อ้วนลงพุง สมองเสื่อมก่อนวัย
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
นักวิจัย มช.พบภาวะอ้วนลงพุง ส่งผลต่อการเรียนรู้และความจำแย่ลง ชี้ยาต้านเบาหวาน เป็นยาตัวเลือกในการรักษาและป้องกันสมองเสื่อมก่อนวัยในภาวะอ้วนลงพุงได้ และยังพบว่าเมื่อหมดฮอร์โมนเพศ จะทำให้เกิดภาวะเสื่อมทางสมองได้คล้ายกับภาวะอ้วนลงพุง แต่หากมีภาวะอ้วนร่วมด้วยจะยิ่งส่งผลรุนแรงขึ้น
ศ.ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร หัวหน้าหน่วยสรีรวิทยาระบบประสาท ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) และอาจารย์ประจำสาขาวิชาประสาทวิทยาศาสตร์-ชีววิทยาช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มช. กล่าวถึง งานวิจัยภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งก่อให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินในสมอง และการสูญเสียการทำงานของไมโตคอนเดรียในสมอง ผลเสียดังกล่าวนำไปสู่การเกิดผลเสียอันใหญ่หลวงต่อสมอง นั่นคือทำให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้และความจำในที่สุด หรือพูดง่ายๆ คือ ยิ่งอ้วนก็ยิ่งทำให้เรียนรู้และจดจำได้แย่ลง
ทั้งนี้ ผลวิจัยยังพบว่าเมื่อร่างกายหมดฮอร์โมนเพศแล้ว จะทำให้เกิดภาวะเสื่อมทางสมองได้ คล้ายๆ กับภาวะอ้วนลงพุง แต่สำคัญคืญหากร่างกายหมดฮอร์โมนเพศแล้วยังมีภาวะอ้วนร่วมด้วย ก็จะยิ่งมีผลเสียรุนแรงมากขึ้น
"ผลวิจัยยังค้นพบว่ายาต้านเบาหวาน สามารถเป็นยาตัวเลือกที่ใช้รักษาและป้องกันการเกิดสมองเสื่อมก่อนวัย ในภาวะอ้วนลงพุงได้ดีพอๆ กับการให้ฮอร์โมนเพศ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าฮอร์โมนเพศที่ให้ทดแทนภาวะขาดฮอร์โมนเพศนั้น สามารถก่อให้เกิดผลเสียข้างเคียงได้มาก ความรู้ดังกล่าวจากผลงานวิจัยนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อแนวทางการรักษาเป็นอย่างสูง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดทางเลือกใหม่ในการป้องกัน และรักษาการสูญเสียการเรียนรู้และความจำในผู้สูงอายุที่หมดฮอร์โมนเพศแล้วได้ในอนาคต"
นักวิจัย มช. กล่าวและว่า งานวิจัยนี้ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงวิชาการอย่างสูง โดยเน้นความเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยในระดับสัตว์ทดลองไปถึงการพยายามนำไปใช้จริงในผู้ป่วย โดยเน้นการค้นหากลไกความผิดปกติที่ทำให้การทำงานของสมองเสียไปเมื่อมีภาวะอ้วนลงพุงหรือวัยสูงอายุที่หมดฮอร์โมนเพศ
ซึ่งความสำเร็จเบื้องต้นนี้ ทำให้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ปี 2559 และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นปี 2560 และรางวัล 2016 TWAS Prize for Young Scientist in Thailand (Mathematics Field) จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)