนวนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ราว 11.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากมีปัญหาสุขภาพแล้วในอนาคตยังมีแนวโน้มอยู่ตามลำพังมากขึ้น ทั้งที่อยู่คนเดียวในครัวเรือนและอยู่กับคู่สมรส ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี หากขาดความรู้ดูแลตนเอง เช่น เกิดอุบัติในที่พักอาศัย เงินเก็บไม่พอ สุขภาพไม่ดี และรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ค่า
"สภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล หรือ ที่เรียกว่าดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ยังกลายเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้สูงอายุอย่างยิ่ง เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตต้องอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เกษียณคลาสขึ้นมา เพื่อเพิ่มทักษะผู้สูงอายุให้รู้จักวิธีการใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันแก่ผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระการพึ่งพาลูกหลาน" ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ขณะที่ ธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Young Happy กล่าวว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยคาดว่าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอีก 12 ปี จะเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 28 ดังนั้นแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ (E-learning) มีเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุ สนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้เพราะกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และสามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ตลอดเวลารวมถึงมอบความรู้ใหม่ๆ ให้ผู้สูงอายุ รู้เท่าทันโลกดิจิทัล
"เกษียณคลาสมีเนื้อหา 15 บทเรียน ที่เสริมทักษะเรื่องดูแลสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคม เช่น ทักษะการรู้ เท่าทันเทคโนโลยี การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย การกิน และออกกำลังกายที่เหมาะสม จุดเด่นของหลักสูตรคือสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุทั่วประเทศเกือบ 12 ล้านคนได้ และผู้สูงอายุยังสามารถเข้าเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง" ธนากร ระบุ
ด้าน สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส. กล่าวว่า การเรียนรู้มักนึกถึงแต่เรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ และใครๆ ก็สามารถเป็นครูที่สอนตัวเราได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเกษียณคลาส มีจุดประสงค์เพื่อเรียนรู้ทางออนไลน์ โดยคนทุกกลุ่มวัยสามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งจะเรียนรู้เพื่ออยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เช่น เรียนรู้ที่จะร้องเพลงเพื่อมีความสุข เรียนรู้ที่จะมีสุขในการกินอาหารที่ไม่ก่อโรค เรียนรู้ที่จะออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น จึงถือว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ยังมีแขกรับเชิญอีก 2 ท่านที่มาบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ท่านแรกคือ วรฤทัย ภักดีวิจิตร ครูสอนร้องเพลงที่เคยผ่านเวทีใหญ่อย่าง The Voice Thailand มาแล้ว ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า "การเรียนรู้ ไม่จำกัดอายุว่าจะต้องมีอายุเท่าไร" โดยมีศิษย์ท่านหนึ่งตัดสินใจมาเรียนร้องเพลงในวัย 80 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาตนเองร้องเพลงไม่เป็นแล้วรู้สึกน่าอับอายเพื่อนฝูง ซึ่งเมื่อเรียนจบหลักสูตรทำให้ตนเองร้องเพลงได้ ศิษย์ท่านนี้ชีวิตก็มีความสุข และยังได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้วย
และแขกรับเชิญอีกท่านหนึ่งคือ ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ นักวิ่งมาราธอนและนักแสดงอาวุโส กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเรียนรู้กับตนเอง โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาเรามักเรียนรู้แต่สิ่งข้างนอก แต่ไม่เคยเรียนรู้ข้างในของตัวเรา เพราะฉะนั้นคนในช่วงวัยเกษียณอายุมีเวลาเรียนรู้ และสามารถหาความสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องไปสนใจว่าคนรอบข้างจะเข้าใจเรา แต่เราสามารถเข้าใจคนรอบข้างได้ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำร่วมกัน เช่น การเดินวิ่ง ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ และเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตนเองและสังคม
ทนงศักดิ์ เล่าว่า ได้ทำโครงการ "Park Run" ให้กับชุมชน โดยที่ทำให้คนในชุมชนรวมตัวพูดแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ และออกกำลังกายด้วยการวิ่งร่วมกัน ซึ่งจะทำกิจกรรมอาทิตย์ละ 1 วัน โดยหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการเป็นคุณยายวัย 89 ปี ซึ่งคุณยายเป็นอาสาสมัครในโครงการ ซึ่งทุกเช้าคุณยายจะเดินพร้อมกับคอยสแกนโค้ดไปด้วย เพื่อยืนยันตัวตนว่าตนเองได้วิ่งจริง จึงทำให้รู้จักผู้คนมากขึ้น เพราะต้องบันทึกสถิติจากคนในกลุ่ม ซึ่งเป็นการกระทำที่มีความหมายต่อตัวคุณยาย และทำให้เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นการผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี