“ฮากกา” หนึ่งตำนานบนถนนเยาวราช
ตำนานเสื่อผืนหมอนใบ อาจเป็นเพียงบทหนึ่งของตำนานการต่อสู้ของชาวจีน ที่ลงทุนโล้เรือสำเภาฝ่าคลื่นลมมายังดินแดนอันสงบร่มเย็นอย่างสยาม และทำให้ไชน่าทาวน์ของไทยอย่างเยาวราช กลายเป็นย่านธุรกิจการค้าสำคัญที่ใครต่อใครต่างต้องการจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่ของไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อยู่นอกแผ่นดินจีน ซึ่งประกอบด้วยชาวจีนถึง 5 กลุ่มใหญ่แยกตามภาษาได้แก่ แต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และฮากกา
ทว่าท่ามกลางความเจริญของวัตถุที่ค่อยๆ บีบรัดเข้ามา วัฒนธรรมจีนที่ผสมผสานกับไทยอย่างลงตัวนั้น กำลังจะค่อยๆ ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลาเช่นเดียวกับหลายสิ่งที่เหลือเพียงเรื่องเล่า โครงการ “ย่านจีน ถิ่นบางกอก” จึงเกิดขึ้น โดยมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยกลุ่มคนในพื้นที่ เครือข่ายการทำงานเชิงสังคมสถาบันการศึกษา ผู้คนที่รักษ์ไชน่าทาวน์ ภาคเอกชนและภาครัฐ กรุงเทพมหานคร และสถาบันอาศรมศิลป์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กิจกรรม “ทอดน่อง ท่องย่านจีนถิ่นบางกอก” ครั้งที่ 1 ตอน ตามรอยวัฒนธรรมในถิ่นจีน จึงเกิดตามมาเพื่อเชื่อมโยงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ผ่านชาวจีนเชื้อสายฮากกา หรือที่รู้จักกันในชื่อจีนแคะ ตามสำเนียงการเรียกของจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน
“โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เรื่องสุขภาวะเมือง คนมักเข้าใจว่า สสส.ทำแต่เรื่องเหล้า บุหรี่ แต่ความจริงแล้ว เรื่องของชุมชนและวัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เพราะการที่เราจะมีสุขภาวะที่ดีได้นั้น จะต้องมีหลายองค์ประกอบรวมกัน โดยจะต้องพัฒนาต้นทุนวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น อย่างเยาวราชมีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย เราก็ต้องวางแนวทางในการจัดการ เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนมีความสุขก่อน” รศ.ประภาภัทร นิยม คณะกรรมการบริหารแผนคณะ 5 สสส.และผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ บอกถึงวัตถุประสงค์
คนจีนฮากกาเริ่มปรากฏร่องรอยการอพยพเข้ามาอยู่ในไทย ระหว่างปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนปี พ.ศ.2310 โดยอพยพเข้ามามากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2411 – 2453 ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาลไทยกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งก่อสร้างถนน สะพานเส้นทางรถไฟทุกภาคและอาคารต่างๆ ในกรุงเทพฯ
กิจกรรมการเดินทอดน่อง จึงเน้นไปที่การเยี่ยมชมสถานที่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ของชาวฮากกาเป็นส่วนใหญ่ เริ่มต้นด้วยบริเวณวัดคณิกาผล วัดที่ยายแฟง ต้นตระกูลเปาโลหิต หัวหน้ากลุ่มหญิงบริการบริจาคที่ดินและออกทุนให้สร้างวัด ซึ่งกลายเป็นจุดรวมพลแทนศาลเจ้าลีตี้เมี้ยว ซึ่งอยู่ระหว่างการบูรณะ
เดิมทีวัดนี้ถูกเรียกว่าวัดโคกตามชื่อตรอก ซึ่งเป็นย่านโคมเขียวโคมแดง และศูนย์รวมร้านข้าวต้มกุ๊ยแหล่งใหญ่ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นที่มาของคำเปรียบเปรยที่ว่าหมดแรงข้าวต้ม โดยปัจจุบันตรอกโคกได้กลายมาเป็นถนนพลับพลาไชย ขณะที่ศาลเจ้าลีตี้เมี้ยวก่อสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2445 เป็นหนึ่งใน 6 ศาลเจ้าของคนฮากกา
ก่อนจะเดินตัดขึ้นมาตามถนนยมราชสุขุมออกมายังย่านเสือป่า ตรงหัวมุมถนนที่สำนักงานของหนังสือพิมพ์เกียฮั้ว ตงง้วนรายวัน (สศิรินคร) ซึ่งมี จันทนา หรือ เมี่ยวเอง แซ่ลิ่ม นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ออกมาต้อนรับพร้อมนำชมสถานที่
แม้ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์เกียฮั้ว ตงง้วนรายวัน (สศิรินคร) จะสละหนังสือพิมพ์สองฉบับออกมาติดไว้ให้แฟนประจำได้อ่านตรงกำแพงหัวมุมถนนแต่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ที่เป็นหนึ่งในตำนานยังมียอดจำหน่ายถึงวันละ 3-4 หมื่นฉบับ โดยยังใช้วิธีการจัดจำหน่ายแบบเดิมๆ คือมีคนส่งหนังสือพิมพ์มารับไปส่งให้คนอ่านอีกต่อ และขายเพียงฉบับละ 10 บาท
“ข่าวต่างประเทศ เราก็เอามาจากสำนักข่าวของจีนที่ส่งมา ส่วนข่าวของไทยก็จะมีคนออกไปทำข่าวแบบเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทย เขียนข่าวเป็นภาษาไทย ก่อนจะให้คนแปลมาแปลเป็นภาษาจีนอีกทีหนึ่ง” คุณจันทนา กล่าว
แม้ขั้นตอนจะดูยุ่งยากซับซ้อนกว่า แต่หนังสือพิมพ์ฉบับที่ว่านี้ ก็ยังพิมพ์ออกจำหน่ายทุกเช้ามืดของวัน ด้วยแท่นพิมพ์รุ่นเก๋าขนาดไม่ใหญ่ไม่โต เป็นส่วนหนึ่งของถนนสายงานช่าง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องหนังสำคัญของเมืองไทย ซึ่งกลายเป็นย่านค้าอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือแหล่งใหญ่
ขณะที่สี่แยกราชวงศ์ที่เคยเป็นสถานที่ตั้งห้างใต้ฟ้า หนึ่งในตำนานของคนฮากกา ปัจจุบันกลายเป็นโรงแรมแกรนด์ไชน่า หากแต่ห้างสโตร์แมวดำ และร้านขายรองเท้าไท้ซัน ที่มีอายุยาวนานเท่ากันยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยมีร้านอาหารฮากกาเล็กๆ อย่างเปียงกี้อยู่ด้านหลังตึกห้างแมวดำ แต่ร้านอาหารฮากกาที่คลาสสิกที่สุดในกรุงเทพฯ นั้น ต้องยกให้กับร้านแหลมทองโภชนาหรือไท้ซำเหงี่ยน ที่ยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากกว่าสามชั่วอายุคน และยังคงรสชาติเค็มและมันตามสไตล์ถิ่นฐานเดิมของชาวฮากกา ที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาสูง เพราะต้องปรุงอาหารเก็บไว้กินนานเป็นเดือน
เดินเลยต่อไปยังซอยเลื่อนฤทธิ์ ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งค้าผ้าผืนอิมพอร์ต และอุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงของสำเพ็ง-เยาวราชแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตเถ้าแก่ ทั้งชาวฮากกาและแต้จิ๋ว ไปจนถึงนายห้างชาวอินเดียมากมาย แต่ผู้ที่บุกเบิกเครื่องแต่งกายสำเร็จรูปแห่งแรกของไทย คือห้างทรงสมัยที่ยังยืนหยัดมาจนทุกวันนี้
นอกจากนี้ แวะเยี่ยมชมซอยซุนยัดเซ็น ตรงสี่แยกปาฐกถา เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย-จีน สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีการสร้างซุ้มประตูซุนยัดเซ็นขึ้น เพื่อให้ผู้คนระลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ก่อนจะจบการทอดน่อง ณ สมาคมฮากกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนจิ้นเตอะ ศาลเจ้ากวนอู และสำนักงานของสมาคมฯ ในที่เดียวกัน
ปัจจุบันคนฮากกาหรือจีนแคะ จะกระจายตัวอยู่หลายแห่งของประเทศไทยรวมแล้วกว่าล้านคน แต่ความเข้มแข็งของชุมชนฮากกา ที่สะท้อนออกมาจากกิจกรรมในครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ ให้ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านั้นไว้
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update: 05-01-54
อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน