เกลือหวานตานีตำนานของดีมลายู

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เกลือหวานตานีตำนานของดีมลายู thaihealth


เรียนรู้-ฟื้นฟู-สืบสาน 'เกลือหวานตานี'ตำนาน'ของดีมลายู'


"เกลือที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องมีคุณภาพดี และมีสีขุ่นกว่าเกลือภาคกลาง รสชาติกลมกล่อม แต่จะไม่เค็ม จัด จนเป็นที่มาของชื่อเกลือหวาน"…เสียงจาก ฮาฟิส-อับดุลฮาฟิส แวอาลีหนึ่งในเยาวชนผู้จัดทำ โครงการเกลือหวานตานี ระบุถึงของดีขึ้นชื่อของ จ.ปัตตานี ซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหาจากการลดลงของแหล่งทำนาเกลือ และขาดผู้สืบทอดการทำเกลือชนิดนี้ โดยปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแค่ 20 รายเท่านั้น จนทำให้ "เยาวชนในพื้นที่ลุกขึ้นมาจัดทำโครงการ" ดังกล่าวนี้ขึ้นมา เพื่อ 'สืบสานภูมิปัญญาการทำเกลือหวาน" ไว้ไม่ให้สูญหายไปจากจังหวัดชายแดนภาคใต้


"โครงการเกลือหวานตานี" นี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ กลุ่มเยาวชนบ้านตันหยงลุโละ โดยเป็นหนึ่งในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ของสงขลาฟอรั่ม ที่ทาง สสส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุน ซึ่งในอดีตคนในชุมชนบ้านตันหยงลุโละ และ ต.บานา จ.ปัตตานี จะยึดอาชีพทำนาเกลือ และทำการประมงเป็นหลัก โดยเฉพาะกับการทำนาเกลือของพื้นที่นี้นั้น ได้รับการยอมรับมายาวนานว่า…เป็น'ถิ่นเกลือหวาน" หรือตรงกับคำว่า…"ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ" ในภาษามลายู ซึ่งถือเป็น'นาเกลือผืนสุดท้ายของแหลมมลายู"อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาชีพการทำนาเกลือที่ว่านี้ เริ่มลดน้อยลงอย่างมาก นอกจากนั้นแปลงนาเกลือจำนวนมากก็ยังถูกปล่อยทิ้งร้าง และบางส่วนก็ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม กับนากุ้ง และก็รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่รู้สึกไม่สนใจที่จะสืบทอด "อาชีพทำเกลือหวาน" ที่ว่านี้ เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่เหนื่อย ประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเหมือนสมัยก่อน กับราคาเกลือที่ตกต่ำ จึงทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจขายนาเกลือทิ้ง นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้จำนวนพื้นที่นาเกลือลดลงไป และสุ่มเสี่ยงที่ "นาเกลือแห่งแหลมมลายู" นี้จะ "สูญหายไป"


แบมะ-มูฮำหมัด กะอาบู ที่ปรึกษาของโครงการดังกล่าว ระบุว่า เริ่มชักชวนเพื่อนๆ และเยาวชนในชุมชนให้ลุกขึ้นมาทำโครงการนี้ ด้วยการตั้งคำถามถึงของดีอะไรที่อยากจะอนุรักษ์ไว้ให้กับชุมชน โดยโครงการเกลือหวานตานีเป็นโจทย์แรกที่ทุกคนในกลุ่มมีความเห็นร่วมกันว่า 'อยากจะฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง"


ขณะที่ ฮาฟิส เยาวชนในโครงการนี้ บอกว่า พื้นที่ ต.ตันหยงลุโละ มีชื่อเสียงเป็นแหล่งผลิตเกลือคุณภาพดีมายาวนาน โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า ที่เกลือที่นี่มีรสชาติดีแตกต่างจากเกลือที่อื่น เพราะน้ำทะเลบริเวณนี้มีแร่ธาตุกับสารประกอบแตกต่างจากน้ำทะเลในภาคกลาง ทำให้มีรสชาติไม่เค็มจัด จนเป็นเอกลักษณ์ "เกลือปัตตานี"


'ส่วนใหญ่เกลือที่ได้จะนิยมนำไปหมักปลา ทำน้ำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผักและผลไม้ เพราะให้รสชาติที่ดี เก็บความกรอบไว้ได้นาน" ฮาฟิส เยาวชนคนเดิมระบุถึง "จุดเด่น" ของเกลือหวานตานี พร้อมเล่าถึงกระบวนการทำงานว่า เมื่อโจทย์และเป้าหมายชัดแล้วจึงชวนกันออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ด้วยการพาเยาวชนในชุมชนไปศึกษาการทำนาเกลือ พร้อมเปิดให้คนในชุมชนและนอกชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้วิถีการทำนาเกลือด้วย ซึ่งหลายคนที่ไม่รู้มาก่อน ก็จะรู้สึกตื่นเต้นมาก พร้อมตั้งคำถามว่า 'ที่ปัตตานีนี้มีนาเกลือด้วยหรือ?"


สำหรับความรู้เกี่ยวกับการทำนาเกลือ ทางกลุ่มได้ ปราชญ์ชาวบ้าน บังฟุรกอน สาและ ซึ่งยังทำอาชีพนี้อยู่ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องนี้ โดยสื่อสารเป็นภาษามลายูสลับกับภาษาไทย ซึ่งบังฟุรกอน ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ให้ข้อมูลว่า อุปกรณ์กับวิธีทำนาเกลือของปัตตานีจะแตกต่างจากทางภาคกลาง โดยก่อนเริ่มทำนาเกลือนั้นจะต้องปรับพื้นที่ด้วยการยกเป็นแปลงคล้ายนาข้าวเพื่อเอาไว้ใช้ขังน้ำทะเลเสียก่อน ทั้งนี้ การทำนาเกลือที่นี่จะเริ่มต้นช่วงฤดูแล้ง โดยการทำนาเกลือใน 1 ปี จะแบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกจะทำตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และรอบสองจะเริ่มทำตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน


วิธีทำนาเกลือนั้น บังฟุรกอนแจกแจงว่า เริ่มจากผันน้ำทะเลเข้าสู่นา แล้วตากให้แห้งจนเห็นดินแตก จึงใช้ลูกกลิ้งทับไปมาให้ดินแน่น โดยถ้าดินแข็งมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้เม็ดเกลือขาวสะอาดยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าดินเริ่มเค็มก็จะมองเห็นเป็นสีขาว จากนั้นก็จะต้องเติมน้ำทะเลเข้านาอีก 3 รอบเพื่อให้เกิดความเค็มต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อตากจนน้ำแห้งแล้วจะมองเห็นเป็นประกายแววใส นั่นย่อมหมายถึง เกลือได้เกิดตกผลึกแล้ว ทั้งนี้ ยิ่งแดดแรงหรือลมดีเท่าไหร่เม็ดเกลือที่ได้จะสวยใสและมีรสชาติดียิ่งขึ้น


'เกลือที่ได้จะเก็บขายเป็นกระสอบ หรือแบ่งขายเป็นกันตัง กันตังละ 70 บาท โดย 1 กันตัง จะเท่ากับ 4 ลิตร นอกจากนี้ก็จะมีรายได้เพิ่มอีกทางจากการปรับหน้าดินแต่ละรอบจากเกลือปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ย อินทรีย์ที่มีคุณภาพดีกว่าปุ๋ยเคมีเสียอีก ซึ่งชาวนาเกลือก็จะนำไปขาย จะได้เงินมาอีกก้อน" บังฟุรกอน ปราชญ์ชาวนาเกลือในพื้นที่ระบุ


ทั้งนี้กับโครงการเกลือหวานตานี เพื่อให้เกิดความยั่งยืน กลุ่มเยาวชนได้นำ "วิชาเศรษฐศาสตร์" ที่แต่ละคนได้เรียนมา นำมาปรับใช้ โดยเฉพาะเรื่อง "ทำการตลาด" ให้กับเกลือหวานตานี ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ รอกิ-อับดุลอาซิส แม เยาวชนในโครงการ อีกคนได้เน้นย้ำว่า อยากทำให้เกลือหวานตานีเป็นที่รู้จักมากกว่าแค่ในชุมชน และหวังที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น เพื่อให้คนทำอาชีพนาเกลือมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เยาวชนรายนี้ระบุ


การอนุรักษ์ 'นาเกลือแหลมมลายูผืนสุดท้าย" ในขณะนี้มี 'เยาวชนในพื้นที่ให้ความสำคัญ" จะดียิ่งขึ้นถ้ามี 'ผู้ใหญ่สนับสนุนเยอะ ๆ"

Shares:
QR Code :
QR Code