‘อ่าน’เพื่อชีวิต…ชีวิตเพื่อ’อ่าน’…
“คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ..!!” ปัญหาเรื้อรังที่ดูเหมือนจะอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย หน่วยงานและองค์กรหลากหลาย ต่างพยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตลอดจนเสาะหาแนวทางในการส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน
“สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน จำนวนทั้งสิ้น 1,057 คน ในประเด็น”ครอบครัว” กับ “การอ่าน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและทราบถึงความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการอ่านและนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ในสังคมต่อไป
จากผลการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน 3 อันดับแรก คือ พ่อแม่ ร้อยละ 27.85 รองลงมา ได้แก่ ตัวเด็กเอง ร้อยละ25.19 และครู อาจารย์ ร้อยละ 24.16
ผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงความสำคัญของผู้ปกครองต่อการส่งเสริมการอ่าน ดังนั้น หากต้องการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมแห่งการอ่านในสังคมไทยจำเป็นต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ จากการสำรวจพฤติกรรมการส่งเสริมการอ่านที่พ่อแม่ผู้ปกครองปฏิบัติมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การปลูกฝังสร้างค่านิยมให้บุตรหลานเป็นคนรักการอ่าน การมีความสนใจ ชอบ รักในการอ่านหนังสือการมีพฤติกรรมส่งเสริม สนับสนุน หาซื้อหนังสือให้กับบุตรหลาน การเป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่านหนังสือให้กับบุตรหลาน และการคัดเลือกหนังสือที่คิดว่ามีความเหมาะสมกับวัยของบุตรหลาน
พิจารณาจากพฤติกรรมของผู้ปกครองในการส่งเสริมการอ่านแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่า”พอจะเห็นแสงสว่าง” ในการผลักดันให้คนไทยรักการอ่าน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการอ่านนั้น มีความรู้และพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยรักการอ่านไม่น้อย
เนื่องจากหากพิจารณาตามหลักจิตวิทยา “ความรู้สึกชอบ และไม่ชอบ” ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมทั้งการอ่านล้วนก่อตัวขึ้นจากการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่บุคคลจะได้รับจากประสบการณ์ซึ่งอาจเป็นทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อ”การสร้างความรู้สึกรักการอ่าน” อย่างยิ่ง
สถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการสร้างประสบการณ์ จนทำให้เกิดเป็นทัศนคติหรือความรู้สึกของมนุษย์โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยทองแห่งการสร้างพื้นฐานชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ การคิดภาษา หรือแม้แต่ศิลปะและการสร้างสรรค์ก็คือ”ครอบครัว” ดังนั้น”ครอบครัวที่รักการอ่าน” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทักษะ และความรู้สึกรักการอ่าน
จากผลการวิจัยในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ อังกฤษ หรือแม้แต่อเมริกา ต่างชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัวต่อพัฒนาการด้านการอ่านซึ่งเด็กที่ออกเสียงหรืออ่านได้เร็ว และรักการอ่านนั้น ส่วนใหญ่จะมีสภาพแวดล้อมในบ้านที่มีลักษณะคล้ายกัน ได้แก่เด็กได้รับประสบการณ์ หรือมีคนอ่าน
หนังสือให้ฟังเป็นประจำ เด็กมีหนังสือหรือสิ่งตีพิมพ์ให้ได้อ่านอยู่เสมอมีอุปกรณ์อื่นๆ เช่น กระดาษสี ไว้ให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ และมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องคอยกระตุ้นให้เด็กอ่านและเขียนและเห็นสมาชิกในครอบครัวพี่น้อง พ่อแม่ อ่านหนังสืออย่างมีความสุข
การที่ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง”พ่อ..แม่” ซึ่งเป็น”ผู้กระตุ้น” และ”ต้นแบบนักอ่าน” นั้นย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีและอุปนิสัยรักการอ่าน ดังนั้นการพัฒนาการอ่านของเด็กควรเริ่มจากการสำรวจตัวพ่อแม่เองก่อนว่าเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กหรือไม่? มีเวลาเอาใจใส่ และอ่านให้เด็กฟังบ่อยแค่ไหน?
ความถี่ของการอ่านเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยพ่อแม่ควรจะอ่านหรือให้เด็กอ่านหนังสืออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น โดยหากอ่านน้อยกว่านี้จะทำพัฒนาการด้านการอ่านไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเริ่มต้นอ่านตั้งแต่อายุน้อย ในวัย6-8 เดือนแรก ทารก ซึ่งมีผลทดลองให้เห็นว่าเด็กสามารถแสดงความพอใจหนังสือที่สนใจด้วยการสัมผัส หรือการออกเสียง
หนังสือภาพ ซึ่งเหมาะสมกับเด็กปฐมวัยจะมีประโยชน์ต่อการสร้างทักษะที่หลากหลายซึ่งมีผลต่อความพร้อมด้านการอ่าน ไม่ว่าจะเป็น คำศัพท์ การออกเสียง ความหมายของคำ โครงสร้างของประโยค การลำดับเนื้อเรื่อง การฝึกสมาธิซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฯลฯซึ่งจะเห็นได้ว่านอกจากเด็กจะต้องการการดูแลเอาใจใส่ ความรัก ความอบอุ่นแล้ว ยังต้องการหนังสือที่จะเป็นอาหารสมอง สิ่งแวดล้อม
ณ วันนี้ หากหวังจะสร้างเด็กให้เป็น “นักอ่าน..รักการอ่าน” ควรเริ่มจากการสร้าง “พ่อ..แม่ให้เป็นนักอ่าน..รักการอ่าน”เสียก่อน…หากทำได้จริงเชื่อว่าการสร้าง “นักอ่าน” ก็คงไม่ยากเกินไปอย่างที่คิด
แล้วยิ่งหากพ่วงทัศนคติที่ว่า”อ่าน”เพื่อคุณภาพชีวิต…ชีวิตเพื่อ “อ่าน” หรือการสร้างให้เห็นถึงความสำคัญ และการอ่านสิ่งต่างๆรอบตัวไม่ว่าจะเป็นฉลากยาเอกสารต่างๆ ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อส่งทัศนคติดังกล่าวต่อไปให้บุตรหลาน ก็จะยิ่งทำให้ “การสร้างวัฒนธรรมการอ่าน” สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง…
เรื่อง: รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ