อุดมการณ์โอลิมปิค กับ อุดมการณ์ทางการเมือง
สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ หรือการต่อสู้กันด้วยสันติวิธี
ขณะที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังดำเนินต่อไปตามโปรแกรมการแข่งขันที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง และชวนให้ติดตามยิ่งขึ้นเมื่อระบบการแข่งขันที่มุ่งคัดเอาผู้ที่มีความสามรถสูงกว่าเข้าไปในรอบต่อๆไป ขณะที่คัดผู้ที่ด้อยกว่าออก แต่ทุกคนที่มีโอกาสมาร่วมในกระบวนการแข่งขันครั้งนี้ต่างเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเก็บบันทึกความทรงจำนี้ไว้ตลอดไป แต่วันที่เหลือน้อยลงของเวทีโอลิมปิค 2008 นอกจากจะหมายถึงความเข้มข้นของการแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทที่เหลือแต่ยอดฝีมือแล้ว ยังหมายถึงการที่โลกยังจะต้องจับจ้องดูว่าการแข่งขันโอลิมปิคควาวนี้ยังจะเป็น “สัญลักษณ์ของการต่อสู้กันด้วยสันติวิธี” ระหว่างชนชาติต่างๆแทนการรุกรานเข่นฆ่ากันด้วยกำลังกองทัพและอาวุธ ตามที่ได้กำหนดเป็นอุดมการณ์อันสูงส่งเมื่อครั้งการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ณ ทุ่งราบโอลิมเปีย ในยุคกรีกโบราณได้อยู่อีกหรือไม่?
แม้สถานการณ์จนถึงปัจจุบันจะยังไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการใช้อาวุธ หรือกำลังจากกองทัพใดๆในกรุงปักกิ่ง แต่ก็ปรากฏข่าวการเปิดศึกสงครามในพื้นที่ภูมิภาคที่ไม่ได้ไกลจากประเทศจีน นั้นคือการเปิดฉากสงครามโดยประเทศรัสเซียใช้กองกำลังทางอากาศเข้าถล่มประเทศจอร์เจีย ซึ่งเป็นประเทศใหม่ที่แยกออกจากอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย โดยเลือกเอาช่วงเวลาเดียวกันกับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ที่ประเทศจีน ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008 ที่เจ้าภาพถือเป็นอุดมฤกษ์ของการเปิดมหกรรมกีฬาอันเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เหตุผลในการเปิดศึกสงครามของรัสเซียต่อประเทศจอร์เจียครั้งนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปจากสื่อมวลชน จึงไม่นำมากล่าวถึงอีกในที่นี้
แต่จะชี้เฉพาะประเด็นที่เชื่อมโยงเข้าสู่อุดมการณ์โอลิมปิค เพื่อชี้ให้เห็นว่ากาลเวลาที่ผ่านไปนับจากโอลิมปิคโบราณ มาจนถึงเมื่อมีการสถาปนากระบวนการโอลิมปิค ขึ้นมาใหม่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดย บารอน เดอร์ กูเบอร์แตง นั้น มีเหตุการณ์ต่างๆที่แสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์แห่งโอลิมปิคที่มุ่งหวังให้เป็น เวที “สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ”ตามที่ตั้งใจไว้ กำลังถูกท้าทายด้วยความแตกต่างแห่งอุดมการณ์ทางการเมือง ของชนชาติต่างๆด้วยการลงมือปฏิบัติการณ์ใช้อาวุธและกองกำลังทหาร มาโดยตลอด นับตั้งแต่เหตุการณ์ black september เมื่อผู้ก่อการร้ายมุสลิมบุกเข้ายิงนักกีฬาถึงหมู่บ้านนักกีฬา ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 1972 ณ กรุงมิวนิคซ์ สาธารณรัฐเยอรมันนี ต่อเนื่องไปจนถึงการบอยคอตของประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซียและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสยุโรปตะวันออก ที่ไม่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิค 1976 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อประท้วงในกรณีที่สหรัฐอเมริกาใช้กำลังกองทัพไปโจมตีคิวบา และอีกสี่ปีต่อมาสหรัฐอเมริกาก็ประท้วงกลับทันที โดยไม่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิค 1980 ที่จัดขึ้น ณ กรุงมอสโคว์ ประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซีย ปฏิบัติการณ์เหล่านี้ถือเป็น “ปฏิบัติการณ์เชิงสัญลักษณ์”เพื่อแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นกัน
ปรากฏการณ์ที่เป็นการนำเสนอความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาคมโลกผ่านมหกรรมกีฬาโอลิมปิค ดังที่ได้กล่าวมานั้น ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่คาดหมายได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นในทุกๆครั้งของมหกรรมการแข่งขันกีฬาอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์ชาตินี้ รวมทั้งความพยายามก่อการประท้วงของกลุ่มสิทธิมนุษย์ชนสากลต่อขบวนวิ่งคบเพลิงโอลิมปิคของจีน บนเส้นทางวิ่งผ่านประเทศต่างๆก่อนถึงวันเปิดการแข่งขั และการประท้วงของชนชาติธิเบต และ ชาวจีนมุสลิมในมณฑลซินเกียง ต่อประเทศจีนในกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน
ถ้าจะมองปรากฏการณ์ดังกล่าวในทิศทางที่ถือว่าเป็นการท้าทายอุดมการณ์โอลิมปิค ก็อาจเห็นเป็นเช่นนั้นได้ (แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีเครื่องมือทางสังคมใดๆที่จะนำมาใช้เพื่อห้ามไม่ให้เกิดปฏิบัติการณ์เช่นนั้นได้) ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามขึ้นด้วยว่าในยุคแห่งการแข่งขันโอลิมปิคโบราณ ณ ทุงราบโอลิมเปีย นั้นปลอดจากปฏิบัติการณ์สงครามระหว่างชนชาติที่เคยรบราฆ่าฟันกันจริงๆหรือไม่? หรือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในครั้งนั้นก็เป็นเพียงกิจกรรม “สัญลักษณ์” ที่ต้องการให้มวลมนุษย์ทุกหมู่เหล่าเผ่าพันธ์ได้เรียนรู้ว่ายังมีวิธีที่จะอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้อย่างผาสุกและสันติได้ นอกเหนือจากการใช้อำนาจที่เหนือกว่าของเผ่าพันธ์หนึ่งเข้าบุกรุกยึดพื้นที่และทรัพยากรของอีกเผ่าพันธ์หนึ่งที่อ่อนแอกว่า เท่านั้น ขณะที่ปฏิบัติการทางสงครามระหว่างชนชาติก็ยังดำรงอยู่
ถ้าเช่นนั้น การมองกีฬาโอลิมปิคในมิติ “สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ” ของกลุ่มชนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์โอลิมปิค ก็มิอาจปฏิเสธกลุ่มที่มองกีฬาโอลิมปิคว่าเป็นโอกาสในการแสดงออกถึงความแตกต่างทางการเมืองของกลุ่มชนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยการลงมือปฏิบัติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของพวกตนให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก เพื่อให้เป็น “สัญลักษณ์ห่งความขัดแย้ง”ได้เช่นเดียวกัน ถ้ามองเห็นปรากฏการณ์กีฬาโอลิมปิคในมุมกว้างได้เช่นนี้ ก็จะช่วยทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่า แท้ที่จริงกิจกรรมกีฬาทุกระดับ ไม่ใช่กิจกรรมสังคมที่จะต้องมีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ขาวสะอาดปราศจากการคุกคามของกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น แต่กิจกรรมกีฬาเป็นเพียงกิจกรรมที่พยายามจะถ่ายทอดอุดมการณ์ ความเชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไปยังสังคมผ่านสนามแข่งขันเท่านั้น ส่วนจะเป็นเช่นนั้นได้จริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์และพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะและบทบาทต่างๆในกระบวนการทางการกีฬาทั้งระบบ
ดาวน์โหลด วัฒนธรรมเรื่องไฟโอลิมปิกและการวิ่งคบเพลิง คลิกที่นี่
เสนอโดย : ดร.เกษม นครเขตต์
แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ ระบบข้อมูล และนโยบาย
แผนส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ สสส.
update 14-08-51