“อุดรโมเดล” พื้นที่ต้นแบบลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ปัญหาเยาวชนมีสาเหตุสำคัญจากสภาพแวดล้อมในครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสภาวการณ์สังคม เศรษฐกิจและการเมือง โดยมีเทคโนโลยีเป็นแรงเสริมให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านเยาวชนมีหลายหน่วยงาน แต่ส่วนใหญ่ทำงานแบบแยกส่วน ไม่เกิดความต่อเนื่อง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
แฟ้มภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญด้านสุขภาวะเยาวชน โดยสนับสนุนด้านพัฒนาโครงสร้างการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ เริ่มพื้นที่ตัวอย่างในจังหวัดอุดรธานีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ทำงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกลุ่มเยาวชนต่อเนื่องมา 3 ปี สามารถพัฒนารูปแบบการทำงาน ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาวะทางเพศของเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผลที่ยั่งยืน จำนวนการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงถึง 43%
โครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ อ.หนองแสง จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบรณรงค์ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และสร้างเสริมสุขภาวะเยาวชนที่ประสบผลสำเร็จอย่างดี จากต้นทุนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษารอบด้าน ร่วมกันทำงานกันทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ, สมาชิกชุมชน ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียน และกลุ่มเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ และได้จัดงานสรุปบทเรียนการดำเนินงาน 3 ปี
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สุขภาวะที่ดีของกลุ่มเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ การให้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องจะช่วยแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในกลุ่มเยาวชนได้ โดย สสส.สนับสนุนการทำงาน 21 จังหวัดเชื่อมโยงถึงอำเภอและตำบล สร้างกลไกขับเคลื่อนเรื่องเพศวิถีศึกษาใน 34 จังหวัดระยะยาว เพื่อให้เยาวชนในสถานศึกษามีความรู้เรื่องเพศศึกษา นำไปสู่การมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมและมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
สำหรับการดำเนินงานใน จ.อุดรธานี หรือเรียกว่า “อุดรโมเดล” เป็นการสื่อสารความรู้ ข้อมูลสุขภาวะทางเพศแก่สมาชิกในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สนับสนุนถุงยางอนามัย และใช้การสื่อสารเข้ามาช่วยทำงาน ส่งผลให้ประสบความสำเร็จใน 57 ตำบลของ 10 อำเภอ มี 5 ด้าน คือ 1.การจัดการเชิงยุทธศาสตร์ 2.เพศวิถีศึกษารอบด้าน 3.พื้นที่สร้างสรรค์ 4.บริการสุขภาพและสังคมที่เป็นมิตร 5.การระดมทรัพยากรและขยายผล โดยเน้นให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกระดับ
ทั้งนี้ ดำเนินงานด้วย 2 แนวคิดหลักคือ 1.ใช้ตำบลเป็นฐานการพัฒนา โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ ร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุข การศึกษาและเยาวชน 2.เรื่องเพศเป็นเรื่องของสังคม งานด้านสุขภาพเป็นเพียงสวนที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนทีมสาธารณสุขจากฝ่ายนำให้เป็นฝ่ายสนับสนุน
การทำงานที่มุ่งมั่นตั้งใจของทุกฝ่ายตลอด 3 ปี ทำให้พัฒนาเครือข่ายเป็นตำบลต้นแบบ และมีทีมงานระดับอำเภอช่วยสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้นำชุมชนและท้องถิ่น กลุ่มครูอาจารย์ ผู้ปกครอง เรียกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ใจดี ร่วมค้นหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาร่วมกับเยาวชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณ และช่องทางสื่อสาร เช่น แอปพลิเคชัน Line และ Facebook สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม เช่น การรู้จักใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิด, วางแผนและป้องกันการตั้งครรภ์
นายปราณี สายเนตร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแสงสว่าง กล่าวว่า มีประชากรกลุ่มเยาวชนที่ร่วมโครงการ เป็น 1 ใน 10 ตำบลต้นแบบของอุดรโมเดล นำโดยเทศบาลตำบลแสงสว่าง ซึ่งอนุมัติงบประมาณเป็นแผนของท้องถิ่น 3 ปี โดยระดมทรัพยากรจากภาคีต่างๆ มาทำงานได้อย่างดี ขยายผลไปยังตำบลอื่น ประกาศเป็นระบบการจัดการสุขภาพระดับอำเภอ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นส่วนสำคัญร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมผลักดันแก้ไข เช่น เกิดกลุ่มออนซอนแสงสว่าง อบรมหลักสูตรผู้ใหญ่ใจดี และเยาวชนในพื้นที่จำนวนมากได้มาร่วมโครงการ, มีการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษารอบด้านแบบบูรณาการ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเยาวชนในทางที่ดีขึ้น ผู้ปกครองมีการพูดคุย ให้คำปรึกษา เกิดความอบอุ่นในครอบครัว ปัญหาต่างๆ หมดไป
นางเพ็ญศิริ ศรีจันทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ และหัวหน้าโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ กล่าวถึงการดำเนินโครงการว่า เริ่มพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง จังหวัดอุดรธานีเป็น 1 ใน 2 แห่งที่ดำเนินการเรื่องแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทำงานร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งทุกภาคีเครือข่าย พิจารณาลักษณะแต่ละชุมชน นำต้นทุนที่ดีมีมาขับเคลื่อนให้เกิดผล
พญ.สืบศิริ บัณฑิตย์ภิรมย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองแสง จ.อุดรธานี กล่าวถึงสถานการณ์และแนวทางจัดการเรื่องสุขภาวะทางเพศของเยาวชนพื้นที่ว่า เป็นนโยบายสำคัญระดับจังหวัด โดยใช้หน่วยงานระดับอำเภอเป็นตัวเชื่อมโยงเครือข่ายสาธารณสุข โดยตระหนักความสำคัญของปัญหาและทำการแก้ไขมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ระหว่าง อปท., สถานศึกษาในชุมชน และหน่วยงานสาธารณสุขแต่ละแห่ง ผลคือเยาวชนเปลี่ยนทัศนคติ ให้ความสำคัญ ตื่นตัวกับปัญหา ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้มาก
นายแก้วกาลดา แพงแพน หรือมายด์มิ้นต์ ตัวแทนกลุ่มเยาวชนเครือข่ายฯ วัย 17 ปี ได้เข้าร่วมโครงการเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะอยากมีความรู้ที่ถูกต้องและวิธีป้องกันโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ ซึ่งได้ประโยชน์มากมายนำไปบอกต่อกับเพื่อนๆ น้องๆ ในชุมชนให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ ร่วมกิจกรรมภาคปฏิบัติ และนำความรู้ไปใช้ได้มากขึ้น เพราะเรื่องเพศศึกษาไม่ใช่สิ่งน่าอาย แต่จะเป็นการทำให้ปัญหาสุขภาวะทางเพศในกลุ่มเยาวชนลดลง
นางอรุณ จ้ายหนองบัว ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการ หรือตัวแทนกลุ่มผู้ใหญ่ใจดี กล่าวว่า เดิมมีปัญหาความไม่เข้าใจกัน เข้มงวดกับลูก แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการทำให้ปรับทัศนคติ ใช้วิธีเปิดใจ พูดคุย รับฟังปัญหาและเหตุของลูกอย่างเข้าใจ และช่วยกันหาทางออก ทำให้ครอบครัวมีความเข้าใจกันมากขึ้น
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการเกิดจากความสามัคคีและการดำเนินยุทธศาสตร์ที่เข้าใจ เข้าถึง ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา โดยเครือข่ายอุดรโมเดลได้ทำงานส่งเสริมกัน โดยขอให้เพิ่มขยายเครือข่ายให้กว้างมากขึ้น กำหนดเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบล ซึ่งกำหนดข้อบัญญัติให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่ง สสส.ยินดีให้การสนับสนุน และอยากให้ขยายประเด็นไปสู่การรณรงค์เรื่องอื่นต่อไป เช่น การละ ลด เลิกดื่มสุรา เพื่อสุขภาพที่ดี ลดอุบัติเหตุและความสูญเสีย เพราะสุราทำให้ผู้ดื่มมีความสามารถในการควบคุมตนเองลดลง
จากการลงพื้นที่สัมผัสการทำงานของเครือข่ายครั้งนี้พบว่า เกิดผลสำเร็จเกิดจากความเข้มแข็งของชุมชนที่เห็นความสำคัญของเยาวชนและร่วมมือกันอย่างจริงจัง มียุทธศาสตร์ที่เข้าใจ เข้าถึงปัญหา พัฒนาครอบคลุม อุดรโมเดลจึงถือเป็นความสำเร็จด้านสุขภาวะเยาวชนที่สามารถเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ได้
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ