‘ฮัลโหล-เล่นเน็ต’ ขณะฝนฟ้าคะนอง เสี่ยงถูกฟ้าผ่า
สธ.ชี้ใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน และเล่นอินเทอร์เน็ต ขณะฝนฟ้าคะนอง เสี่ยงถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตได้ เผยในรอบ 5 ปี มีคนถูกฟ้าผ่าแล้ว 180 ราย ตาย 46 ราย พร้อมแนะ 9 วิธี ลดความเสี่ยง และวิธีการปฐมพยาบาล
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนมักมีข่าวประชาชนเสียชีวิตจากเหตุถูกฟ้าผ่า โดยเฉพาะช่วงนี้ สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและมีความชื้นสูง หากมีพายุฝนฟ้าคะนองจะมีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้ง่าย ดังนั้น ในช่วงฤดูฝนประชาชนจึงมีโอกาสอย่างมากที่จะถูกฟ้าผ่า
ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า (Lightening-related injuries) ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2555 มีคนถูกฟ้าผ่า 180 ราย เสียชีวิต 46 ราย คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 26 โดยผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นชาย และอยู่ในวัยแรงงาน อายุ 20-49 ปี หากแยกตามอาชีพจะพบว่า เกษตรกรถูกฟ้าผ่ามากอันดับ 1 ร้อยละ 46 รองลงมาเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 40 และผู้ใช้แรงงานร้อยละ 9 เหตุมักเกิดในช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นนา ไร่ สวน ขณะที่พบว่าผู้บาดเจ็บการถูกฟ้าผ่าในปี 2555 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยร้อยละ 11 สูงขึ้นจากปี พ.ศ. 2554 ประมาณ 3 เท่าตัว
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ภัยจากจากฟ้าผ่า เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวและมีอันตรายสูง โดยลักษณะของฟ้าผ่า แบ่งเป็น 4 แบบ คือ 1.ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ 2.ฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆ 3.ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบลบ และ 4.ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบบวก โดยฟ้าผ่าแบบลบและแบบบวกนั้น จะทำอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้นดิน หรือพื้นน้ำ ซึ่งฟ้าผ่าแบบลบจะผ่าลงบริเวณใต้เงาของเมฆฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก ส่วนฟ้าผ่าแบบบวกสามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆประมาณ 40 กิโลเมตร ในเวลาอันรวดเร็ว ภายใน 1 วินาที มักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง คือ หลังจากที่ฝนซาแล้ว
"ประชาชนไทยโดยทั่วไปมักจะไม่มีอุปกรณ์ หรือเครื่องมือช่วยตรวจวัดความเสี่ยงของการเกิดฟ้าผ่า แต่มีวิธีการสังเกตสัญญาณความเสี่ยง โดยหากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่บนเหนือศีรษะแล้ว ปรากฏว่า เส้นขนบนผิวหนังลุกชันขึ้น หรือเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น แสดงว่ากำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หรือหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองใกล้ตัว ในระยะประมาณ 16 กิโลเมตรแล้วมีฟ้าแลบ หรือฟ้าผ่า และได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังฟ้าแลบน้อยกว่า 30 วินาที แสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่า ต้องเพิ่มความระมัดระวัง" นพ.ณรงค์ กล่าว
ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ได้แนะนำถึงวิธีป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่า โดยมีข้อแนะนำดังนี้
1.หากอยู่ในที่โล่ง ให้หาที่หลบที่ปลอดภัย หรือควรหลบในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าสัมผัสกับตัวถังรถ
2.หากหาที่หลบไม่ได้ ให้หมอบนั่งยองๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด แต่อย่านอนหมอบกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งมาตามพื้นได้
3.อย่ายืนหลบอยู่ใต้ต้นไม้สูงและบริเวณใกล้เคียงกับต้นไม้ หรืออยู่ในที่สูงและใกล้ที่สูง ที่สำคัญอย่ากางร่ม
4.ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะแม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ อีกทั้งโทรศัพท์มือถือมีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า และยังทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรจนเกิดระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
5.ห้ามใช้โทรศัพท์บ้าน หรือเล่นอินเทอร์เน็ตในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณ หรือเสาอากาศที่อยู่นอกบ้าน และกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ รวมทั้งผู้ใช้งานได้รับอันตราย
6.ควรถอดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพราะฟ้าอาจผ่าลงที่เสาไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้ากระชากเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจทำให้เสียได้ และควรดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออก เพราะหากฟ้าผ่าที่เสาอากาศบนหลังคาบ้าน อาจวิ่งเข้าสู่โทรทัศน์ได้
7.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิด เนื่องจากโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้าและอย่าอยู่ใกล้สายไฟ
8.หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ เพราะเป็นตัวนำไฟฟ้า
9.ควรเตรียมไฟฉายไว้ส่องดูทาง เพราะอาจเกิดไฟดับ หรือไฟไหม้ได้
อย่างไรก็ตาม วิธีปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่านั้น ให้สังเกตก่อนว่าในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองจากการถูกฟ้าผ่า และสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดู ดหรือไฟฟ้าซ็อต
ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกไฟฟ้าดูด หากผู้ถูกฟ้าผ่าหมดสติ ไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น คือ ริมผีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคลำชีพจรไม่ได้ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ขอให้ช่วยผายปอดทันทีก่อนนำส่งโรงพยาบาล ด้วยการให้ลมทางปาก หรือที่เรียกว่า "การเป่าปาก" ร่วมกับนวดหัวใจเพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน โดยให้วางมือตรงกึ่งกลางลิ้นปี่เล็กน้อย
ทั้งนี้ ในกรณีทำการปฐมพยาบาลคนเดียวให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ถ้าทำการปฐมพยาบาลสองคน ให้นวดหัวใจ 5 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง ก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์ต่อไปประชาชนที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ โทร. 02-5904395 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต