“อุบัติเหตุ” ต้นตอความสูญเสีย “ทุกเทศกาล”
แนะมีสติก่อนสตาร์ททุกครั้ง
ใกล้ปีใหม่เข้ามาทุกที …ดูเหมือนว่าบรรยากาศแห่งความสุขกำลังกำลังฟุ้งกระจายไปทั่ว หลายๆ คนถึงกับไม่มีกะจิตกะใจที่จะทำงาน… เพราะอย่างที่รู้กันว่า “เทศกาลขึ้นปีใหม่” จะมีวันหยุดพักผ่อนยาวหลังจากการทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อยมาเกือบทั้งปี หลายครอบครัวกำลังเพลิดเพลินกับการเตรียมหาสถานที่เที่ยวฉลองปีใหม่ แต่!!! ภายใต้ความสุขที่กำลังจะมาเยือนนี้ ในมุมกลับกันสิ่งที่พบเจอในปีที่ผ่านมากลับมีแต่ข่าว “ความสูญเสีย” โดยสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจาก “อุบัติเหตุ” แทบทั้งสิ้น
โดยสถิติอุบัติเหตุทางถนนของ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่ผ่านมาพบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 52 รวมทั้งหมด 3,824 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 367 คน มีผู้บาดเจ็บ 4,107 คน ซึ่งในช่วงดังกล่าวนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ 2 เท่า ระหว่างปี 2550 – 2552 พบว่า ในช่วงปกติจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 280 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 35 คน ในขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่มีอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 607 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 58 คน ถึงแม้แนวโน้มตัวเลขจะลดลง แต่ก็ถือเป็นจำนวนที่สูงมากอยู่…
โดย “รถจักรยานยนต์” ยังคงครองแชมป์ยานพาหนะพาคนสู่ความตายมากที่สุด ถึงร้อยละ 84 โดยในปี 51 มีผู้ขับขี่จักรยานยนต์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งปี 8,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 เป็นนักเรียนนักศึกษา ซึ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงถึงตายสูงกว่าการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางถึง 750 เท่าและสูงกว่ารถไฟ 1,500 เท่าอีกด้วย รองลงมา คือ รถปิกอัพ ร้อยละ 7%
เรื่องซ้ำซาก!!! เมื่อต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ก็ยังคงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไหน ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ อย่างการ “เมาสุรา” ขณะขับรถ ถึงร้อยละ 41 ตามมาด้วย “การขับรถเร็ว” ร้อยละ 23…
ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุที่ว่านี้… ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นนอกทางหลวงแผ่นดิน ถึงร้อยละ 66.19 โดยเกิดบนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.13 และช่วงเวลาแห่งการสูญเสียสูงที่สุด คือ เวลากลางคืน ประมาณ 16.00 – 04.00 น. ถึงร้อยละ 67.42 โดยวันที่มักจะเกิดเหตุสูญเสีย ได้แก่ วันสิ้นปีอย่างวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งช่วงอายุของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง ช่วงวัยแรงงาน ประมาณร้อยละ 54.81
อุบัติเหตุ!!! ไม่ใช่เพียงการสูญเสียอวัยวะภายในร่างกายหรือชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงทรัพย์สิน เงินทอง ล่าสุด!!! ผลงานวิจัยของกระทรวงคมนาคมประมาณการว่า อุบัติเหตุทางถนนได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศสูงกว่า 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ซึ่งหากใช้เกณฑ์ที่ประเทศสากลยอมรับ ตัวเลขความเสียหายเรื่องนี้ไม่ควรจะเกินร้อยละ 1 ซึ่งประเทศเราเกินมาถึง 1.8…
เป็นที่น่าตกใจ…เมื่อพบว่าใน 1 วัน มีคนไทยที่ออกสตาร์ทรถแล้วเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนนสูงถึง 36 – 50 คน โดยสาเหตุอันดับต้นๆ คือ
ดื่มแล้วขับ
เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะ โดยทำให้ความสามารถในการตัดสินใจ ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง มองเห็นในเวลากลางคืนลดลง เกิดทันเนลวิชชั่น (Tunnel Vision) คือ การที่ช่วงกว้างในการมองเห็นถูกจำกัด ความสามารถในการบังคับการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์และร่างกายลดลง ความสนใจต่อเหตุการณ์เบื้องหน้าน้อยลง ซึ่งกฎหมายห้ามผู้เมาสุราขับรถ โดยกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
“ดื่มแล้วขับ ถูกจับขึ้นศาล มีสิทธิ์ติดคุก”
ผู้ที่ดื่มแล้วขับ และถูกตรวจพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหรือศาลอาจสั่งให้ถูกคุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม
ในส่วนที่ถูกคุมความประพฤติ จะต้องถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 เดือนและต้องทำงานบริการสังคม ต้องเข้ารับการอบรมในหลักสูตร “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ภายใต้การดูแลของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ
กรณีที่ดื่มแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และที่ร้ายแรงที่สุดคือ ดื่มแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
แบบนี้ คุณยังจะดื่มอีกมั้ย!!! หยุดเถอะครับ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง
ขับรถเร็ว
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนอกจากการดื่มสุราแล้ว ต้นเหตุอันดับต้นๆ ก็คงจะเป็นการขับรถเร็ว อาจมีสาเหตุมาจากดื่มสุรา ความคึกคะนองของวัยรุ่นด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อเปรียบเทียบอัตราความเร็วกับการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ ชม. แล้วเกิดการชนกันขึ้น แรงจากการชนเท่ากับรถที่ตกจากที่สูง 25 เมตร หรือ ประมาณตึก 8 ชั้น หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 100 กม./ ชม. เท่ากับรถที่ตกจากที่สูง 39 เมตร หรือ ประมาณตึก 13 ชั้น หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ ชม. เท่ากับรถที่ตกจากที่สูง 56 เมตร หรือ ประมาณตึก 19 ชั้น
ซึ่งความเร็วที่คนปกติใช้ขับขี่บนท้องถนน ก็อยู่ราวประมาณ 90 – 120 กม./ชม. หากเกิดการชนกันเหมือนตกตึก 19 ชั้น แล้วจะรอดได้อย่างไร ????
“ยิ่งเร็ว ยิ่งเสี่ยง”
ในทางกฎหมายได้กำหนดความเร็วของรถแต่ละประเภท ไว้ดังนี้
ประเภทของรถ
|
นอกเขตเทศบาล
|
ในเขตเทศบาล
|
รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถ+น้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กก. ขึ้นไป
รถโดยสาร
|
80 กม. / ชั่วโมง
|
60 กม. / ชั่วโมง
|
รถลากจูง
รถพ่วงรถยนต์บรรทุก
รถสามล้อ
|
60 กม. / ชั่วโมง
|
45 กม. / ชั่วโมง
|
รถยนต์เก๋ง
รถจักรยานยนต์
|
80 กม. / ชั่วโมง
|
60 กม. / ชั่วโมง
|
โทรแล้วขับ…!!!
การคุยโทรศัพท์ขณะขับรถก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จนต้องออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพราะขณะเราคุยโทรศัพท์นั้น สมาธิในการขับขี่รถของเรานั้นจะลดลง ร่วมถึงการจดจำป้ายจราจรก็ลดลงด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ
โทรแล้วขับ…ถูกจับแน่ !!!
ตามกฎหมายบังคับใช้ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ เว้นแต่ใช้อุปกรณ์เสริม หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท หากพบว่าใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ หรือขี่จักรยานยนต์จะถูกจับกุมทันที ส่วนจุดที่มีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพเป็นหลักฐานสามารถนำส่งพนักงานสอบสวน สน.ท้องที่ ออกหมายเรียกผู้ต้องหาถึงบ้านและนำตัวมาดำเนินคดีได้ในภายหลัง…
ง่วงแล้วขับ
“อาการง่วง” ต้นเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนหากคุณหลับเพียงเวลา 3 – 5 วินาที รถจะวิ่งโดยปราศจากการควบคุมไปกว่า 100 เมตร ซึ่งมีความเสี่ยงในการพุ่งชนประสานงากับรถคันอื่น คนข้างถนน หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอื่นๆ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจำแนกตามสาเหตุสำคัญของตำรวจทางหลวงพบว่า ปี 48 หลับใน 22 ราย, ปี 49 หลับในถึง 35 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มถึง 59 %
“วูบเดียว…โดนแน่”
ตามประมวลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่าผู้ขับขี่รถขณะร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถมีความผิดตาม ม.103 มีบทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บ.
เมื่อรู้ถึงสาเหตุทั้งหมดของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่บนท้องถนนกันแล้ว ก็ควรหาวิธีป้องกันเสียนะคะ ด้วยการเตรียมตัวให้พร้อม ตั้งสติก่อนสตาร์ท ดื่มไม่ขับ ขับไม่ซิ่ง ง่วงไม่ขับ โทรไม่ขับและที่สำคัญอย่าประมาทเป็นอันขาด เพียงแค่นี้เทศกาลแห่งความสุขก็จะไม่มีการสูญเสียอีกต่อไป…
เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ team content www.thaihealth.or.th
Update:25-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่