อุปกรณ์ฟื้นฟูผู้พิการกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
การสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการนั้น จำเป็นต้องมีการใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือบางอย่าง เพื่อช่วยในการฝึกหัดร่างกาย หรือกระตุ้นพัฒนาการของเด็กพิการ ซึ่งหลายคนมักคิดว่า ต้องเป็นอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญควบคุมการใช้งาน
แต่ในความเป็นจริงหลายกรณีในหลายพื้นที่กลับแสดงให้เห็นว่า ภูมิปัญญาของครอบครัวและชุมชน ก็สามารถมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้ นั่นคืออาจเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากวัสดุในท้องถิ่น ราคาไม่แพง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงแต่อย่างใด หากได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลเช่นเดียวกัน
ดังเช่นกรณี อุปกรณ์ของปู่ไพร แห่งบ้านทรายมูลบ้านทรายมูล อยู่ในเขตตำบลทรายทอง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งห่างจากตัวอำเภอถึง 22 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูเด็กพิการในชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิเพื่อเด็กพิการและโรงพยาบาลศรีบุญเรือง ได้พบ “น้องปอ” หรือ “เด็กชายสุริยะ” ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 4 ขวบ ในสภาพที่ขาทั้งสองข้างเล็กและลีบมาก เคลื่อนไหวด้วยการคลาน ด้วยว่าแรกคลอดน้องปอตัวเล็กมาก ใครๆ ก็คิดว่าอีกไม่นานก็คงตาย ประกอบกับภายในครอบครัวมีปัญหาเศรษฐกิจ ทุกคนต้องดิ้นรนทำงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงมีเพียงปู่ไพรที่นั่งมองหลานด้วยความสงสาร เลี้ยงดูให้ความรัก ความสงสาร ตามอัตภาพของปู่ไพร
ด้วยการแนะนำจากเจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูเด็กพิการในชุมชน ปู่ไพรกลับมีความหวังว่าสักวันหนึ่ง หลานจะต้องเดินได้เหมือนเด็กคนอื่น ๆ เพราะความรักและความหวังที่ปู่มีให้กับหลานได้เป็นแรงสนับสนุนให้ปู่ไพรนำหลานมาฝึกกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลศรีบุญเรืองเป็นประจำทุกๆ เดือน และจดทำท่าฝึกกลับไปฝึกหลานต่อที่บ้าน รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมผู้ปกครอง ทำให้ปู่ไพรเกิดความคิดหาเศษวัสดุในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นของเล่นต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูหลานที่บ้าน จนพัฒนาการของน้องปอดีขึ้นตามลำดับ
“คิดสงสารน้องปอ ผมเลยเกิดความรัก ผมเลยถอดวิญญาณให้หลานผมหมด อันใดหนอที่จะทำให้เกิดการออกกำลังมือ กำลังกาย กำลังขา ก็ทำขึ้นมา …” ปู่ไพร สมลีลากล่าว
จนทุกวันนี้ สิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานที่ปู่ไพรคิดค้น ได้มีส่วนช่วยให้หลานชายพิการได้ฟื้นฟูสมรรถภาพ จนเติบโตและสามารถใช้ชีวิตและช่วยเหลือตนเองในสังคมได้ กลายมาเป็นชายหนุ่มที่หน้าตาหล่อเหลาคมคาย พูดจาฉะฉาน แต่อ่อนน้อมและมีสัมมาคารวะ ทำงานในมูลนิธิฯ ช่วยเหลือสังคม เป็นตัวอย่างการฟื้นฟูโดยชุมชน ขณะที่ผลงานของปู่ไพรเป็นที่สนใจในการศึกษาดูงานของชาวต่างชาติ
สำหรับประเทศไทยก็มีหน่วยงานสาธารณสุขไปรับคำปรึกษา และนำไปใช้ประกอบการฝึกทางกายภาพบำบัดกับคนพิการ โดยเฉพาะผู้ประสบอุบัติเหตุตามโรงพยาบาลต่างๆ ปู่ไพรเองกลายเป็นวิทยากรคนสำคัญในการโน้มน้าวจิตใจของผู้ปกครองให้กลับมาสนใจ และมีความหวังในการดูแลบุตรหลานที่มีความพิการ จนทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้มอบปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้กับปู่ไพรไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2545
อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ ชุมชนชาววังอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือของคนในชุมชนที่ช่วยเหลือคนพิการในชุมชนด้วยกัน คิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มาจากภูมิปัญญาของชุมชน ผสมผสานกับความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ยายบัวศรี เป็นผู้ป่วยโรคความดัน เบาหวาน มารับยาที่โรงพยาบาลวังสามหมอเป็นประจำ จนวันหนึ่ง ยายหน้ามืดวูบไป พอฟื้นก็กลายเป็นอัมพาตร่างกายท่อนล่างและซีกขวาขยับไม่ได้ จึงเอาแต่ร้องไห้ ขณะที่ตาทองสา คู่ชีวิตของยายบัวศรี ซึ่งบวชเป็นพระขณะนั้น ได้ตัดสินใจสึกออกมาเพื่อดูแลยายขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งแพทย์จากโรงพยาบาลวังสามหมอ เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนชาววัง และ อสม. ก็หมั่นเข้ามาดูแลเยี่ยมเยียนยายบัวศรีอย่างสม่ำเสมอ
ผู้มีส่วนสำคัญอีกคนที่ช่วยดูแลยายบัวศรี คือประธาน อสม. ของหมู่บ้าน ชื่อ “ยายจันทร์” ยายจันทร์เคยทำรอกสำหรับออกกำลังกายให้พ่อของแก และเห็นว่าน่าจะทำให้ยายบัวศรีได้ใช้ จึงได้ปรึกษากับทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จนในที่สุด รอกสำหรับออกกำลังกายของยายบัวศรีก็เกิดขึ้นมา
ทุกวันนี้ แม้ยายบัวศรีจะยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เช่นปกติ แต่มีกำลังใจที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ส่วนเรื่องราวของยายบัวศรีทางศูนย์สุขภาพชุมชนชาววังได้ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลผลงานประกวดนวัตกรรมระดับจังหวัด ซึ่งนวัตกรรมที่ทางศูนย์ฯ ส่งประกวดไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นรอก แต่เป็นนวัตกรรมด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและชุดดูแลผู้พิการอย่างไร ในการทำให้คนพิการมีสภาพดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ทั้งเรื่องของของปู่ไพรและยายบัวศรี ต่างสะท้อนให้เห็นตรงกันถึงการใช้ภูมิปัญญาของครอบครัวและชุมชน ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ที่จะมาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
นอกจากนี้ บทเรียนสำคัญที่ได้จากทั้งสองเรื่อง คือ การที่จะฟื้นฟูคนพิการให้ดีขึ้นนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์สิ่งประดิษฐ์ที่จะมาช่วยฟื้นฟูคนพิการเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องมีประกอบ คือ การดูแล ห่วงใย ความเอื้ออาทร ของคนรอบข้าง ดังเช่นที่ตาทองสาดูแลยายบัวศรี ไม่ทอดทิ้งในยามมีทุกข์ หรือปู่ไพรที่เฝ้าห่วงใยและอยากเห็นหลานเติบโต ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคนในชุมชนที่วังสามหมอและที่ศรีบุญเรือง ก็เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนในการดูแลฟื้นฟูคนพิการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
สุดท้าย ขอฝากตัวอย่างอุปกรณ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นของปู่ไพร ที่ได้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ “ของเล่นจากปู่ไพร” โดยมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ที่ครอบครัวของคนพิการ ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและชุมชนสามารถทำได้ ขอเพียงมีสองมือและหนึ่งหัวใจมาร่วมกันเท่านั้นเอง
ที่มา: วารสารหมออนามัย ปีที่ 20 ฉบับที่ 2