อ้วนลงพุง กับความดันโลหิตสูง

ที่มา: เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย


อ้วนลงพุง กับความดันโลหิตสูง thaihealth


แฟ้มภาพ


อ้วนลงพุง และความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่พบร่วมกันบ่อย และต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases หรือ NCDs) ซี่งเป็นปัญหาสำคัญของคนไทยและคนทั่วโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2555 พบว่า NCDs เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของประชากรโลก คือประมาณร้อยละ 68 ดังนั้นการลดภาวะอ้วนลงพุง และความดันโลหิตสูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง


จากข้อมูลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยปีพ.ศ. 2552 พบว่าในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกาย > 25 กก/ม.2) มีความชุกของความดันโลหิตสูงมากกว่ากลุ่มคนที่มีดัชนีมวลกาย < 25 กก/ม.2 ประมาณ 2 เท่า (31.6% และ15.9% ตามลำดับ) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของประชากรทั่วโลกที่ว่า ในกลุ่มคนอ้วนลงพุงนั้นจะมีความชุกของความดันโลหิตสูงมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่อ้วนลงพุงนั้นมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ได้แก่


1)ระบบประสาทอัตโนมัติจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากกว่าคนทั่วไป และการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นของเซลล์ประสาทโดยอัตโนมัติ (reflex) ก็เปลี่ยนไป


2)การทำงานของไตบกพร่อง มีการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดเปลี่ยนไป ส่งผลให้ท่อไตมีการขับเกลือโซเดียมลดลง ดูดเกลือโซเดียมกลับสู่ร่างกายมากขึ้น และมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะเพิ่มขึ้น


3)เนื้อเยื่อบุผนังด้านในของหลอดเลือดทำงานผิดปกติ (endothelium dysfunction) จากการหลั่งของสารต่าง ๆ และฮอร์โมนเปลี่ยนไป ส่งผลให้การหดและคลายตัวของหลอดเลือดผิดปกติ


นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้น้ำหนักตัว และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคที่ไม่เหมาะสม และการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคร่วมอีกหลายชนิด เช่น เบาหวาน ไขมันสูง กรดยูริกสูง และการหยุดหายใจขณะหลับ


ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาความดันโลหิตสูงในผู้ที่อ้วนลงพุง คือ การลดน้ำหนักโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้หลัก 3 อ คือ อาหาร อารมณ์ และ ออกกำลังกาย เนื่องจากจะช่วยให้สามารถควบคุมโรคร่วมที่กล่าวมาข้างต้นได้ดีขึ้นอีกด้วย เปรียบเทียบได้กับ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ส่วนการใช้ยาลดความดันโลหิตนั้นเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ไม่ช่วยลดรอบเอว ไม่ช่วยลดระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด จึงควรใช้ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

Shares:
QR Code :
QR Code