‘อุเทนถวาย’ เดินหน้างานจิตอาสา
ที่มา : MGR Online
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ hfocus.org
"อุเทนถวาย" เดินหน้างานจิตอาสา สานต่อทำความดีเป็นปฏิบัติบูชา
“ผมคิดว่าน้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมอาสา ในครั้งนี้จะได้เรียนรู้ ชีวิต วิถีวัฒนธรรมของพี่น้องชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งขณะนี้พวกเราทุกคนอยากจะอนุรักษ์รักษาเอาไว้ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี” นายประโยชน์ พรหมสุวรรณ ประธานกลุ่มป่าละอู โฮมสเตย์ เล่าถึงความตั้งใจ และความคาดหวังของเขาครั้งนี้ ในการทำกิจกรรมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 66 พรรษา 28 กรกฎาคม 2561 โครงการอุเทนถวายน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชน
โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย ร่วมกับ มูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และชุมชนป่าละอู โฮมสะเตย์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้และบริการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ศูนย์ประสานงานโครงการพระราชดำริ หมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอูหนองพลับ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
กิจกรรมดังกล่าวได้นำชาวอุเทนถวาย ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า รุ่นน้องรุ่นพี่ ร่วมแรงร่วมใจกันปฎิบัติกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” โดยร่วมกันนำความรู้ ความสามารถ และทักษะ มาใช้ทั้งการปรับปรุง สร้าง อาคาร พื้นที่และภูมิทัศน์ภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชนป่าละอู
“ประโยชน์” ในฐานะประธานกลุ่มป่าละอู โฮมสะเตย์ ระบุว่า สถานที่แห่งนี้นอกจากมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งเรื่องความสวยงามตามธรรมชาติ ยังมีความน่าสนใจในเรื่องของวัฒนธรรม ที่คนรุ่นใหม่ควรได้เรียนรู้ และช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์รักษาเอาไว้
เขาระบุว่า ป่าละอูคือประวัติศาสตร์ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จมาที่นี้ถึง 9 ครั้ง และเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ ซึ่งชุมชนยึดแนวการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงท่ามกลางพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเกษตรกรรม และปศุสัตว์ มีอากาศที่ดี บริสุทธิ์ และไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งพวกเขาอยากแบ่งปันความสุข ให้ประชาชนทั่วประเทศได้เข้ามาเยี่ยมชมสัมผัสวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติในลักษณะนี้ รวมทั้งน้องๆ ที่มาร่วมทำกิจกรรมอาสา ได้เรียนรู้แนวทางการดำรงชีวิต หลักคิด รวมถึงวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ด้วยเช่นกัน พวกเขายังได้สร้างประโยชน์ไว้ให้ประชาชน คนทั่วไป นั้นคือการสร้างห้องน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์ นับเป็นการนำความรู้มารับใช้สังคม อย่างน่าชื่นชม
ประโยชน์ บอกว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่ง ที่น้องๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน กับชาวบ้านในท้องถิ่น นั้นคือ ทุกคนทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ในการทำงานบูรณาการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสังคมและส่วนรวม ผ่านกิจกรรมที่สำคัญนี้
นายโชติจุฑา อาจสอน นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย ระบุว่า เป็นกิจกรรมพี่ชวนน้องทำความดีตามรอยพ่อซึ่งถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปปรับใช้เรียนรู้ในการดำเนินชีวิต และเป็นการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ในด้านจิตอาสาของบรรดาน้องพี่ชาวอุเทนถวาย โดยก่อนๆ ได้มีการทำกิจกรรมสร้างฝายร่วมกันที่ จ.เพชรบุรี การทาสีกำแพงวัดปทุม
เขาระบุว่า นี้คือความตั้งใจจริงของพวกเรา เพราะการทำงานจิตอาสาไม่เหมือนการทำงานอื่นๆ แตกต่างจากการทำงานตามหน้าที่หรือ การกำหนด แต่จิตอาสา เป็นความตั้งใจจริงที่ออกมาจากหัวใจ ออกมาทำงานสร้างสังคมในรูปแบบต่างๆ
“ผมคิดว่านี้คือการบ่มเพาะจิตใจ ความเสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวมให้กับน้องๆ และที่สำคัญนั้นคือการสร้างคนที่มีคุณภาพสู่สังคม เพราะเมื่อเรามีจิตอาสา มีจิตใจเสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวม ก็จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้น”
ในขณะที่ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษามูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญพลังของจิตอาสาโดยเฉพาะจากเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจว่า พลังจิตอาสาของน้องๆ อุเทนถวาย เป็นตัวอย่างของการทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวม คิดถึงส่วนรวม มากกว่าส่วนตน มุ่งมั่นที่จะทำความดีเป็นปฏิบัติบูชา
อ.เนาวรัตน์ มองว่า สิ่งเหล่านี้ คือ การปูพื้นในการปฎิบัติ ที่มิได้เป็นแค่วาทกรรม แต่เป็นการลงมือทำให้เกิดรูปธรรมที่เป็นจริง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายในทิศทางการศึกษาของเยาวชนในรูปแบบใหม่ที่เรียนรู้ ปฎิบัติ ทดลอง สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเราเรียกว่านี้คือ การศึกษาที่สมบูรณ์
“วิชชาจรณสัมปันโน นั้นคือ การถึงพร้อมสมบูรณ์ด้วยความรู้การปฎิบัติ และนำไปสร้างประโยชน์ เพราะน้องๆนักศึกษา มีความรู้และนำไปสู่การปฎิบัติในพื้นที่ชุมชน ทำให้เกิดประสบการณ์ และการเรียนรู้ ในขณะที่ท้องถิ่น หรือชุมชนเองก็มีความรู้ชุดหนึ่งอาจจะมีความกระจัดกระจาย อันจะนำมาซึ่งการเกื้อกูลซึ้งกันและกันได้ เกิดประโยชน์ รวมถึงได้ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าและเป็นกำลังใจให้กันทั้งคนทำงานและชาวบ้าน ซึ่งหากเราบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจตรงนี้ได้ เรื่องความรุนแรงการทะเลาะวิวาท ก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงเพราะพื้นที่ดีๆจะเข้ามาแทนที่” อ.เนาวรัตน์ กล่าว