ฮอร์โมนหิว จัดการได้

ที่มา : พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล เครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส.


ฮอร์โมนหิว จัดการได้ thaihealth


ในการทำสงครามกับพุง เราต้องทำความรู้จักกับฮอร์โมนสำคัญสองตัว ตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนหิว และอีกตัวคือ ฮอร์โมนอ้วน วันนี้เรามารู้จักเจ้าตัวพี่ฮอร์โมนหิวกันก่อนนะคะ ฮอร์โมนหิวนี้มีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นทางการว่าเกรลิน


เกรลินถูกหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร เพื่อส่งสัญญาณบอกสมองให้สั่งสองมือไปหาอาหารเข้าปาก ก่อนมื้ออาหารจะเป็นช่วงเวลาที่ระดับของเกรลินขึ้นสูง เมื่อรับประทานอาหารไป ระดับของเกรลินก็จะลดลงประมาณ 3 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย วิธีการที่จะจัดการกับความหิว คือ พยายามควบคุมเกรลินให้ไม่สูงเกินไป และไม่ถูกหลั่งออกมาเร็วเกินไป ซึ่งทำได้ง่ายๆ ตามทิปต่อไปนี้


1.เพิ่มโปรตีนดีในมื้ออาหาร พบว่าการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ขาว ปลา ถั่ว จพช่วยยับยั้งการหลั่งของเกรลินได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเช้า


2.เลี่ยงอาหารไขมันสูง พบว่ามื้ออาหารที่มีไขมันสูง ส่งผลยับยั้งฮอร์โมนหิวหรือเกรลินได้ไม่ดีเท่าอาหารไขมันต่ำ นั่นหมายความว่า ยิ่งรับประทานอาหารมันๆ ก็จะยิ่งหิวง่ายขึ้น


3.อย่านอนดึก การนอนไม่พอส่งผลกระตุ้นการผลิตของเกรลิน ลองสังเกตดูว่าในวันที่คุณนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากจะง่วงเพลียแล้ว ยังมักจะหิวเก่งขึ้นด้วย


4.รับประทานมื้อเล็กแต่บ่อยขึ้น การแบ่งอาหารเป็นมื้อที่เล็กลง แต่บ่อยขึ้นเป็นทุก 3-4 ชั่วโมง จะช่วยกระตุ้นเปปไทด์ YY3-36 ซึ่งจะไปยับยั้งการหลั่งของเกรลินอีกต่อหนึ่ง


5.หาทางจัดการกับความเครียด เช่น ออกกำลังกาย นวด นั่งสมาธิ ฟังเพลง ในเวลาที่เรามีความเครียดหรือวิตกกังวล เกรลินจะถูกผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เราหิวง่ายในยามเครียด


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code