อ่อน(รส)หวาน’กินเป็น’เพื่อสุขภาพ’

น้ำตาลแพงก็ไม่มีผล

  

          นอกจากกรณีไข่ไก่แล้ว ระยะนี้สถานการณ์”น้ำตาล” ก็หวนกลับมามีประเด็น “ราคาแพง” อีกครั้ง ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงเรื่องต้นทุนการประกอบอาหาร ถึงเรื่องราคาอาหารการกินของคนไทย อย่างไรก็ตาม ผลต่อเนื่องเรื่องนี้อาจจะไม่กระทบกับชีวิตคนไทยมากนัก หากคนไทยส่วนใหญ่ “ลดหวาน”  “อ่อนรสหวาน” สำหรับอาหารการกินต่าง ๆ มีผลดีน้ำตาลแพงก็ไม่กระทบ และที่สำคัญ “ดีต่อสุขภาพ”ทั้งนี้ ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า… ปัจจุบันน้ำตาลแฝงอยู่ในอาหารแทบทุกชนิด ในกลุ่มเด็กที่บริโภคน้ำตาลมากไปก็จะมีปัญหามาก เช่นฟันผุ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งพฤติกรรมการกินหรือนิสัยการบริโภคจะถูกปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็กและติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เด็กไทยในปัจจุบันบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 20 ช้อนชาต่อวัน ขณะที่หลักการบริโภคน้ำตาลไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

อ่อน(รส)หวาน’กินเป็น’เพื่อสุขภาพ’ 

          “เด็กไทยติดนิสัยกินหวาน บางบ้านลี้ยงลูกด้วยนมกล่องรสหวาน และจากสถิติก็พบว่าคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ร้อยละ 65 นิยมป้อนอาหารเสริมสำเร็จรูปซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาล”

 

          ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน บอกต่อไปว่า… การสร้างนิสัยไม่กินหวานตั้งแต่เด็กจะเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพที่สัมฤทธิผล ซึ่ง สสส. ก็ได้ทำ โครงการรวมพลังเครือข่ายเพื่อเด็กไทยไม่กินหวานโดยร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ร่วมกับโรงเรียน เพื่อรณรงค์ลดละการกินหวาน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 ตั้งต้นจากรณรงค์ให้ผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนำน้ำตาลออกจากนมผง และขยายต่อสู่โรงเรียน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เกือบ 1,000 แห่ง ที่ทำกิจกรรมให้เด็ก”ไม่ติดหวาน”

 

          อาทิ โรงเรียนบ้านราษฎร์เจริญวิหารแดง จ.สระบุรี เป็นเขตปลอดน้ำอัดลม ขนมถุง ไม่มีไอศกรีมจำหน่าย บางโรงเรียนนำแผนการทำงานของโครงการไปประยุกต์ในการเรียนการสอนนักเรียนทุกระดับชั้น เช่น โรงเรียนแสงทองวิทยา อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จัดทำนิทานไม่กินหวาน เกมไม่กินหวาน จัดกิจกรรมวันปลอดขนมถุงปลอดไอศกรีม งดน้ำอัดลม งดน้ำตาลในเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว จัดผลไม้เป็นอาหารว่างให้เด็กอนุบาล เป็นต้น

 

          “นอกจากโรงเรียนแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้เข้าร่วมกำหนดนโยบาย กำหนดพื้นที่ปลอดหวานในเขตโรงเรียนและชุมชน ในปีที่ผ่านมามีองค์การบริหาร

 

          ส่วนตำบล 40 แห่ง ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการ”…ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน ระบุ

 

          ขณะที่ พัฒนพงส์ จาติเกตุ รองผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส.ก็บอกว่า… ช่วงเวลาเกือบ 5 ปี ในการรณรงค์ลดการกินหวานในคนไทย ผ่านเครือข่ายและชุมชน ทำให้เกิดปรากฏการณ์อาหารปลอดน้ำตาล หรือ”ซูการ์ฟรี”ในอาหารแล้วหลายชนิด กลายเป็นเทรนด์ด้านสุขภาพในสังคมไทยเวลานี้ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่มองเรื่องการบริโภคอาหารหวานว่าจะ ก่อเกิดสิว กินแล้วอ้วนก็จะเลือกอาหารที่มีน้ำตาลน้อย

 

          “หลายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับคะแนนด้านโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนมีชื่อเสียง ผู้ปกครองเชื่อมั่นไปถึงระบบการเรียนการสอน อยากให้ลูกหลานเข้าเรียน” …รองผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ระบุถึงผลที่ได้ทางอ้อม

 

          และยังบอกต่ออีกว่า… สำหรับการทำงานในเชิงรุกของเครือข่ายในปีนี้ จะเน้นเรื่องการลดน้ำอัดลมในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันด้วยกลยุทธ์การตลาดรูปแบบต่าง ๆ ทำให้โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งตลาดน้ำอัดลมตลาดใหญ่

 

          พร้อมกันนี้ รองผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานยังระบุถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่น้ำตาลราคาแพง โดยบอกว่า… ทางออกหนึ่งที่จะทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนมากจากปัญหานี้ คือต้องค่อย ๆ ลดน้ำตาลในอาหารลดความหวานของขนมลง ยกตัวอย่างเช่น ขนมไทย ฝอยทองทองหยอด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะไม่รู้สึกมากนัก และเครือข่ายเคยทำเรื่องนี้สำเร็จในกรณีอื่น

 

          อย่างเรื่องการลดน้ำตาลในนม โดยเฉพาะนมผงสูตรน้ำตาลน้อยสำหรับเด็กวัย 1 ขวบ ซึ่งแท้จริงแล้ว นมผงสูตรไม่มีน้ำตาลจะดีกับสุขภาพของเด็ก แต่ผู้ผลิตนมผงมักจะไม่ค่อยโฆษณาสูตรนี้เนื่องจากจะต้องใช้เนื้อนมมากกว่า เพราะไม่มีน้ำตาลมาแทรก แต่การขายต้องขายในราคาที่ไม่ต่างกัน

 

          นอกจากนี้สำหรับผู้บริโภค การเลือกซื้ออาหาร-เครื่องดื่มบรรจุ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้ นมถั่วเหลือง ฯลฯ ก็ให้สังเกตดูฉลากการมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของเนื้ออาหารและเครื่องดื่ม จะดีต่อสุขภาพ

 

          “ในสมัยสงครามโลก เกิดปัญหาน้ำตาลแพงและขาดแคลนในสวิตเซอร์แลนด์ ปรากฏว่าในช่วงนั้นคนในประเทศนี้มีสถิติฟันผุลดลง”…รองผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. ทิ้งท้าย”น้ำตาลแพง” ก็ไม่เดือดร้อนถ้า “กินเป็น”เน้น “อ่อน (รส) หวาน” จะดีต่อสุขภาพ!!!.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update:13-07-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภุ๋

Shares:
QR Code :
QR Code